EconomicTalk – ย้อนรอย ประวัติโดยย่อ Subprime Crisis

แชร์บทความนี้

       ใครเพิ่งเข้ามาในตลาดปี 2009 จนถึงตอนนี้ อาจนึกภาพตลาดขาลงไม่ออก ส่วนใครอยู่ในเกิน 15 ปี โดนไป 2 ครั้ง ก็เข็ดไปหลายคนนะครับ อยากรู้เรื่อง Subprime Crisis กันไหม?

วิกฤต Subprime เกิดจากอะไร?

เกิดจาก อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าภูมิภาคอื่นของสหรัฐ และสภาพคล่องในระบบที่สูง กองทุนต่างๆ รวมทั้งธนาคารที่มีสภาพคล่องเยอะ ก็พยายามปล่อยกู้ ซึ่งก็อนุมัติกันได้ง่ายๆเป็นเวลาหลายปีทีเดียวก่อนเกิดวิกฤตดังกล่าว คำว่า Subprime Loan ก็คือ เงินกู้ชนิดหนึ่งที่ปล่อยให้กับผู้อยู่อาศัย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน คราวนี้ ลองนึกภาพนะครับ อัตรากรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยทั่วทั้งอเมริกาเพิ่มขึ้นจาก 64% ในปี 94 มาเป็น 69% ปี 2007 แบบไม่เคยชะลอตัวเลย คนอเมริกัน ไม่มีใครนึกออกว่า ราคาบ้านมันจะลงได้ยังไง เพราะ 10 กว่าปี ขึ้นมาตลอด เห็นงี้ก็ได้ใจสิ ซื้อบ้านหลังที่สอง หลังที่สาม หวังเป็น Investment Asset และเก็งกำไร และราคาบ้านก็ถีบตัวสูงขึ้นจริงดังหวัง แต่สิ่งที่ตามมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาบ้านก็คือ รายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้นของคนอเมริกันเองด้วยนะครับ พวกหัวใสก็ใช้ประโยชน์จากราคาบ้านที่เพิ่มขึ้นในช่วงฟองสบู่ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงกับสถาบันการเงินแห่งใหม่ และเนื่องจากการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินก็สูง ก็เลยมีการกู้สินเชื่อเพิ่มจากการจำนองบ้านเดิมในส่วนที่ราคาสูงขึ้น แต่ เพื่อใช้บริโภค”

        สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อัตราหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ของคนในสหรัฐเพิ่มขึ้น 130% ในปี 2007 (หาเงินเข้าบ้านได้น้อยกว่าหนี้ที่ก่อไป) ในที่สุดก็ถึงจุดหนึ่งครับ การสร้างบ้านมีมากเกินไปในช่วงตลาดอสังหาฯขยายตัว ความต้องการซื้อชะลอเอาดื้อๆ ราคาบ้านเริ่มลดลง … แต่คนอเมริกันยังไม่เชื่อ ประกอบกับสถาบันการเงินก็ต้องบริหารสภาพคล่องที่ล้นธนาคารของตัวเอง จึงเริ่มปล่อยสินเชื่อเคหะได้ง่ายขึ้น จนถึงขั้น ไม่ต้องมีหลักประกันก็เอา แต่เนื่องจากผู้กู้เสี่ยง เพราะไม่มีหลักประกันถูกไหมครับ? Subprime Loan จึงเป็นดอกเบี้ยลอยตัว เพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการไม่มีหลักประกัน พอถึงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ก็ซวยหนักสิ ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม ผู้กู้เริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว หลังพ้นจากช่วงเงื่อนไขจูงใจอันสวยหรูในตอนต้น การปรับโครงสร้างเงินกู้เริ่มยากขึ้น เพราะราคาบ้านลดลง แผนการอันชั่วร้ายก็เกิดขึ้นทันที ไหนๆก็ไม่มีหลักประกันตั้งแต่ตอนกู้ ถูกม่ะ? ก็เบี้ยวหนี้ไปเลย ซึ่งทำให้จำนวนเงินที่ต้องจ่ายคืนเพิ่มตามไปด้วย นึกถึงพลังอำนาจของดอกเบี้ยทบต้นกันออกใช่มั้ยครับ ปล่อยหนี้บานไปเรื่อยๆ สุดท้ายดอกเบี้ยสูงกว่าเงินต้นเสียอีก าของบ้านกว่า 9 ล้านคน ทั่วอเมริกา มีหนี้พอๆ หรือสูกว่า Asset ที่ตัวเองมี งั้นเอาไงดี? ก็เกิดแรงจูงใจที่จะทิ้งบ้านไปเลยนะสิ เศร้าเนอะ

