FundTalk – กลยุทธ์การลงทุนของกองทุนตราสารหนี้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น

แชร์บทความนี้

มีโอกาสสูงทีเดียวครับ ที่อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยในปี 2553 จะเป็นมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หากดูจากประมาณการเติบโตเศรษฐกิจของแบงค์ชาติที่คาดการณ์ GDP Growth ในปี 2553 ที่ 3.0 – 5.0% และประมาณการเงินเฟ้อ โดยดูจากดัชนีราคาผู้บริโภคที่ 3.5 – 5.5% คงจะเป็นไปได้ยากครับที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะคงที่อยู่ได้ที่ 1.25% เพราะการรักษาเสถียรภาพทางราคาจัดว่าเป็นเป้าหมายสำคัญลำดับแรก ๆ ของธนาคารกลาง ถ้าท่านผู้อ่านเห็นด้วยกับผมว่าดอกเบี้ยมีโอกาสสูงที่จะปรับตัวขึ้นในปีหน้า เราจะมาดูกันครับว่าการจัดพอร์ตของผู้จัดการกองทุนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นเค้าทำกันอย่างไร รวมไปถึงเกร็ดความรู้สำหรับท่านนักลงทุนรายย่อยในการลงทุนในพันธบัตร และหุ้นกู้ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นครับ

เปิดโอกาสในการลงทุนต่อ (Reinvestment)
ง่าย และสำคัญที่สุดสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น คือการลงทุนในตราสารที่อายุสั้น (ในการวิเคราะห์ตราสารหนี้มักจะดูที่ duration เป็นหลัก ศึกษาความหมายของดูเรชั่นได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Bond_duration ) เพราะการลงทุนอายุสั้นย่อมหมายถึงการเปิดโอกาสในการลงทุนต่อ (Reinvestment) เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นครับ กลับกันหากเรามีมุมมองว่าดอกเบี้ยจะปรับตัวลง เราก็ควรจะล็อคเงินยาว ๆ ให้ข้ามผ่านช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำไป เพราะหากเงินเราครบอายุในช่วงที่ดอกเบี้ยลงไปต่ำ ย่อมหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุนต่อที่ลดลง
ใช้อนุพันธ์ในการสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม
ราคาของตราสารหนี้จะปรับตัวผกผันกับทิศทางดอกเบี้ย ถ้าปีหน้าแนวโน้มเป็นดอกเบี้ยขาขึ้น ราคาตราสารหนี้ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้เอกชน ย่อมจะปรับตัวลดลง โดยยิ่งอายุยาวเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้รับผลกระทบมากเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในการบริหารจัดการกองทุนตราสารหนี้ ผู้จัดการกองทุนสามารถใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยง (Hedging) หรือสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Enhance Portfolio Return) โดยใช้อนุพันธ์ทางการเงิน ซึ่งอนุพันธ์ทางการเงินที่มีความแพร่หลาย และมีสภาพคล่องค่อนข้างสูงสำหรับตลาดเมืองไทยคือ Interest Rate Swap หรือ IRS ซึ่ง ในการทำธุรกรรม IRS สามารถทำได้ 2 แบบ คือ

1. Pay Fixed Rate / Receive Floating Rate – กำไรหากดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น (ตรงข้ามกับตราสารหนี้)
2. Receive Fixed Rate / Pay Floating Rate – กำไรหากดอกเบี้ยปรับตัวลดลง (ทิศทางเดียวกับตราสารหนี้)

interest-rate-swap รูป อัตราดอกเบี้ย IRS 5 ปี เปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล

การทำธุรกรรมประเภท IRS นั้นเป็นธุรกรรมที่ทำระหว่างกองทุนรวม กับธนาคารพาณิชย์ โดยต้องมีการกำหนดอายุคล้าย ๆ กับเวลาลงทุนตราสารหนี้ ซึ่งตลาด IRS ของประเทศไทยในปัจจุบันจะมีสภาพคล่องที่อายุการลงทุนไม่เกิน 10 ปี และจะมีสภาพคล่องสูงมากในช่วงอายุ 1 – 3 ปี ด้วยเครื่องมือ IRS นี้เองที่สามารถเอื้อโอกาสให้ผู้จัดการกองทุนสามารถใช้การ Pay Fixed / Receive Float IRS เพื่อลดความเสี่ยง หรือแม้กระทั้งสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มให้กับกองทุนในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นได้ ท่านผู้อ่านท่านใดที่สนใจเรื่องการคำนวณราคาของ IRS ในเชิงลึก ลองดูที่ URL นี้ครับ http://en.wikipedia.org/wiki/Interest_rate_swap

สำหรับนักลงทุนที่ชอบซื้อพันธบัตร, หุ้นกู้
เมื่อดูจากแผนการระดมเงินของภาครัฐในปี 2553 ซึ่งรัฐบาลต้องกู้เงินรวมทั้งสิ้นประมาณ 8 แสนล้านบาท ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว จึงเป็นไปได้สูงที่ภาคเอกชนจะมีการทยอยออกหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง ในความเห็นผมแนะนำให้นักลงทุนทยอยลงทุน เก็บสภาพคล่องเป็นกองทุนรวม Money market หรือเงินฝากไว้ส่วนหนึ่ง เพราะจะมีตราสารหนี้ทยอยออกจำหน่ายให้อย่างต่อเนื่อง หากอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นในปีหน้าเช่นที่คาดการณ์ ผลตอบแทนที่เสนอขายของพันธบัตรและหุ้นกู้ก็จะทยอยปรับเพิ่มขึ้นไปด้วยครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA.

บทความเรื่องตราสารหนี้อื่น ๆ สำหรับผู้สนใจ

Yield นั้นสำคัญไฉน

การเลือกซื้อหุ้นกู้อย่างมีหลักการ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top