Career Talk – อาชีพในสายงานลงทุน (Buy Side)

แชร์บทความนี้

สวัสดีครับ สัปดาห์ก่อนผมมีโอกาสได้บรรยายเกี่ยวกับเรื่องโอกาสทางอาชีพสายงานลงทุนให้กับนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ จึงอยากนำเนื้อหามาแชร์ให้กับท่านผู้อ่านครับ ผมขอจำแนกงานสายลงทุนออกเป็น 2 ประเภท คือฝั่งซื้อ (Buy Side) และฝั่งขาย (Sell Side) โดยวันนี้เราจะมาเล่าในส่วนของ Buy Side ครับ

ฝั่ง Buy Side หรือบางคนก็เรียก “ฝั่งลงทุน” ส่วนใหญ่จะเป็นงานในสถาบันการเงินที่มีพอร์ตการลงทุน เช่น บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน หรือหน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานประกันสังคม (สปส.), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในฝั่ง Buy Side มีสายงานให้ทำหลายสาย แต่ที่จะเล่าวันนี้คือ สายวิเคราะห์ (Analyst), สายบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และสายงานลงทุน (Investment)

 

สำหรับงานในสาย Analyst ไม่ว่าจะเป็นกองทุน หรือบริษัทประกัน ก็มักจะมีงานนักวิเคราะห์ (Analyst) ที่มีหน้าที่ทำการวิเคราะห์ความน่าสนใจลงทุนของหลักทรัพย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตราสารหนี้, ตราสารทุน, อนุพันธ์ ฯลฯ บางบริษัทก็จะมีการจ้างงานในตำแหน่งนักวางแผนกลยุทธ์การลงทุน (Strategist) ที่จะมีส่วนร่วมกับฝ่ายลงทุนในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมของตลาด นอกจากนี้ยังมีงาน นักเศรษฐศาสตร์ (Economist) ซึ่งจะมีหน้าที่ในการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ และประสานงานกับฝ่ายลงทุนในการกำหนดกลยุทธ์การลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจในอนาคต สำหรับลักษณะสำคัญของท่านที่สนใจงานในสาย Analyst คือเป็นคนที่มีความสามารถในการวิเคราะห์ ถนัดงานเขียน เพราะสิ่งสำคัญของงานอาชีพนี้คือ ความเข้าใจในโครงสร้างของเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และบริษัท และมีความสามารถที่จะคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

งานกลุ่มที่สองที่เราจะมาดูกันคือสาย Risk Management ในที่นี้ผมจะเล่าเฉพาะในส่วน Investment Risk เป็นหลัก ซึ่งได้แก่ Market Risk (ความเสี่ยงจากความผันผวนราคาตลาด), Credit Risk (ความเสี่ยงต่อการผิดนัดชำระหนี้), Liquidity Risk (ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง) เป็นต้น ในสิบปีที่ผ่านมางานในสายบริหารความเสี่ยงด้านการลงทุนเป็นที่ต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก โดย Risk Manager จะมีหน้าที่วิเคราะห์ความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ด้วยเครื่องมือซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการวิเคราะห์ทางปริมาณ (Quantitative Analysis หรือ Quant) เช่น Tracking Error, Value at Risk, Stress Testing เป็นต้น สำหรับลักษณะสำคัญของผู้ที่จะทำงาน Risk Manager ได้ดีคือต้องมีพื้นความรู้ทางด้านคณิตศาสตร์ และการทำ Financial Model ในปัจจุบันมีหลักสูตรการศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์เชิงปริมาณเกิดขึ้นมากมาย เช่น หลักสูตร Financial Engineering, Mathematical Finance เป็นต้น

งานกลุ่มสุดท้ายที่ผมจะมาเล่าในวันนี้คืองานสายลงทุน (Investment) หรืออาชีพผู้จัดการกองทุน “Fund Manager” นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นกองทุน หรือบริษัทประกัน ต่างก็จะมีการรับงานในตำแหน่งผู้จัดการกองทุน เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดและนโยบายที่กำหนด ถ้าเป็นกองทุน ก็จะมีทั้งกองทุนหุ้น, กองทุนตราสารหนี้, กองทุนผสม, กองทุนโภคภัณฑ์ หรือกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะต้องทำการจัดกลยุทธ์ในการวางพอร์ตเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ทั้งนี้การกำหนดกลยุทธ์ดังกล่าวก็จะได้รับการสนับสนุนทั้งการวิเคราะห์ด้านข้อมูลจาก Analyst, Economist, Strategist และมี Risk Manager มาช่วยดูแลเรื่องความเสี่ยงนั่นเอง ในส่วนของพอร์ตการลงทุนของบริษัทประกันจะมีการมองในมุมของ Asset Liability Management เข้ามาเสริมด้วยซึ่งจะมีตำแหน่งงานที่เรียกว่า Actuarial ที่ต้องมีความรู้เรื่องคณิตศาสตร์การประกันภัยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยครับ สำหรับท่านทีสนใจงานในสายการลงทุน ผมมีอีกบทความหนึ่งที่น่าสนใจ ชื่อ “ชีวิตของคนที่เรียกตัวเองว่า ผู้จัดการกองทุน” ซึ่งสามารถหาอ่านได้ที่ http://fundmanagertalk.com/career-talk-fund-manager-life/ สำหรับลักษณะสำคัญที่เหมาะกับผู้จัดการกองทุน ในความเห็นผมคือการมีความกล้าตัดสินใจ (decisive) มีพื้นฐานด้านการวิเคราะห์ที่แน่น (Body of Knowledge) และมีวินัยในการทำงาน (Discipline)

 

ชีวิตประจำวันของงานในฝั่ง Buy Side จะมีทั้งการใช้เวลากับการวิเคราะห์ วางพอร์ต, การออกไปพบปะผู้บริหารของบริษัทที่ลงทุน (Company Visit), การจัดทำบทวิเคราะห์เพื่อมองแนวโน้มเศรษฐกิจ, ตลาดหุ้น/ตราสารหนี้, และบริษัทจดทะเบียน รวมไปถึงการเข้าพบกับลูกค้าเพื่อเสนอผลการดำเนินงาน หรือเสนอ Solution การลงทุน สำหรับการเตรียมตัวเองเพื่อเข้าสู่สายงานด้านลงทุนนอกจากการเรียนจนจบปริญญาแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของการสอบ License ต่าง ๆ เช่น CFA, CISA, FRM, Fund Manager License ซึ่งต้องให้เวลาในการสอบมากพอสมควรทีเดียวครับ

คุณสามารถคุยกับเราในเรื่องอาชีพในสายงานการเงินได้ที่เวบบอร์ดเพื่อนักลงทุนไทย http://fundmanagertalk.com/forum/ โดยสามารถ Login ได้โดยใช้ Social Networking Account เช่น Facebook หรือ Twitter สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top