       แต่อย่าเพิ่งเศร้าครับ เพราะการทิ้งบ้านของพวกเขา ไม่กระทบกับชีวิต เพราะมันเป็นบ้านหลังที่ สอง สาม สี่ ที่คิดจะเอาไว้ลงทุน การเก็งกำไรในบ้านของอเมริกาสูงมากครับ ลองดูตัวเลขนี้ … ในปี 94 ตัวเลข Subprime Loan ต่อหนี้ทั้งระบบอยู่ที่ 5% แต่ในปี 1999 (ผ่านไป 5 ปี) ตัวเลขกลับโดดขึ้นไปสูงถึง 20% (หรือราวๆ $600Billion)

เล่ามาจนถึงตรงนี้ อาจยังมองกันไม่ออก แล้วทำไมมันทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกกลายเป็น Bear Market??

       หลังจากปัญหาราคาบ้านลดลง และเริ่มเกิด NPL ในระบบมากขึ้น นลท. เริ่มรับรู้กันพอสมควร ก็พากันถอนเงินออกจากพันธบัตรที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อที่มีความเสี่ยงลักษณะนี้ แต่ขายแล้วเอาไปทำอะไรดีอ่ะ เพราะตราสารหนี้แบบ Subprime นั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันบัตรรัฐบาลทั่วไปค่อนข้างมาก คำตอบคือ ก็เอาไปลงทุนใน Asset Class อื่น ซึ่งหวยก็มาตกที่ Commodity หรือ สินค้าโภคภัณฑ์ นั้นเอง Commodity ตอนนั้น ขึ้นแรงกว่าช่วงนี้เยอะครับ กลายเป็น ปัญหาวิกฤตราคาอาหารโลกและภาวะน้ำมันแพง (โคตะระ) แต่ตลาดหุ้นทั่วโลกเข้าสู้ Bear Market จริงๆจังๆก็หลักจากนั้นอีกครับ ในเดือน ก.ย. ปี 2008 Lehman Brothers ประกาศล้มละลาย สาเหตุหลักก็มาจากการขาดทุนในสินเชื่อ Subprime ซึ่งลงทุนแบบอนุพันธ์ที่ใช้ชื่อว่า CDO แถม Merrill Lynch ยังโดน Fed บังคับให้รวมกับ Bank of America ด้วยมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลล่าร์ เพื่อความอยู่รอด แล้วก็ดูเหมือนจะไม่หยุดแค่ Lehman Brothers เพราะ AIG ก็ส่อแววจะไปเช่นกัน ทำให้ราคาหุ้นตกลงไปกว่า 60% รอดมาได้ก็ด้วยเดชะบุญ เพราะ Fed เข้าไปอุ้ม ครับ (ตรงนี้ก็เป็นคำถามว่า ทำไมกรณี Lehman Brothers Fed ถึงไม่อุ้ม?)

       ในปี 2008 ธนาคารและสถาบันทางการเงินที่สำคัญๆทั่วโลกรายงานขาดทุนที่สูงกว่า 4 แสนล้านดอลลาร์ ขาดทุนหนักขนาดนี้ นักวิเคราะห์ก็ไม่พลาดครับ ปรับเป้า ราคาหุ้นลงกันถ้วนหน้า ตลาดลงไปแล้ว ก็ยิ่งแย่ไปอีก เหอๆ แล้วปัญหามันจบยังไง … ยังไม่จบครับ แต่ Fed ก็ให้ยาแรงกับระบบเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเงินเข้าไป >> มันคือ QE นั้นเอง QE ทำให้สภาพคล่องของธนาคารที่ตึงตัว ไม่กล้าปล่อยกู้กันเองในขณะนั้น สามารถกู้และบริหารสภาพคล่องได้อีกครั้ง ความมั่นใจก็เริ่มกลับมา แต่ผ่านไป 2 ปี Unemployment Rate ของอเมริกาก็ยังสูงอยู่ ราคาบ้านก็ไม่มีแนวโน้มจะโงหัวขึ้น เดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ก็เลยมี QE ภาคสอง หนังเรื่อนนี้ยังไม่จบนะครับ เราต้องดูกันยาวๆหน่อย J

