EconomicTalk – สภาพคล่องเงินดอลลาร์กับความบิดเบือนของโครงสร้างดอกเบี้ยในประเทศ [ตอนที่ 2 จบ]

แชร์บทความนี้

ประเด็นในวันนี้ค่อนข้างยากนะครับ ผมจะเล่าให้ฟังถึงโครงสร้างของดอกเบี้ยภายในประเทศ ว่ามีความสัมพันธ์กับสภาพคล่องของเงินดอลลาร์อย่างไร ผู้อ่านจำเป็นต้องมีพื้นฐานจาก ตอนที่ 1 [หาอ่านได้ที่ http://fundmanagertalk.com ]
FX Forward, THBFIX, CCS, IRS และ Yield

ทั้ง FX Forward, THBFIX, CCS, IRS และ Bond Yield ต่างมีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งครับ โดย USD/THB CCS หรือ [Cross Currency Swap] คือการตกลงกันระหว่าง 2 Party ในการแลก Cash Flow ที่เป็นสกุลดอลลาร์ กับ Cash Flow ที่เป็นสกุลบาท โดยฝ่ายที่กู้ Cash Flow เป็นสกุลดอลลาร์จะจ่ายดอกเบี้ยลอยตัว LIBOR [London Interbank Offer Rate] ขณะที่ฝ่ายที่กู้ Cash Flow เป็นสกุลบาทจะจ่ายดอกเบี้ยเป็นดอกเบี้ยคงที่

สำหรับ IRS นั้นจะเป็นเรื่องดอกเบี้ยของเงินสกุลเดียว ซึ่งในที่นี้คือสกุลบาท โดยคือการตกลงระหว่าง 2 Party ในการแลกดอกเบี้ยคงที่เป็นสกุลบาท กับดอกเบี้ยลอยตัวซึ่งอิงกับ THBFIX อายุ 6 เดือน ช่วงใดที่นักลงทุนคาดว่าดอกเบี้ยจะเป็นขาขึ้นสามารถทำสัญญา Pay Fixed / Receive Float IRS เพื่อปรับลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุนได้ เช่นเดียวกันหากเราคาดว่าดอกเบี้ยจะเป็นขาลงก็สามารถทำสัญญา Receive Fixed / Pay Float เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุนได้เช่นกัน [อ่านรายละเอียดได้จากบทความเรื่อง “การบริหารพอร์ตการลงทุนตราสารหนี้ในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นโดยใช้ Interest Rate Swap” ที่ http://portal.settrade.com/blog/jessada/

ดอกเบี้ย IRS กับ Yield ของพันธบัตรรัฐบาลเองก็มีความสัมพันธ์กันมากครับ โดยจะมีแนวโน้มปรับตัวไปในทิศทางเดียวกัน เพราะเป็นดอกเบี้ยสกุลบาทเหมือนกัน และมีช่องทางในการแสวงหากำไร [Arbitrage Opportunity] ระหว่างดอกเบี้ยของทั้ง 2 Curve หากมีความแตกต่างกันมาก ๆ ซึ่งภาษา Trader เขาเรียก Bond Swap Spread Trade ซึ่งผมจะไม่ลงรายละเอียด ณ ที่นี้ครับ

สภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในประเทศกับความบิดเบือนของโครงสร้างดอกเบี้ยของประเทศไทย
ประเด็นสำคัญที่นำมาสู่ความเชื่อมโยงระหว่างสภาพคล่องเงินดอลลาร์ กับดอกเบี้ยไทย [ในที่นี้หมายถึง Bond Yield หรือ อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล หาอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “Yield นั้นสำคัญไฉน” ที่ http://fundmanagertalk.com/investment-talk-yield/ ] คือการที่ดอกเบี้ยขาลอยตัว [Floating Leg] ของธุรกรรม IRS นั้นจะจ่ายโดยอิงกับ THBFIX ขณะที่ THBFIX เองก็จะอ่อนไหวไปตามสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในประเทศ เช่น จากตัวอย่างในตอนที่ 1 หากผู้ส่งออกทำสัญญา “Sell USD/THB Forward” มาก ๆ หรือมีการออกกองทุนรวมแบบปิดความเสี่ยงค่าเงิน USD/THB มาก ๆ ก็จะทำให้สภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในประเทศลดลง พร้อมไปกับ THBFIX ที่ปรับตัวลดลง

เมื่อ THBFIX ปรับตัวลดลง ก็ส่งผลต่อไปที่ดอกเบี้ย IRS ปรับตัวลดลง และกระทบต่อเป็น Domino ไปสู่ดอกเบี้ย Bond Yield อีกทอดหนึ่ง นั่นเท่ากับว่าความต้องการกู้ยืมเงินดอลลาร์ในประเทศที่มากขึ้นเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ดอกเบี้ยในประเทศต่ำลงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งประเด็นนี้ทางแบงค์ชาติได้เล็งเห็นปัญหา โดยพยายามผลักดันดอกเบี้ย BIBOR [Bangkok Interbank Offer Rate] เพื่อใช้เป็น Reference Rate สำหรับธุรกรรม IRS และธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างธนาคาร [Interbank] เพื่อป้องกันปัญหาข้างต้น

การที่ดอกเบี้ยในประเทศถูกบิดเบือนอันเนื่องมาจากความต้องการกู้ยืมเงินดอลลาร์ มีผลเสียหลายประการ โดยทำให้ต้นทุนทางการเงินของผู้กู้ และผลตอบแทนการลงทุนของผู้ออมไม่เป็นไปตามวัฏจักรดอกเบี้ย กล่าวคือการทำให้ประสิทธิภาพของนโยบายการเงินลดลงเพราะ Bond Yield ไม่ปรับตัวตามดอกเบี้ยนโยบายนั่นเอง

การเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนั้นมีนัยสำคัญต่อราคาสินทรัพย์ และผลตอบแทนการลงทุนของพอร์ตการลงทุนในหลายแง่มุม ตั้งแต่ผลกระทบโดยตรงต่อราคาตราสารหนี้, ผลกระทบโดยอ้อมในแง่ของการ Valuation ตราสารทุน รวมไปถึงมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การทำ Valuation อนุพันธ์หลาย ๆ ชนิดต่างก็มีส่วนผสมของดอกเบี้ยอยู่ด้วย ดังนั้น แม้หัวข้อวันนี้จะยากไปซักนิด ผมคิดว่าคุ้มค่าที่เราจะทำความเข้าใจไว้บ้าง เพื่อประกอบเป็นองค์ความรู้สำหรับการลงทุนของท่านครับ อย่างที่ผมมักจะเขียนตอนท้ายบทความอยู่เสมอว่า “ในโลกของการลงทุน ยิ่งรู้มากกว่า ก็ยิ่งได้เปรียบ” สำหรับวันนี้ สวัสดีทุกท่านครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top