EconomicTalk – Joseph Stiglitz เตือน ระวังเงินร้อน !

แชร์บทความนี้

บทความนี้เป็นมุมมองการวิเคราะห์ของผมจากการฟังการให้สัมภาษณ์ของคุณ Joseph Stiglitz ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลไทย โดยวิเคราะห์ถึงผลกระทบของการเคลื่อนไหวของกระแสเงินโลกในปัจจุบันที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นไทย

เขาคือใคร ?

คุณ Joseph Stiglitz เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี ค.ศ. 2001 เจ้าของ “ทฤษฎีข้อมูลที่ไม่สมมาตรกัน (Theory of information Asymmetry)” ซึ่งส่งผลให้ตลาดไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดยคุณ Stiglitz เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ (Chief Economist) ของธนาคารโลก (World Bank) ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจให้กับหลาย ๆ ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่คุณ Stiglitz ได้ตอบรับเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐบาลไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ( อ่านประวัติของเขาเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Joseph_Stiglitz )

ที่มาของเงินร้อน

สหรัฐอเมริกาได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำ และการขยายงบดุลของธนาคารกลาง (FED) อย่างต่อเนื่อง โดยสหรัฐฯ ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) ลงไปสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์คือ 0 – 0.25% ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2551 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รวมถึง FED ที่ได้เข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินทำให้สินทรัพย์ของ FED เพิ่มขึ้นจากระดับประมาณ 8 แสนล้านเหรียญในปี 2551 มาเป็น 2 ล้านล้านเหรียญในปัจจุบัน (มีเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นในระบบคิดเป็นเงินไทยประมาณ 68 ล้านล้านบาท มากกว่า GDP ของประเทศไทยประมาณ 7 เท่า) โดยเงินที่อัดฉีดเข้ามาส่วนใหญ่จะผ่านมาที่สถาบันการเงินในสหรัฐฯ ด้วยเป้าประสงค์ให้เกิดการปล่อยกู้ในสหรัฐฯ เพื่อฟื้นเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะถดถอย และประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ก็ได้ดำเนินนโยบายอัดฉีดสภาพคล่องในลักษณะเดียวกันซึ่งก่อให้เกิดสภาพคล่องจำนวนมากในระบบการเงินของโลก

สิ่งที่เกิดขึ้นคือเงินจำนวนมหาศาลเหล่านั้นกลับไม่ได้นำไปสู่การปล่อยกู้ในสหรัฐฯเป็นหลัก แต่กลับไหลไปสู่ภูมิภาคที่เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตที่ดีกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือภูมิภาคเอเชีย โดยเงินส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนผ่านสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องเช่น หุ้น และพันธบัตร (นับแต่ต้นปีมีเงินจากต่างประเทศไหลเข้าตลาดหุ้นไทยประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท – แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเงินดังกล่าวมาจากสหรัฐฯ ทั้งหมด)

ปัจจัยที่ควรจับตามอง

เมื่อเงินที่ไหลเข้าตลาดทุนส่วนหนึ่งมาจากเงินที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ เมื่อวิกฤตได้ผ่านพ้นไปย่อมเป็นไปได้ที่เงินเหล่านั้นจะต้องไหลกลับไปสู่แหล่งที่มา เช่นในกรณีของสหรัฐฯ ที่เริ่มมีการวางแผนของการดึงเงินที่อัดฉีดเข้าสู่ระบบกลับคืนสู่ทางการไปบ้างแล้ว (Exit Strategy) ดังนั้นสิ่งที่นักลงทุนไทยควรให้ความสำคัญก็คือ สภาพคล่องของตลาดเงินโลก ซึ่งจะมีผลต่อตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตรของไทยไม่มากก็น้อย อย่างแน่นอน ผมแนะนำให้ติดตามปัจจัยหลัก ๆ ดังนี้

  1. อัตราดอกเบี้ย London Interbank Offer Rate อายุ 6 เดือน (6-month LIBOR) ซึ่งเป็น indicator สำคัญที่สะท้อนถึงสภาพคล่องของตลาดการเงินของโลก ปัจจบันอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์คือ 0.675% ณ วันที่ 15 กันยายน 2552 หากอัตราดอกเบี้ยตัวนี้ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อใด ย่อมหมายถึงสภาพคล่องที่ลดลง (ดู http://www.economagic.com/libor.htm#US)

libor

ที่มา Bloomberg

  1. ขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED Balance Sheet) หาก FED เริ่มลดขนาดของสินทรัพย์ที่ถือครองเมื่อใด ย่อมหมายถึงการดูดสภาพคล่องออกจากระบบ โดยปัจจุบันขนาดสินทรัพย์ที่ FED ถือครองคือประมาณ 2 ล้านล้านเหรียญ ดังที่ระบุไว้ข้างต้น(ดู http://www.federalreserve.gov/monetarypolicy/bst_recenttrends_accessible.htm )

fed-balance-sheet

ที่มา Macroeconomic Advisers

ผมเชื่อว่าเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลาย ๆ มองว่าอาจเกิดขึ้นในปี 2553 มีโอกาสสูงที่ธนาคารกลางหลาย ๆ แห่งทั่วโลกโดยเฉพาะ FED ที่จะทยอยดึงสภาพคล่องที่ปล่อยไปในระบบกลับคืน ซึ่งผมหวังว่ากระบวนการนั้นจะเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดทุนของบ้านเราอย่างมีนัยสำคัญ แต่เราอยู่บนตลาดที่การคาดการณ์ของนักลงทุนมีผลต่อราคา อาจเป็นไปได้ที่มีการเก็งถึงสภาพคล่องที่ลดลง และทำให้เกิดความผันผวนของกระแสเงินได้เช่นกัน สรุปแล้วคือ หากเราลงทุนในสิ่งที่มีความผันผวน สิ่งที่เราควรทำคือติดตามปัจจัยต่าง ๆ ที่มีนัยสำคัญต่อราคานั่นเอง ในโลกของการลงทุน “ยิ่งรู้มากกว่า ก็ยิ่งได้เปรียบ” สวัสดีครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top