EconomicTalk – Classic Case Study: Dubai World

แชร์บทความนี้

เจษฎา สุขทิศ, CFA

ตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการรายวัน 3 ธันวาคม 52

สัปดาห์ที่ผ่านมามีกรณีที่ผมมองว่าเป็น Classic Case ครั้งหนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกการเงิน นั่นคือกรณีที่ Dubai World ซึ่งเป็นบริษัทที่รัฐดูไบเป็นเจ้าของ ได้ออกมาประกาศแสดงเจตจำนงที่จะขอยืดหนี้ระยะสั้นออกไปอย่างน้อย 6 เดือน วันนี้ผมจะขอวิเคราะห์กรณีนี้จากมุมมองของผม โดยท่านใดอยากจะร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองสามารถคุยกันได้ที่ http://facebook.com/FundManagerTalk ครับ

Ability to Pay Vs Willingness to Pay

หากดูในมุมผู้ถือหุ้นของ Dubai World คือรัฐดูไบ ซึ่งเป็นรัฐหนึ่งของประเทศ United Arab Emirates (UAE) ผมมองว่าผู้ถือหุ้นมีความสามารถในการชำระหนี้อย่างไม่มีปัญหา เมื่อเปรียบเทียบหนี้ทั้งหมดของ Dubai World 59 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ กับขนาดของกองทุน Sovereign Wealth ของ UAE ที่มีขนาดกว่า 5 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงรายได้จากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอีกกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี

กรณี Dubai World จึงต่างจากกรณีผิดนัดชำระหนี้โดยทั่วไปที่เจ้าของบริษัทไม่มีกำลังพอที่จะชำระหนี้ หากแต่เป็นกรณีที่เจ้าของบริษัทไม่ต้องการที่จะชำระหนี้ ซึ่งเหตุผลที่ทางการประเทศ UAE และรัฐดูไบ ให้ไว้ คือ เจ้าหนี้ที่ปล่อยกู้ให้กับ Dubai World ต้องเข้าใจว่า Dubai World ไม่ได้ถูกค้ำประกันหนี้โดยรัฐบาล โดยรัฐบาลเป็นเพียงผู้ถือหุ้น จึงต้องมีความรู้ความเข้าใจในบริษัทที่ได้ปล่อยกู้ไป รวมถึงรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น

กรณีนี้ผมมองว่าเป็น Classic case สำหรับการวิเคราะห์การลงทุนในตราสารหนี้ เพราะบ่อยครั้งที่นักลงทุนปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยคิดเสมอว่าบริษัทนั้นจะไม่มีทางเป็นอะไร และรัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือเสมอในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งกรณี Dubai World ที่เกิดขึ้นนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าไม่จริง ดังนั้นเราจึงควรหันมาสนใจพื้นฐานของตัวบริษัทให้มากขึ้น และให้ความสำคัญกับผู้ถือหุ้นให้น้อยลง หลาย ๆ คนคงรู้สึกว่าไม่ยุติธรรมที่รัฐบาลจะปล่อยให้บริษัทที่ถือหุ้นผิดนัดชำระหนี้ แต่เราคงต้องยอมรับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นนั้นแล้วล่ะครับ เพราะมันก็เป็นอย่างนี้เอง จริง ๆ

Moral Hazard Vs Credit Cost

Moral Hazard สรุปง่าย ๆ คือภาวะเหลิง หรือภาวะที่นึกว่ามีคน back up ตัวเราเองอยู่เสมอ เช่น ผู้ฝากเงินเชื่ออยู่เสมอว่าฝากธนาคารแล้วธนาคารไม่มีวันเจ๊ง หรือสถาบันการเงินทำการลงทุนเกินตัวเพราะคิดว่าอย่างไรธนาคารกลางก็จะเข้ามาอุ้มไม่ปล่อยให้ล้มละลาย

ภาวะ Moral Hazard นี่เองที่ทางการมักจะพยายามป้องกันไม่ให้เกิด ยกตัวอย่างเช่นกรณีการล้มละลายของ Lehman Brothers ที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ ตัดสินใจไม่เข้าช่วยเหลือเนื่องจากเป็นการลงทุนเกินตัว และเป็นการบริหารงานที่ผิดพลาด กรณี Dubai World ก็เช่นกันที่ผมมองว่าการที่รัฐบาลของ UAE ไม่เข้าช่วยเหลือเพราะมองว่าเกิดจากการบริหารงานที่ผิดพลาด และไม่อยากให้ Dubai World เหลิงตัวเองว่าถึงแม้จะผิดพลาดอย่างไรรัฐบาลก็จะช่วยเหลืออยู่ดี

อย่างไรก็ตามการตัดสินใจไม่ช่วยเหลือ Dubai World นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะกรณีนี้ต่างกับกรณี Lehman ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่กรณี Dubai World มีรัฐดูไบเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ชัดเจน การไม่เข้าช่วยเหลือ Dubai World ในครั้งนี้ แม้รัฐดูไบจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการผิดนัดชำระหนี้ของ Dubai World เพราะไม่ได้มีข้อสัญญาผูกพันไว้ แต่การไม่ช่วยบริษัทที่ตัวเองถือหุ้น จะนำไปสู่ต้นทุนของการกู้ (Credit Cost) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากแน่นอน อีกไม่นานก็จะรู้กันล่ะครับว่าระหว่างปัญหา Moral Hazard กับปัญหา Credit Cost นั้น รัฐบาลประเทศ UAE จะเลือกเจอปัญหาไหน ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายอย่างแน่นอน ผมจึงมองว่ากรณีนี้เป็น Classic case ที่เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top