EconomicTalk – วิกฤติหนี้ยุโรป อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (3)

แชร์บทความนี้

วิกฤติหนี้ยุโรป อดีต ปัจจุบัน และอนาคต (3)

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM

บทความสองตอนก่อนได้เล่าถึงความเป็นมาและสถานการณ์ปัจจุบันของปัญหาหนี้สินในยุโรปไปแล้ว ในตอนสุดท้ายนี้จะกล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินในยุโรป และอนาคตของเศรษฐกิจโลกในทัศนะของผู้เขียน

ปัจจุบันความสนใจปัญหาหนี้สินของประเทศในกลุ่มยุโรปอยู่ที่กรีซ อิตาลี และสเปน ซึ่งประเทศทั้งสามมีสถานะที่ใกล้เคียงกัน คือ หนี้สินต่อ GDP สูง มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง และมีอัตราการว่างงานที่สูงมากจนไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญประเทศอย่างอิตาลีและสเปนคือเป็นประเทศทีมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ติดอันดับโลก (GDP อิตาลี และสเปนจัดอยู่ในอันดับ 8 และ 12 ของโลกตามลำดับ) หากประเทศทั้งสองไม่สามารถระดมเงินกู้เพื่อมาต่ออายุลมหายใจได้ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกจะรุนแรงมากกว่าวิกฤติทุกครั้งที่โลกเคยผ่านมา ชนิดที่ว่าวิกฤติต้มยำกุ้งของเอเชียเมื่อปี 1997 ถือว่าจิ๊บจ้อยมาก หรือแม้แต่ Hamburger crisis ปี 2008 ก็ไม่อาจเทียบเคียงได้ (ตามความเห็นของนักลงทุนระดับตำนานอย่าง จอร์จ โซรอส และ จิม โรเจอร์)

องค์กรทางเศรษฐกิจต่างๆไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพยุโรป(EU) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) หรือกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (G-20) จึงต้องหาแนวทางให้ความช่วยเหลือประเทศดังกล่าว โดยเริ่มต้นจากกรีซ ด้วยความหวังที่ว่าหากสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนยอมต่ออายุหนี้ของกรีซได้ ประเทศทีดูแล้วมีความน่าจะเป็นที่จะชำระหนี้ไม่ได้น้อยกว่าอย่างอิตาลี และสเปนก็น่าจะรอดไปด้วย

วิธีการแก้ปัญหากรีซที่ EU และ IMF ใช้ในเบื้องต้นคล้ายกับที่เคยใช้กับประเทศไทยสมัยวิกฤตต้มยำกุ้ง กล่าวคือ ให้วงเงินกู้ในระยะสั้นแก่ บังคับให้กรีซจัดทำงบประมาณเกินดุลด้วยการรัดเข็มขัด และขายสินทรัพย์เพื่อชดใช้หนี้เมื่อตลาดการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ปัญหาคือ กรีซ ไม่ใช่เด็กดีที่ยอมทำตามผู้ใหญ่อย่างประเทศไทย กรีซไม่สามารถปฏิบัติตามแผนลดการขาดดุลได้เลย เนื่องจากรัฐบาลห่วงคะแนนเสียงไม่ยอมลดภาระการขาดดุลการคลังตามที่ EU และ IMF เสนอ ในขณะเดียวกันด้านผู้ให้ความช่วยเหลือเอง ซึ่งได้แก่กองทุน European Financial Stability Facility (EFSF) ก็ประสบกับปัญหาเงินไม่พอ เนื่องจากต้องให้ความช่วยหลายประเทศ และการจะเพิ่มขนาดเงินกองทุนก็จำเป็นต้องอาศัยฉันทามติของทุกประเทศสมาชิก ปัญหาทั้งหมดจึงนำมาสู่การประชุม EU summit เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

ผลการประชุม EU Summit เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีข้อสรุปที่มีสาระสำคัญ 2 ประการดังนี้

