EconomicTalk – สภาพคล่องเงินดอลลาร์กับความบิดเบือนของโครงสร้างดอกเบี้ยในประเทศ: ตอนที่ 1 : Interest Rate Parity, FX Swap, CCS

แชร์บทความนี้

เรื่องวันนี้อาจจะยากนิดนึงนะครับ แต่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการที่จะเข้าใจในเรื่อง Fund Flow จาก ต่างประเทศ รวมถึงเป็นพื้นฐานสำคัญเกี่ยวกับเรื่องตลาดเงินตราต่างประเทศ และโครงสร้างอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสำหรับบทความนี้ ผมจะพยายามอธิบายให้เป็นภาษาง่าย ๆ และหลีกเลี่ยงการใช้สมการครับ

Interest Rate Parity [หรือ IRP]

IRP เป็น หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับตลาดเงินตราระหว่างประเทศซึ่งหลักนี้มีอยู่ว่า ดอกเบี้ยของสองประเทศเมื่อรวมการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินแล้วจะต้องเท่ากัน เช่น หากดอกเบี้ยอเมริกา 6 เดือนเท่ากับ 0.5% [LIBOR] ดอกเบี้ยไทยเท่ากับ 1.5% [THBFIX] ตามหลัก IRP ค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ [USD/THB] จะต้องอ่อนค่าลง 1% ต่อปี ใน 6 เดือนเท่ากับส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย เช่น จากระดับ Spot Rate 30.5 บาทเป็นระดับ Forward Rate ที่ 30.6525 บาท/ดอลลาร์ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยเป็นอย่างมากจากกระแสเงินที่กู้ด้วยต้นทุนต่ำเป็นสกุล USD มาลงทุนในที่ซึ่งได้ผลตอบแทนสูงเป็นสกุล THB [Arbitrage Flow]

ในเนื้อหาส่วนถัดไปผมขอใช้ตัวเลชจากตัวอย่างข้างต้นต่อเนื่องไปเลยนะครับ

FX Forward [หรือ FX Swap]

ผมชอบเรียกว่าเป็นตลาดการกู้ยืมเงินดอลลาร์ในประเทศไทยครับ ซึ่งหลักการก็มาจากทฤษฎี IRP ข้าง ต้น เช่นหากผู้ส่งออกต้องการที่จะป้องกันความเสี่ยงของรายได้ที่เป็นสกุลดอลลาร์ ใน 6 เดือนข้างหน้า ก็จะทำการขายดอลลาร์ล่วงหน้า หรือที่เรียกกันว่าการ “ขายฟอร์เวิร์ด” ที่ 30.6525 บาท/ดอลลาร์ เพื่อล็อคอัตราแลกเปลี่ยน หรือรายได้จากการส่งออกที่จะได้รับในอนาคต

หากมองอีกนัยหนึ่งการ “ขายฟอร์เวิร์ด” นี้เองก็คือการที่ผู้ส่งออกยืมเงินดอลลาร์จาก Counterparty มาขายที่ Spot Rate และในเวลาเดียวกันคือการที่ผู้ส่งออกให้ Counterparty กู้ยืมเงินบาทมาส่งมอบกับผู้ส่งออกที่ Spot Rate เช่นกัน [อาจต้องอ่านย่อหน้านี้หลาย ๆ รอบจึงจะเข้าใจครับ]

ดังนั้นต้นทุนการ “ขายฟอร์เวิร์ด” ของผู้ส่งออก ก็คือ ดอกเบี้ยสกุลเงินบาท 6 เดือน – ดอกเบี้ยสกุลเงินดอลลาร์ 6 เดือนนั่นเอง [ทั้งนี้การ Settle เงินกันตามธุรกรรมดังกล่าวจะทำในอนาคตบน rate ที่ตกลงกันวันนี้]

คิดต่ออีก step… หากมีการ “ขายฟอร์เวิร์ด” กันมาก ๆ ย่อมหมายถึงสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในประเทศไทยที่มีน้อยลงจากความต้องการกู้ยืมเงินดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม ความต้องการกู้ยืมเงินดอลลาร์ข้างต้น ไม่ได้มีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนในตลาด Spot แต่อย่างใด เพราะเป็นเพียงการกู้ยืมเงินระหว่างผู้ส่งออกและ Counterparty จึงเป็นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินของทั้ง 2 สกุลเป็นหลัก [ในที่นี้คือดอกเบี้ย USLIBOR และ THBFIX]

Cross Currency Swap [หรือ CCS หรือ Buy/Sell & Sell/Buy FX Swap หรือ Buy/Sell & Sell/Buy FX Forward]

