EconomicTalk – “GIROS CRISIS” เศรษฐกิจยุโรปจะซึมยาว และกระทบเศรษฐกิจโลก

แชร์บทความนี้

เจษฎา สุขทิศ, CFA

จากที่คุณอาสา ได้เคยเขียนบทความเรื่อง “PIIGS : ปีเสือ แต่หมูดุกว่า” ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ที่ผ่านมา ที่ได้ระบุถึงปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศโปรตุเกส, ไอร์แลนด์, กรีซ, และสเปน (อ่านได้ที่ http://bit.ly/PIIGS ) จากนั้นเป็นต้นมาปัญหาของประเทศกรีซ โปรตุเกส และสเปน ก็อยู่ในความสนใจของตลาดอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ หลายชนิด ราคาทองคำได้ทำสถิติสูงสุดในประวัติศาสตร์, ตลาดหุ้นผันผวนอย่างมากตามข่าวของกรีซรายวันเช่นเดียวกับราคาน้ำมัน, ราคาพันธบัตรสหรัฐฯปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการที่นักลงทุนโยกเงินหนีความเสี่ยง ขณะที่ราคาพันธบัตรของกรีซก็ปรับลงไปอย่างมาก บทความในวันนี้เป็นมุมมองใน “ระยะยาว” ประมาณ 1 ปีของผู้เขียน ต่อปัญหาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งอาจจะตรง หรือไม่ตรงกับความคิดเห็นของหลายท่าน ซึ่งสามารถร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองกันได้ที่ http://fundmanagertalk.com/forum/ ครับ

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวหลังจากผ่านวิกฤต Hamburger Crisis ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจยุโรป ดูจะไม่เป็นเช่นนั้น ในขณะที่อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ ค่อย ๆ ทยอยปรับตัวลดลง อัตราการว่างงานของยุโรปในปี 2553 กลับทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 9 ในปีที่แล้ว ขึ้นมาเป็นร้อยละ 10 ในปีนี้ แต่ในบางประเทศสถานการณ์ร้ายแรงกว่านั้น เช่น สเปนอัตราการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากร้อยละ 9 ในปี 2551 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 15 และ 19 ในปี 2552 และ 2553 ตามลำดับ ซึ่งการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมสอดคล้องไปกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในปีนี้ ปีหน้า

spain-unemployment

มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมา เทียบได้กับมาตรการ TARP ของสหรัฐในปีที่แล้ว กล่าวคือเป็นการตั้งกองทุน มูลค่ารวมประมาณ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเข้าพยุงค่าเงินยูโร และราคาพันธบัตร และให้ประเทศที่มีหนี้ที่ต้องชำระกู้ เป็นหลัก ทำให้ประเทศในยูโรลดโอกาสในการล้มละลาย (Debt Moratorium) ในเวลาอย่างน้อยอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในพันธบัตร และสินทรัพย์สกุลยูโร และช่วยลดปัญหา Mark to market loss สำหรับสถาบันการเงินที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลของประเทศยุโรป ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเป็น Domino

อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวผมมองว่าเป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน” หากเป็นเพียงมาตรการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นต่อระบบการเงินในระยะสั้นครับ ปัญหาตอนนี้ของยุโรปคือเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่หนี้สินเยอะ วิธีแก้คือ การทำให้เศรษฐกิจเติบโต หรือลดหนี้สินลง ซึ่งพูดง่าย แต่ทำยาก และมีวิธีหลายอย่าง ดังนี้

ภาคเอกชนต้องบริโภค และลงทุนมากขึ้น (C, I) ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นยาก เพราะหนี้ภาคครัวเรือน และอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง

ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐ (G) ซึ่งจนถึงตรงนี้เป็นไปได้ยาก เพราะหลายประเทศกำลังอยู่ในช่วงที่ต้องรักษาวินัยทางการคลัง และลดการขาดดุลงบประมาณ

ลดค่าเงินอย่างมาก เพื่อให้เกินดุลการค้า (X – M) ถ้าไม่รวมกันเป็นเงินสกุลเงินเดียวกัน วิธีนี้มีโอกาสเกิดขึ้นสูง แต่ปัญหาคือตอนนี้ใช้เงินสกุลยูโรเหมือนกันหมดทั้ง 14 ประเทศ การลดค่าเงินยูโรอาจเกิดประโยชน์กับประเทศที่มีปัญหาเช่นกรีซ แต่ก็มีโทษกับประเทศหลายประเทศเช่นเยอรมัน ที่จะทำให้หนี้ต่างประเทศทวีมูลค่าขึ้น และสินค้านำเข้าที่มีราคาแพงขึ้น รวมถึงปัญหาต่อระบบการเงินที่จะลดความเชื่อมั่นต่อสกุลยูโร

ลดหนี้สินลง ก็คือต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้ หรืออีกคำหนึ่งก็คือ “เบี้ยวหนี้บางส่วน” แล้วเอาเงินที่ต้องชำระหนี้ไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ทำได้ยากเพราะเนื่องจากรวมกันเป็นสหภาพยูโร การไม่จ่ายหนี้ย่อมทำให้เกิดการสูญเสียความเชื่อมั่นต่อกลุ่มประเทศยูโรทีเดียวทั้งกลุ่ม

เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน จากการลดค่าแรง ลดราคา ลงทำให้สินค้าของประเทศยุโรปถูกลง และส่งออกได้มากขึ้น ขณะเดียวกันให้ค่าเงินเป็นไปในทิศทางอ่อนค่า วิธีนี้ดูเหมือนเป็นทางออกที่เจ็บปวด และยาวนาน วิธีเดียว ณ จุดนี้

จากการวิเคราะห์ข้างต้น ผมมองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจของยุโรป จะตกอยู่ในภาวะซึมเซาในช่วงหลายปีข้างหน้า ซึ่งผมขอตั้งชื่อว่า “GIROS Crisis” เนื่องจากวิกฤตดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศกรีซ เหมือนกับวิกฤตปี 40 ที่หลายคนชอบเรียกว่า “Tom Yum Kung Crisis” ครับ (Giros เป็นอาหารประจำชาติของกรีซ ลักษณะคล้ายเคบับของประเทศตุรกี )

clip_image002

ภาพ: Giros Pita, อาหารประจำชาติของประเทศกรีซ

ติดตาม และแลกเปลี่ยนบทความของคุณเจษฎา สุขทิศ, CFA ได้ผ่านทาง www.settrade.com เลือก “เว็บบล็อก” หรือติดตามภาวะการลงทุนแบบทันสถานการณ์ด้วยทวีตเตอร์ที่ http://twitter.com/FundTalk สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ…

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top