EconomicTalk – คิดๆ เขียนๆ … ใครได้ใครเสียจากการคุ้มครองเงินฝาก

แชร์บทความนี้

11 สิงหาคม 2554 เป็นวันแรกที่พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551 (“กฎหมายคุ้มครองเงินฝาก”) กำหนดให้สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (Deposit Protection Agency หรือ “DPA”) ลดวงเงินการคุ้มครองเงินฝาก เหลือ 50 ล้า่นบาท/คน/สถาบันการเงิน จากเดิมที่คุ้มครองเต็มจำนวน จึงขอใช้โอกาสนี้ คิดๆ เขียนๆ เกี่ยวกับการคุ้มครองเงินฝากของไทย จากมุมมองของผู้เขียนในฐานะผู้บริหารสถาบันการเงิน


การคุ้มครองเงินฝากในประเทศไทย มีความเป็นมาอย่างไร?

ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจช่วงปี 2540 ประเทศไทยไม่มีการคุ้มครองเงินฝากแต่อย่างใด ผู้ฝากเงินพิจารณาความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินและระดับอัตราดอกเบี้ยที่ได้รับเป็นสำคัญ แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นในปี 2540 ซึ่งมีต้นตอจากปัญหาหนี้เสียในภาคอสังหาริมทรัพย์ ทำให้สถาบันการเงินมีฐานะอ่อนแอลงอย่างมาก จนผู้ฝากเงินขาดความมั่นใจในสถาบันการเงินที่ตนฝากเงินไว้ จึงพากันถอนเงินฝากออกมาเป็นจำนวนมากในเวลาไม่นาน (Bank Run) กล่าวกันว่าในยุคนั้น สถาบันการเงินที่ล้มไปหลายสิบแห่ง เหตุไม่ได้เกิดจากปัญหาหนี้เสียจนขาดทุนมโหฬารเพียงอย่างเ้ดียว แต่เกิดจากการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เนื่องจากผู้ฝากเงินขาดความเชื่อมั่น อีกด้วย

เพื่อบรรเทาความตื่นกลัวของผู้ฝากเงินและนำความเชื่อมั่นกลับมาสู่ระบบการเงินของไทยในช่วงวิกฤติ กองทุนเพื่อการพัฒนาและฟื้นฟูระบบสถาบันการเงิน (Financial Institutions Development Fund หรือ “FIDF”) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเดิมมีหน้าที่ในการช่วยเหลือทางการเงินแก่สถาบันการเงินที่ประสบปัญหา จึงต้องเข้ามามีบทบาทในการค้ำประกันและจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากเงินของสถาบันการเงิน ตั้งแต่บัดนั้น

ต่อมาในปี 2551 ภาครัฐเห็นว่า ควรจะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบการคุ้มครองเงินฝากของประชาชนเป็นการเฉพาะ จึงได้ตรากฎหมายคุ้มครองเงินฝากขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของ DPA และเป็นการสิ้นสุดหน้าที่การคุ้มครองเงินฝากของ FIDF ไปพร้อมกัน


DPA เอาเงินที่ไหนมาคุ้มครองเงินฝาก?

กฎหมายคุ้มครองเงินฝากในปัจจุบัน กำหนดให้สถาบันการเงิน “ที่เกี่ยวข้อง” (ธนาคารของรัฐที่มีกฎหมายจัดตั้งเฉพาะ เช่น ธอส.  ธกส. ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายนี้) ต้องนำส่งเงินเข้า DPA ในอัตราร้อยละ 0.2 ต่อ 6 เดือน (หรือร้อยละ 0.4 ต่อปี) ของจำนวนเงินฝากที่สถาับันการเงินมีอยู่ ซึ่งจะว่าไป ก็เหมือนเบี้ยประกันที่เอกชนต้องส่งให้รัฐ

โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2552 (อย่างเป็นทางการล่าสุดแล้ว) DPA มีสินทรัพย์ทั้งสิ้น 38,172 ล้านบาท และหากลองคำนวณมาจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 DPA น่าจะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 80,000 ล้านบาท (คำนวณจากยอดเงินฝากทั้งระบบสถาบันการเงินไทยซึ่งมีอยู่ประมาณ 7,000,000 ล้านบาท x 0.4% ต่อปี)

หากสถาบันการเงินใดล้มลง เงินจำนวนประมาณ 80,000 ล้านบาทนี้ (ซึ่งจะเิพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี) นี้ จะนำมาจ่ายคืนให้ผู้ฝากเงินของสถาบันการเงินนั้นๆ


แต่ละฝ่ายในระบบเศรษฐกิจ จะได้ประโยชน์จากการคุ้มครองเงินฝากอย่างไรบ้าง?

