EconomicTalk – คุณว่ารัฐบาลควรกู้หรือไม่ ?

แชร์บทความนี้

เมื่อวันก่อนผมนั่งแท็กซี่กลับบ้าน พี่คนขับบ่นให้ฟังว่ารัฐบาลนี้เป็นแต่กู้เงิน ทำอย่างอื่นไม่เป็น เช่นเดียวกับที่ผมได้รับทราบจากสื่อต่าง ๆ กระแสสังคมตอนนี้กำลังต่อต้านการกู้เงินของรัฐบาลค่อนข้างหนัก ทั้งหมดเป็นที่มาของบทความในวันนี้ครับ ผมจะพยายามชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสีย ความเหมาะสมของรัฐบาลในการที่จะกู้เงิน ก่อนที่ท่านจะตัดสินใจเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับการกู้เงินของรัฐบาลครับ

รายได้ และรายจ่ายของรัฐบาล

ราย ได้ของรัฐบาลมาจากภาษีที่เก็บจากประชาชนในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้บุคคลที่เก็บจากรายได้ที่อยู่ในระบบ ภาษีนิติบุคคลเก็บจากบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไร ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บจากการบริโภค ภาษีศุลกากรที่เก็บจากการนำเข้าส่งออก ฯลฯ หากผมตั้งคำถามว่าใครเสียภาษีเยอะ คำตอบคือผู้ที่มีรายได้เยอะไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหากรายได้เยอะก็ต้องเสีย ภาษีในฐานที่สูง โดยสูงสุดถึง 37% สำหรับนิติบุคคลที่กำไรเยอะก็ย่อมต้องเสียภาษีเยอะเช่นกัน สรุปสั้น ๆ คือภาษีเก็บจากคนรวย หรือบริษัทที่รวยครับ ยิ่งรวยมากก็ยิ่งเสียภาษีมาก ในอนาคตก็กำลังมีการผลักดันในเรื่องของภาษีมรดก และภาษีที่ดิน ซึ่งก็ยังคงอยู่ในหลักการเก็บภาษีจากคนรวยเช่นกัน

รายจ่ายของรัฐบาล แบ่งออกเป็นสองส่วนหลักคือ รายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุน รายจ่ายประจำโดยมากจะไม่ก่อให้เกิดผลผลิต เช่นเงินเดือนของข้าราชการทั่วประเทศ ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานทั่วไป การบริการชุมชนและสังคม การเตรียมความพร้อมสำหรับป้องกันประเทศ ฯลฯ ส่วนรายจ่ายลงทุนโดยมากจะเป็นรายจ่ายที่ก่อให้เกิดผลผลิตและเสริมสร้างการ เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอนาคต เช่นโครงการรถไฟฟ้า การสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

การกู้เงินของรัฐบาลเกิดขึ้นเมื่อใด และจะใช้คืนเงินกู้ได้อย่างไร
เช่น เดียวกับประชาชนเวลาจะกู้ หรือคืนเงินกู้ครับ รัฐบาลจะมีความจำเป็นต้องกู้เมื่อรายได้น้อยกว่ารายจ่าย และการใช้คืนเงินกู้ก็กลับข้างกันคือเมื่อรัฐบาลสามารถหารายได้มากกว่าราย จ่าย ก็สามารถนำส่วนที่เหลือมาใช้คืนเงินกู้ได้ครับ ในทางปฏิบัติจะมีการตั้งเป็นงบประมาณล่วงหน้าปีต่อปีครับ ถ้ารัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุลเมื่อใด หมายถึงใช้จ่ายมากกว่ารายรับที่เป็นภาษี ส่วนที่ขาดไปก็ต้องทำการกู้ครับ ไม่ว่าจะกู้จากในประเทศหรือนกประเทศ กลับกันถ้าเป็นงบประมาณแบบเกินดุลก็คือการใช้คืนเงินกู้ในอดีตไปในตัว ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ควรทราบคือรัฐบาลไม่ว่าจะภายใต้การนำของพรรคไหน ต่างก็มีการกู้เงินมาทุกยุคทุกสมัยครับ กล่าวได้คือเมื่อใดที่ตั้งงบประมาณขาดดุล เมื่อนั้นต้องมีการกู้เกิดขึ้นแน่นอนครับ