  1. เจ้าหนี้จะต้องลดหนี้ (Hair cut) กรีซลงอย่างน้อย 50% และยืดอายุหนี้ออกไปเพื่อเลี่ยงการ Default ซึ่งยังถือกว่าต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ปัจจุบันพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปีราคาหน้าตั๋ว 100 บาท ซื้อขายกันเพียง 27.75 บาทเท่านั้น ถ้าจะ Hair cut ตามราคาตลาดต้องลดหนี้ไปถึง 72.25%
  2. กองทุน EFSF จะเพิ่มวงเงินโดยการ “กู้” เพิ่มจากฐานเงินกองทุนที่มีอยู่ประมาณ 220,000 ล้านยูโร โดยจะเพิ่มประมาณ 4 เท่าหรือประมาณ 1 ล้านล้านยูโร โดยวงเงินดังกล่าวคลอบคลุมหนี้ทั้งหมดหลัง Hair cut ของกรีซ และเผื่อไว้สำหรับช่วยเหลือหนี้บางส่วนของอิตาลี และสเปนในอนาคตแล้ว รวมไปถึงเงินเพิ่มทุนให้สถาบันการเงินต่างๆในยุโรปในกรณีที่จำเป็นอีกด้วย โดย EFSF อาจเข้าปล่อยกู้โดยตรง เข้าซื้อพันธบัตร หรืออาจใช้วิธีค้ำประกันโดยเรียกเก็บเบี้ยประกันจากลูกหนี้ที่ออกพันธบัตรก็ได้ (ลักษณะคล้ายแบงค์อาวัลตั๋วเงิน) ซึ่งวิธีค้ำประกันนี้จะทำให้ EFSF สามารถให้ความช่วยเหลือประเทศยุโรปได้เพิ่มจากวงเงิน 1 ล้านล้านยูโรขึ้นไปได้อีก

ผลการประชุมดังกล่าวเมื่อรวมกับท่าทีของกรีซที่ยินยอมตามเงื่อนไขการรับเงินช่วยเหลือของ EU และ IMF สามารถสร้างความมั่นใจในเบื้องต้นให้กับนักลงทุนได้ว่าผลกระทบของปัญหาหนี้สินในยุโรปจะไม่เกิดขึ้นรวดเร็วและทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินเช่นเดียวกับวิกฤติ Hamburger ปี 2008 อย่างไรก็ดีปัญหาต่างๆยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยข้อสรุปที่ได้จาก EU summit เป็นเพียงการให้ความช่วยเหลือระยะสั้นแก่กรีซที่มีหนี้ครบกำหนดก้อนใหญ่ในเดือนธันวาคมเท่านั้น ต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริงของปัญหาซึ่งก็คือการใช้จ่ายเกินตัว และการขาดดุลการคลังต่อเนื่องยังคงไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้ เมื่อกรีซรอดจากหนี้ระยะสั้นไปได้ความสนใจของตลาดจึงไปตกอยู่กับอิตาลีแทน ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีรุ่นอายุ 10 ปี พุ่งขึ้นรวดเดียวจาก 6.00% สู่ระดับ 7.5% ในเวลา 4 วันทำการ แสดงให้เห็นถึงความกังวลของนักลงทุนที่มีต่ออิตาลีจนนายกรัฐมนตรีอิตาลีถูกกดดันให้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อปูทางให้รัฐสภาอิตาลีสามารถผ่านแผนรัดเข็มขัดเพื่อลดภาระหนี้ได้สำเร็จ โดยอิตาลีมีหนี้สินก้อนใหญ่ครบกำหนดในเดือนกุมภาพันธ์ 2012 ถึงกว่า 50,000 ล้านยูโร ซึ่งยังคงเป็นปัญหาอยู่ว่าอิตาลีจะสามารถระดมเงินกู้เพื่อ Refinance หนี้จำนวนดังกล่าวได้ด้วยตัวเองหรือไม่ ที่ต้นทุนทางการเงินเท่าใด

ในด้านสถาบันการเงินของยุโรปก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ธนาคารที่มีชื่อเสียงในยุโรปโดยเฉพาะที่มีสัญชาติฝรั่งเศสและเยอรมันถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือกันโดยถ้วนหน้าส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยิ่งลดต่ำลง สถาบันการเงินนอกยุโรป และกองทุนตลาดเงินต่างๆ เริ่มลดธุรกรรมที่ทำต่อธนาคารของยุโรปลงส่งผลให้ธนาคารขนาดเล็กในยุโรปเริ่มประสบปัญหาสภาพคล่อง จนกระทั่งธนาคารกลางของยุโรป สหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น และจีนต้องร่วมมือกันเพิ่มวงเงินช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับธนาคารในยุโรปเพื่อป้องกันการแห่ถอนเงินจนทำให้ธนาคารเหล่านั้นต้องปิดกิจการไป (Bank run)