ผู้ฝากเงิน: มีความมั่นใจในการฝากเงินกับสถาบันการเงิน สบายใจว่าเมื่อสถาบันการเงินมีปัญหา ก็จะมีผู้เข้ามาชดใช้ความเสียหาย

สถาบันการเงิน: เมื่อผู้ฝากเงินมีความมั่นใจ สถาบันการเงินก็สามารถระดมทุนจากประชาชนเพื่อนำไปทำธุรกิจ (หลักๆ คือปล่อยสินเชื่อ) ได้สะดวกขึ้น และมีต้นทุนการกู้ยืม (ดอกเบี้ยเงินฝาก) ต่ำ

ภาครัฐ: เมื่อผู้ฝากเงินมีความมั่นใจ ต้นทุนการกู้ยืมของสถาบันการเงินอยู่ในระดับต่ำ เสถียรภาพในระบบการเงินโดยรวมมีสูง ความเสี่ยงที่ภาครัฐจะต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหาก็ลดลง (หลักๆ คือการนำเงินคงคลังอัดฉีดเข้ามาเสริมสภาพคล่องในระบบ รวมถึงการเพิ่มทุนธนาคารที่มีฐานะอ่อนแอ)


วงเงินคุ้มครองเงินฝากในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

  • ก่อนวันที่ 11 ส.ค.54: คุ้มครองไม่จำกัดจำนวนเงิน
  • วันที่ 11 ส.ค. 54 – 10 ส.ค. 55: คุ้มครอง 50 ล้านบาท/คน/สถาบันการเงิน (กระจายไปฝากได้หลายแห่ง)
  • วันที่ 11 ส.ค. 55 เป็นต้นไป: คุ้มครองลดลงเหลือ 1 ล้านบาท/คน/สถาบันการเงิน


จำนวน
ผู้ฝากเงินที่ได้รับผลกระทบจากการลดวงเงินคุ้มครอง มีมากน้อยแค่ไหน?

ณ 30 มิถุนายน 2554 ประเทศไทยมีบัญชีเงินฝากทั้งสิ้น 79,699,995 บัญชี มีเงินฝากรวมกัน 7,513,868 ล้านบาท เฉลี่ย 94,277 บาท/บัญชี

  • ผู้ที่มีเงินฝากเกิน 50 ล้านบาท (ได้ัรับผลกระทบตั้งแต่ 11 ส.ค.54) มีทั้งสิ้น 9,537 บัญชี คิดเป็น 0.01% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่มีเงินฝากรวมกันทั้งสิ้น 1,735,954 ล้านบาท หรือ 23.10% ของจำนวนเงินฝากทั้งหมด
  • ผู้ที่มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท (จะได้รับผลกระทบ ตังแต่ 11 ส.ค.55) มีทั้งสิ้น 969,786 บัญชี คิดเป็น 1.22% ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด แต่มีเงินฝากรวมกันทั้งสิ้น 5,249,918 ล้านบาท หรือ 69.87% ของจำนวนเงินฝากทั้งหมด

จะเห็นว่า จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบมีสัดส่วนเพียง 1% เท่านั้น (แต่เมื่อคิดเป็นจำนวนเงินกลับเป็นสัดส่วนสูงถึง 70%)


การที่วงเงินการคุ้มครองเงินฝากจะลดลงเรื่อยๆ จะส่งผลอย่างไร? กับใครบ้าง?