เมื่อไหร่ที่ควรกู้

ตาม หลักการที่ประพฤติปฏิบัติกันเป็นสากล ประเทศควรกู้หรือตั้งงบประมาณขาดดุลเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ และควรใช้คืนเงินกู้หรือตั้งงบประมาณเกินดุลเวลาเศรษฐกิจขยายตัวดี เวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ แน่นอนว่าภาษีจะเก็บได้น้อยเพราะประชาชนมีรายได้น้อยลง บริโภคน้อยลง บริษัทก็มีกำไรน้อยลง ภาวะแบบนี้รัฐบาลควรตั้งนโยบายแบบขาดดุล คือรายจ่ายมากกว่ารายรับ ซึ่งสุทธิแล้วเท่ากับเป็นการอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แล้วเวลาที่เศรษฐกิจอยู่ในวัฏจักรขาขึ้น รัฐบาลก็ควรตั้งงบเกินดุลเพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจ และนำภาษีที่ได้รับมากเกินรายจ่ายมาชำระหนี้ที่ก่อไว้ในอดีต คุณล่ะครับคิดว่าเศรษฐกิจตอนนี้อยู่ในภาวะใด ขาขึ้นหรือขาลง และรัฐบาลควรกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือเปล่า

วินัยการคลัง และหนี้สาธารณะ

กฎหมาย ได้ระบุไว้ถึงเพดานการกู้เงินของรัฐบาลจะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของรายจ่ายประจำปี เป็นที่ชัดเจนว่าเงินกู้ 8 แสนล้านบาทที่รัฐบาลดำริขึ้นนั้นเกินร้อยละ 20 อย่างแน่นอน รัฐบาลจึงกระทำผ่านกฎหมายกู้เงินฉุกเฉิน 2 ฉบับ ซึ่งการกู้เงินย่อมนำไปสู่หนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันตัวเลขหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40 ของขนาดเศรษฐกิจ (GDP) โดยหากกู้เงินทั้ง 8 แสนล้าน จะทำให้ตัวเลขขึ้นไปที่ประมาณร้อยละ 60 ของ GDP ซึ่งสูงกว่าระดับกรอบความยั่งยืนทางการคลังเป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50 แต่หากเปรียบเทียบกับหลายประเทศ ยังนับว่าตัวเลขหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ เช่น ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 100% เข้าไปแล้ว

รัฐบาลกู้ ใครได้ประโยชน์ ใครเป็นคนชำระหนี้

ประเด็น นี้ต่างกันชัดเจนระหว่างเวลาประชาชนเป็นหนี้ กับรัฐบาลเป็นหนี้ กรณีประชาชนกู้เงินไปใช้จ่ายเช่น กู้เงินกองทุนหมู่บ้าน กู้เงินธกส. เวลาต้องใช้เงินคืน ผู้กู้เงินย่อมต้องเป็นผู้ชำระ ง่าย ๆ คือกรณีประชาชนกู้เงิน ใครกู้ ใครเอาเงินไปใช้ คนนั้นต้องเป็นคนจ่าย ต่างกับกรณีที่รัฐบาลกู้เงินไม่ว่าจะไปใช้จ่ายในเรื่องใดก็ตาม ซึ่งโดยมากหลัง ๆ ก็มักจะเป็นโครงการประชานิยมที่ช่วยคนรายได้น้อย เช่น เช็คช่วยชาติ เงินบำนาญผู้สูงอายุ ประกันราคาพืชผล แต่กรณีรัฐบาลกู้ ผู้ที่ใช้คืนเงินกู้หลัก ๆ คือผู้ที่เสียภาษีเยอะ ง่าย ๆ คือนำภาษีจากคนรวยไปช่วยคนจน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งที่ช่วยในเรื่องการกระจายรายได้

แปลกแต่ จริงครับที่เวลารัฐบาลทำโครงการให้ประชาชนกู้เงิน ซึ่งโดยมากเป็นผู้มีรายได้น้อย เกิดเป็นหนี้สินภาคครัวเรือน ประชาชนที่ได้กู้ส่วนใหญ่มีความสุข รู้สึกว่าได้รับโอกาส ทั้ง ๆ ที่ทำให้ตัวเองเป็นหนิ้เป็นสิน ขณะที่เวลารัฐบาลจะกู้ ซึ่งผู้ต้องชำระคืนเงินกู้คือคนหรือบริษัทที่เสียภาษี ยิ่งรวยมากยิ่งต้องเสียภาษีมาก กลับเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนส่วนใหญ่ที่เสียภาษีน้อย แต่เป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากการจับจ่ายของรัฐบาล

คุณล่ะครับคิดว่ารัฐบาลควรกู้หรือไม่ ?

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top