เหตุของ วิกฤต คราวนั้น เกิดจากสิ่งที่เล่าไปครับ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับไทยมาก ในเชิงโครงสร้าง แต่เราก็โดน Sentiment และความ Panic มันเล่นงาน ทำให้จากดัชนีที่ 924 จุด ดิ่งลงมา 380 จุด ภายในปีเดียว

Subprime Crisis สอนอะไรเรา?

       เอาเป็นกลยุทธ์ และมุมมองด้านการลงทุนนะครับ ผมไม่ไปโทษหรอกว่าใครผิด หรือต้องแก้ระบบยังไง มันเกินปัญญาผมไปไกลแล้ว Subprime Crisis สอนเราว่า การมองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าในระยะยาว หุ้นจะยังขึ้นไปเรื่อยๆ นั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่ ตลาดหุ้นนั้น มีปัจจัยมากกว่าแค่พื้นฐานของบริษัทๆหนึ่งให้พิจารณาครับ เราต้องให้น้ำหนักถูกว่า เวลาใด ควรให้ความสำคัญกับปัจจัยไหน โลกเขาขายหุ้นทิ้งกันทุกที่ เรามัวแต่บอกว่าปัจจัยพื้นฐานดีๆๆๆๆๆ ถือๆๆๆๆๆๆ สุดท้าย ดันเริ่มกลัวตอนตลาดมันตกไป 50% แล้ว เลยขายทิ้งตามคนอื่น มันลงต่อได้อีกไม่นาน ก็เด้งขึ้นแพงกว่าราคาที่เราขาย เราก็ยังไม่เชื่อว่ามันจะไปได้ เพราะเพิ่งขายไปเมื่อวาน บทสรุปคือ ออกจากตลาด ไปเล่าประสบการณ์นี้กับเพื่อนๆต่อๆกันไปว่า หุ้นมันเล่นยาก ดวงไม่ดี โทษ Subprime โทษ Bush โทษ Fed โทษไปเรื่อย แต่ไม่โทษตัวเอง ไม่เคยถามว่า ทำไมถึงมีคนรอดอยู่ในตลาด มัวแต่คิดว่า คนที่ยังเล่นอยู่ เด๋วก็จะกลายเป็นเหยื่อแบบตัวเอง

       หรือ อีกบทสรุปหนึ่งครับ ถ้าคุณเป็นพวกมองโลกในแง่ดี ใจแข็งสุดๆ เงินเย็นเป็นน้ำ Subprime ก็บอกกับเราว่า ไม่ว่าตลาดหุ้นมันจะลงไปลึกแค่ไหน สุดท้าย มันต้องกลับมายืนในจุดที่มันควรอยู่ ถ้าปัจจัยพื้นฐานมันดีพอ แต่ บทสรุป แบบที่ 2 เนี่ย ผมไม่เอาด้วยนะ เพราะ ใจไม่แข็ง เงินไม่ได้เย็นเป็นน้ำ ต้องกินต้องใช้ และผมไม่ได้มองโลกในแง่ดีทุก มองโลกในแง่ดีจะมีสุข มองโลกตามความเป็นจริงจึงจะพ้นทุกข์เรื่อง  ขึ้นอยู่กับเราครับ ว่ามองยังไง

จบข่าว @MrMessenger รายงาน

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ชยนนท์ รักกาญจนันท์ รู้จักกันในนามแฝงในเว็บบอร์ดพันทิพย์ ห้องสินธร ว่า “Mr.Messenger” ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนทั้งในหุ้น และกองทุนรวมมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็น Strategy and Portfolio Performance Section Head ของฝ่ายธนบดี ธนาคารกรุงศรี
Posts created 16

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top