วิธีที่ใช้ในการจัดเตรียมเงินดอลลาร์ให้กับผู้ส่งออกข้างต้น Bank Counterparty สามารถทำได้ผ่านการกู้เงินดอลลาร์ แลกกับการปล่อยกู้เงินบาทในตลาด Cross Currency Swap [หรือเรียกว่า Buy/Sell USD Forward] ซึ่งแน่นอนว่าความต้องการปล่อยกู้บาทมาก ๆ ย่อมทำให้ดอกเบี้ยของเงินสกุลบาทปรับลดลง [คิดง่าย ๆ ว่าคนแย่งกันปล่อยกู้ ดังนั้นดอกเบี้ยต่ำ ๆ ก็ต้องยอม] ซึ่งจุดนี้เองครับที่เป็นความสัมพันธ์ของสภาพคล่องของเงินดอลลาร์ในระบบการเงินกับอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทย ซึ่งดอกเบี้ยตัวที่ผมระบุถึงนี้คือดอกเบี้ย Cross Currency Swap นั่นเอง

การทำ Cross Currency Swap สามารถ ทำได้สำหรับวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น กองทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศและปิดความเสี่ยงด้านค่าเงิน สิ่งที่ผู้จัดการกองทุนต้องทำ คือ การ Receive USD/THB CCS ยกตัวอย่างเช่น กองเกาหลี 2 ปี ซึ่งผู้จัดการกองทุนต้องทำการการปล่อยกู้เงินบาทที่ระดมจากนักลงทุนไทยให้กับ Counterparty ขณะเดียวกันก็ขอยืมเงินดอลลาร์เป็นเวลา 2 ปี เพื่อนำไปลงทุนในต่างประเทศ คล้ายกันกับกรณีของการทำ Buy/Sell USD Forward ครับ การปล่อยกู้บาทให้กับ Counterparty มาก ๆ ย่อมทำให้ดอกเบี้ยสกุลบาทของ CCS Curve ปรับลดลงเช่นกัน

ธนาคารแห่งประเทศไทย [แบงค์ชาติ] เองก็มีบทบาทสำคัญเช่นกันต่อตลาด CCS ครับ โดยมากแบงค์ชาติจะมีส่วนร่วมกับตลาด CCS ระยะสั้น หรือที่เรียกว่า Buy/Sell & Sell/Buy FX Swap [ตลาดเดียวกันกับกรณีผู้ส่งออกข้างต้น] ซึ่งในระยะหลังแบงค์ชาติมักจะมีบทบาทในการรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าในอัตราที่เร็วเกินไป สิ่งที่แบงค์ชาติมักจะทำคือการเข้าซื้อ USD ขาย THB ในตลาด Spot Exchange Rate เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาทในตลาด Spot ขณะที่ทำการ Sell/Buy FX Swap ในตลาด CCS ซึ่งหมายถึงการให้ตลาดยืมเงิน USD ที่ไปซื้อมาจากตลาด Spot ขณะ ที่แบงค์ชาติเองเป็นผู้กู้ยืมเงินสกุลบาท ซึ่งต้นทุนของแบงค์ชาติก็คือส่วนต่างของดอกเบี้ยไทย – ดอกเบี้ยอเมริกานั่นเองครับ ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้นคือประมาณ 1% [โดยมากจะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ต่ำกว่า 1 ปี]

การเข้าทำ Sell/Buy FX Swap ของแบงค์ชาติ หรือการกู้เงินสกุลบาทในตลาด CCS นี้เองที่มีส่วนผลักดันให้ดอกเบี้ย CCS ปรับตัวขึ้น กล่าวคือ นอกจากแบงค์ชาติจะเป็นผู้ลดความผันผวนของค่าเงินบาทในตลาด Spot แล้ว แบงค์ชาติยังมีส่วนช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดการกู้ยืมเงินดอลลาร์ หรือเรียกว่าการ Supply เงินดอลลาร์ในตลาด CCS อีกด้วย

จุดสำคัญของบทความนี้คือต้องการแยกให้เก็นความแตกต่างระหว่างตลาด Spot Exchange Rate หรือที่เราเรียกกันว่าค่าเงินบาท กับตลาด Forward & CCS Market ซึ่งเป็นตลาดที่สะท้อนสภาพคล่องของการกู้ยืมเงินสกุลดอลลาร์ว่าเป็นคนละตลาดกันครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA

ติดตามบทความจาก 8 ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนได้ที่ http://fundmanagertalk.com และสำหรับท่านที่เป็นชาว Social Media เชิญไปแลกเปลี่ยนกันได้ที่ http://facebook.com/fundmanagertalk และ http://twitter.com/fundtalk สำหรับวันนี้… สวัสดีครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top