ในอีกด้านหนึ่งเมื่อสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อ พันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ เริ่มมีมูลค่าลดลง เงินกองทุนของสถาบันการเงินต่างๆก็เริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าการ Haircut หนี้สินของประเทศกรีซ อิตาลี และสเปน จะส่งผลให้ธนาคารในยุโรปขาดทุนรวมกันประมาณ 400,000 – 800,000 ล้านเหรียญยูโร และต้องระดมเงินเพิ่มทุนประมาณ 100,000 – 180,000 ล้านยูโร เพื่อรักษาเงินกองทุนขั้นที่ 1 (Tier 1) ให้ได้อย่างน้อย 9% ภายในเดือนมิถุนายนปี 2012 ตามเกณฑ์ BASELIII อย่างไรก็ดีการประมาณการดังกล่าวไม่ได้รวมตัวเลข Haircut ของหนี้สินภาคเอกชน ตัวเลขขาดทุนและเงินเพิ่มทุนจริงจึงอาจมากกว่าตัวเลขประมาณการข้างต้น นี่จึงเป็นที่มาของแผนการขายทรัพย์สินจำนวนมหาศาลที่สถาบันการเงินในยุโรปประกาศในช่วงที่ผ่านมาเพื่อลดขนาดของสินทรัพย์และลดภาระการเพิ่มทุนของสถาบันการเงิน

สถานการณ์หนี้สินในยุโรปที่กล่าวมาทั้งหมดยังคงเป็นปัญหาเรื้อรังที่รอวันแก้ไขทั้งหนี้สินภาครัฐและเอกชน โดยทุกภาคส่วนทั้งประเทศลูกหนี้ องค์การให้ความช่วยเหลือ และเจ้าหนี้ต่างๆจำเป็นต้องให้ความร่วมมือกันในการแก้ปัญหา โดยแนวทางการแก้ปัญหาของหนี้สินในยุโรปตามมุมมองของผู้เขียนมีดังนี้

