Career Talk – อาชีพในสายงานลงทุน ภาค II: Sell Side

แชร์บทความนี้

เจษฎา สุขทิศ, CFA

จากภาคแรกที่ผมได้เล่าถึงงานในสาย Buy Side ในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม, บริษัทประกัน, กบข, สปส อันได้แก่งานในสายวิเคราะห์, สายบริหารความเสี่ยง, และสายลงทุนไปแล้ว วันนี้เราจะมาคุยเกี่ยวกับงานทางสาย Sell Side กันบ้าง ขอออกตัวก่อนว่าผมทำงานสาย Buy Side มาตลอด โดยข้อมูลที่นำมาเล่าในวันนี้ได้มาจากการพูดคุยกับเพื่อนร่วมวงการหลาย ๆ ท่านครับ

งาน Sale

ขึ้นชื่อว่า Sell Side งานแรกที่ขอเล่าก็คืองานขาย งาน Sale ในสายงานลงทุน จำเป็นที่เราจะต้องเข้าใจในผลิตภัณฑ์การเงินที่มีความซับซ้อน ถ้าทำงาน Sale อยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์ (หรือ Broker) ก็ต้องมีความรู้ในเรื่องหุ้น และอนุพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการ Valuation ของหุ้น Future, Option การอ่านภาวะเศรษฐกิจ และภาวะตลาดเพื่อนำไปสู่คำแนะนำที่ดีให้กับลูกค้า สำหรับการเป็น Sale อยู่ในแผนก Treasury ของธนาคารพาณิชย์ ผลิตภัณฑ์หลัก ๆ ได้แก่ พันธบัตร, หุ้นกู้, อนุพันธ์ทางการเงินต่าง ๆ, FX, รวมไปถึง Structure Note ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้เรื่อง Fixed Income, Interest Rate Derivatives, FX Derivatives ฯลฯ นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญคือบุคลิก ที่ต้องเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ ที่ดี รวมถึงรู้จักสร้าง Connection เพราะการทำงาน Sale เป้าหมายวัดได้ชัดเจนคือ ยอดขาย และกำไรที่คุณได้ทำให้กับองค์กร ซึ่งแน่นอน ว่าย่อมสร้างความกดดันให้กับคุณไม่น้อย แต่หากคุณทำได้ดี และเกินเป้า บอกได้เลยว่าองค์กรจะให้ผลตอบแทนคุณอย่างมากทีเดียว (ดีกว่าฝั่ง Buy Side แยะ)

งาน Trader

จะว่าไปแล้วงาน Trader ก็จะคล้ายกันกับงาน Fund Manager ในระดับหนึ่ง สำหรับ Trader ที่ทำอยู่กับโบรคเกอร์ โดยมากจะเรียกว่า Proprietary Trader หรือ (Prop Trade) สิ่งที่ต่างจากงานผู้จัดการกองทุน คืองานผู้จัดการกองทุนมักจะวัดผลประกอบการเทียบกับดัชนีอ้างอิง เช่นกองทุนหุ้นก็เทียบกับ SET Index ส่วนงาน Prop Trader มักจะวัดผลงานเป็น Absolute Return  และมีจุด Cut loss เช่น บริษัทอาจให้เป้าคุณเป็นผลตอบแทน 12% ต่อปี และ Stop Loss ที่ 8% ยกตัวอย่าง หากคุณมีพอร์ตที่ต้องดูแล 100 ล้านบาท หากสิ้นปีพอร์ตคุณเกิน 112 ล้านบาทก็เรียกว่าเกินเป้า และหาก ณ จุดเวลาใด หากพอร์ตแตะ 92 ล้านบาท เท่ากับว่าคุณต้องปิดโต๊ะ และหยุด Trade ทันที เพราะขาดทุนถึงจุด Stop Loss แล้ว สำหรับงาน Trader ในธนาคารพาณิชย์ก็มักจะฝังตัวอยู่กับแผนก Treasury เช่นกัน แต่ผลิตภัณฑ์หลัก ๆ จะเป็น ตราสารหนี้ และ Derivatives เช่น Interest Rate Swap, FX Swap, รวมไปถึงการ trade เงินตราต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปีคุณก็มักจะได้ Budget (กำไร) มาเป็นเป้าหมายเช่นกัน โดยถ้าคุณทำการ draw เงินเพื่อนำมาลงทุนก็จะมีการคิดต้นทุนของเงินทุนที่คุณกู้มาด้วย สำหรับผลตอบแทนจากการ Trade หลัก ๆ แบ่งออกเป็น ผลตอบแทนจากการถือครอง Position ซึ่งเรียกว่า  “Carry” และกำไร (Capital Gain) งานในสาย Trader นี้คุณจะต้องมีความกล้าตัดสินใจสูง มีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์อย่างลึกซึ้งโดยเฉพาะการ Valuation และที่สำคัญคือต้องมีวินัย (Discipline) ในการทำงาน โดยเฉพาะการทำกำไร / ตัดขาดทุน เพราะหากคุณขาดวินัย และปล่อยให้อารมณ์เข้าครองงำ นั่นอาจจะหมายถึงความเสียหายอย่างมากต่อองค์กรที่คุณทำงาน

งาน Investment Banker (IB)

สำหรับงานสายสุดท้ายที่จะมาเล่าให้ฟังคืองานสายวาณิชธนกิจ ( Investment Bank – IB) ถ้าทำงาน IB ที่โบรคเกอร์งานหลัก ๆ คือการทำ deal ที่หลากหลาย เช่น การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering – IPO), การควบรวกิจการ (Merger & Acquisition), การปรับโครงสร้างหนี้ (Debt Restructuring) สำหรับงาน IB ที่ทำบนธนาคารก็ฝังตัวอยู่กับแผนก Treasury เช่นกัน บางทีจะตั้งชื่อแผนกว่า DCM (Debt-Capital Market) ซึ่งงานก็มีอย่างหลากหลายเช่นกัน เช่นการระดมทุนผ่านตราสารหนี้, Syndicated Loan เป็นต้น สำหรับงานในสาย IB เท่าที่คุยกับเพื่อน คุณสมบัตสำคัญคือความ “ถึก” และ “อึด” โดยเวลาทำ Deal หลาย ๆ ครั้งจะต้องมีการแข่งขันที่สูงมาก และต้องทำงานแข่งกับเวลา การทำงาน IB จะมีงานเอกสาร และงานกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแต่ละ Deal ที่ได้ทำจะทำให้คุณได้รับประสบการณ์ใน “เชิงลึก” กันอุตสาหกรรมนั้น ๆ และผลตอบแทนที่บริษัทที่คุยทำงานจะให้กับคุณ ก็จะคิดจากค่า Fee ที่แผนกคุณได้สร้างให้กับบริษัท คือมีการ Profit Sharing คล้าย ๆ กับงาน Sale เช่นเดียวกัน

ผู้เขียนหวังว่าทั้งสองบทความเรื่องโอกาสในสายงานด้านลงทุนทั้งด้าน Sell Side และ Buy Side จะช่วยเป็นข้อมูล หรือแนวทางประกอบให้กับท่านที่สนใจไม่มาก ก็น้อย โดย คุณสามารถคุยกับเราในเรื่องอาชีพในสายงานการเงินได้ที่เวบบอร์ดเพื่อนักลงทุนไทย http://fundmanagertalk.com/forum/career/ โดยสามารถ Login ได้โดยใช้ Social Networking Account เช่น Facebook หรือ Twitter สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top