ผู้ฝากเงิน:

  • ต้องมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น เกี่ยวกับสถานะทางการเงินและความเสี่ยงของสถาบันการเงินที่ตนเองฝากเงินอยู่
  • เศรษฐีเงินฝาก ต้องรู้จักการกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (Asset Allocation) เนื่องจากไม่สามารถกองทรัพย์สินส่วนใหญ่ไว้ในบัญชีเงินฝากธนาคารได้อีกต่อไป ซึ่งก็จะมีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น การซื้อตั๋วแลกเงินของธนาคาร การลงทุนในกองทุนรวม หรือการซื้อประกันชีวิตแบบฝากเงิน

สถาบันการเงิน:

  • ต้องรักษาสถานะทางการเงินให้มั่นคงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาความเชื่อมั่นจากผู้ฝากเงิน
  • ลดภาระการจ่ายเงินนำ้เข้า DPA จากเดิมที่คำนวณจากยอดเงินฝากทั้งหมด จะลดลงเหลือเฉพาะส่วนที่อยู่ภายใต้วงเงินคุ้มครองเท่านั้น ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของสถาบันการเงินลดลง เท่ากับว่ากำไรจะสูงขึ้น

ธุรกิจกองทุนรวม:

เติบโตขึ้นต่อเนื่อง (วัดจากขนาดสินทรัพย์ภายใต้การจัดการของกองทุนรวมทุกแห่ง) เนื่องจากผู้ฝากเงินต้องกระจายสินทรัพย์ออกไปลงทุนให้หลากหลายขึ้น

โดยขนาดกองทุนรวมทั้งหมดในประเทศไทย ณ ปี 2548 มีเพียง 962,021 ล้านบาท แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 2,036,809 ล้านบาท ณ ก.ค. 2554 หรือเพิ่มขึ้นถึง 111% และหากวัดจากปี 2551 ถึง ก.ค.54 ก็เพิ่มขึ้นกว่า ห้าแสนล้านบาท หรือกว่า 33%

ภาครัฐ:

ความเสี่ยงที่ต้องรับผิดชอบการใช้คืนเงินฝากให้กับประชาชนลดลง สามารถจัดสรรเงินงบประมาณไปใช้พัฒนากิจการอื่นๆ ของประเทศได้มากขึ้น


ประเด็นที่ต้องจับตาต่ิิอไป

  • ปัจจุบัน DPA ยังเก็บเงินนำส่ง (เบี้ยประกัน) จากทุกสถาบันการเงินในอัตราเดียวกัน คือ 0.4% ต่อปี ในขณะที่ความเสี่ยง ซึ่งดูจากอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันเงินแต่ละแห่ง ไม่เท่ากัน ต่อไปจึงอาจเก็บในอัตราที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยง ซึ่งจะเป็นการบังคับกลายๆ ให้สถาบันการเงินต้องเร่งพัฒนาตัวเอง (เสี่ยงต่ำกว่า นำส่งเงินในอัตราต่ำกว่า ก็จะกำไรสูงกว่า)
  • สินทรัพย์ของ DPA มีเพียงประมาณ 80,000 ล้านบาท ขณะที่เงินฝากทั้งระบบมีสูงถึง 7,513,868 ล้านบาท หรือคุ้มครองได้เพียง 1.06% เท่านั้น หากสถาบันการเงินประสบปัญหาพร้อมๆ กัน อาจไม่สามารถชดเชยให้กับผู้ฝากเงินได้อย่างเพียงพอ (หากจำนวนเงินฝากคงที่ในระดับนี้ไปตลอด จะต้องใช้เวลาถึง 250 ปี กว่าที่ DPA จะมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นจนเท่ากับจำนวนเงินฝาก)

ซึ่งข้อความข้างต้นส่วนหนึ่งเป็นความเห็นของผู้เีขียน (ยกเว้นตัวเลขต่างๆ เป็นข้อเท็จจริง) หากท่านผู้อ่านมีความเห็นเพิ่มเติมหรือแตกต่างกันอย่างไร ชวนมาแลกเปลี่ยนกันได้เลยครับ 🙂

SJ

————–

อ้างอิง:

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ (SJ, Keng) ปัจจุบันทำงานด้านการลงทุนอยู่ที่บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) (Bangkok First Investment & Trust Public Company Limited หรือ "BFIT") ในตำแหน่ง Head of Investment Advisory Department ดูแลงานระดมทุนของบริษัท ควบกับตำแหน่ง Investment Committee ดูแลเงินลงทุนในหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ และบริหารสภาพคล่องของธุรกิจผ่านธุรกรรมในตลาดเงิน ในด้านคุณวุฒิ สอบผ่านหลักสูตร Certified Investment & Securities Analyst Level 2 (CISA II) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ และผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน รวมถึงได้รับอนุญาตจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ให้เป็นผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน SJ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท (MBA, Finance) จาก The University of Western Australia และเคยทำงานวิเคราะห์สินเชื่อลูกค้าเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
Posts created 24

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top