  1. ในระยะสั้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าหนี้สินของอิตาลีและสเปนจะต้องไม่ผิดนัดชำระหนี้ หรือถูก Hair cut ซึ่ง EU ได้ดำเนินการสร้างความมั่นใจโดยการเพิ่มขนาดของกองทุน EFSF เป็น 1 ล้านล้านยูโร เพื่อแสดงศักยภาพในการให้ความช่วยเหลือ และดำเนินการซื้อพันธบัตรอิตาลีอย่างต่อเนื่องเพื่อกดอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีให้ต่ำลงและลดต้นทุนในการระดมเงินกู้ของอิตาลี ในขณะเดียวกันก็สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนยอมกลับเข้าซื้อพันธบัตรอิตาลีไปด้วย อย่างไรก็ดีการเพิ่มวงเงินของ EFSF ดังกล่าวยังไม่ได้มีแนวทางเป็นรูปธรรมว่าจะเพิ่มวงเงินด้วยวิธีการกู้จากแหล่งใด มีประเทศนอก EU ใดให้การสนับสนุนบ้าง และ EU จะกู้ด้วยต้นทุนทางการเงินเท่าใด ทำให้แผนการสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวยังคงมีความเสี่ยงในทางปฏิบัติอยู่
  2. ในระยะกลางต้องรื้อฟื้นความน่าเชื่อของประเทศลูกหนี้ที่มีปัญหากลับคืนมาด้วยการลดอัตราส่วนหนี้สินสาธารณะต่อ GDP ลงให้เร็วที่สุด โดยการเพิ่ม GDP ซึ่งเป็นตัวหาร (ไม่ใช่ด้วยการ Haircut หนี้ซึ่งเป็นตัวตั้ง) ซึ่งการลดหนี้สินต่อทุนให้นั้นจะต้องทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาวกลับไปสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวให้ได้ เพื่อให้เศรษฐกิจโตเร็วกว่าดอกเบี้ย (ปัจจุบันผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีอายุ 10 ปีอยู่ที่ 6.42% ในขณะที่ IMF ประมาณการเติบโตเศรษฐกิจปี 2012 ของอิตาลีอยู่ที่ 0.3%) แนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องลดรายจ่าย เช่น การตัดรัฐสวัสดิการต่างๆ ขยายระยะเวลาการทำงานของข้าราชการและลูกจ้าง ลดการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย ในขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มรายได้ ด้วยการขึ้นภาษีทุกประเภทเท่าที่จะทำได้ กระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งเสริมการส่งออก และสุดท้ายปรับโครงสร้างหนี้สินภาคเอกชนในประเทศโดยสถาบันการเงินจำเป็นต้องยอมลดหนี้ เพื่อให้ลูกหนี้สามารถดำเนินธุรกิจต่อและทำให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาในส่วนนี้ทั้งหมดไม่สามารถทำได้โดยง่ายเพราะจะส่งผลกระทบให้ประชาชนของประเทศลูกหนี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง และอาจทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมในหลายแง่มุม ซึ่งเป็นผลเสียโดยตรงกับรัฐบาลในขณะนั้นๆ (ดูตัวอย่างได้จากรัฐบาลไทยในสมัยวิกฤติต้มยำกุ้งถูกกล่าวหามากน้อยแค่ไหน)
  3. ในระยะยาวกลุ่มสภาพยุโรปจะต้องทำความตกลงร่วมกันในเงื่อนไขการรวมกลุ่มสภาพยุโรปใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขการปฏิบัติตามข้อตกลงด้านเศรษฐกิจ เช่น เพดานหนี้สินต่อทุน การขาดดุลงบประมาณ ตลอดจนพิกัดภาษีภายในและภายนอกสภาพยุโรป โดยควรมีบทลงโทษที่ชัดเจนและบังคับใช้ได้จริง หากประเทศสมาชิกฝ่าฝืนเพื่อระงับปัญหาก่อนบานปลายเกินแก้ไขเช่นในปัจจุบัน
  4. ด้านสถาบันการเงินในยุโรป ในระยะสั้นองค์กรระหว่างประเทศ เช่น EU และ IMF ต้องให้ความช่วยเหลือเรื่องสภาพคล่องของสถาบันการเงินด้วยการให้วงเงินที่มากพอที่จะครอบคลุมเงินฝากทั้งหมดของสถาบันการเงินหลักในยุโรป (ดังเช่นที่ธนาคารกลางสหรัฐเคยค้ำประกันเงินฝากเต็มจำนวนมาแล้วสมัย Hamburger crisis) เพื่อให้ผู้ฝากเงินมั่นใจและสถาบันการเงินหลักปลอดภัยจากสภาวะ Bank run ในระยะสั้น
  5. ในระยะกลางควรทำการทดสอบ Stress test ด้วยเกณฑ์ที่เข็มข้น และโปร่งใสโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทราบว่าแท้จริงแล้วสถาบันการเงินเหล่านี้ต้องตั้งสำรองขาดทุนการด้อยค่าของสินทรัพย์และหนี้สูญจำนวนเท่าไร และต้องการเงินทุนเพิ่มเติมเท่าใดที่จะทำให้ธุรกิจของสถาบันการเงินเหล่านี้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยการเพิ่มทุนควรปล่อยให้สถาบันการเงินเหล่านี้ระดมทุนด้วยตัวเองก่อน หากไม่สามารถระดมเงินทุนได้เพียงพอองค์กรระหว่างประเทศจึงค่อยเข้าให้ความช่วยเหลือ โดยอาจให้สิทธิพิเศษเพื่อจูงใจและลดแรงกดดันของรัฐบาลประเทศต่างๆที่ให้ความช่วยเหลือ เช่น การเพิ่มทุนในราคาที่ต่ำ หรือการให้หุ้นบุริมสิทธิ์แปลงสภาพ เป็นต้น
  6. ในระยะยาวควรกำหนดเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินที่เข็มข้นขึ้น โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อที่มีลักษณะการกระจุกตัว (แม้ว่าจะเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับภาครัฐก็ตาม) และการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนหรือตราสารที่มีความซับซ้อนสูง โดยลดความสำคัญของการใช้ราคาทุนทางบัญชี หรือแบบจำลองในการประเมินมูลค่าทรัพย์สิน แต่ให้ความสำคัญกับราคาตลาดในการประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ต่างๆมากขึ้น นอกจากนี้ควรให้ธนาคารกลางมีบทบาทในการกับดูแลสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิดมากขึ้น และมีอำนาจแทรกแซงสถาบันการเงินได้ทันทีที่คาดว่าจะเกิดปัญหา

ไม่มีมาตรการหรือองค์กรใดๆ จะแก้ไขปัญหาหนี้สินในยุโรปให้หมดไปได้ในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานและไม่เคยมีรัฐบาลใดที่คิดจะแก้ปัญหาจริงจังเพราะหวังผลทางการเมือง พยายามต่างๆทำได้เพียงประคับประคองสถานการณ์เพื่อรอเวลาให้ประเทศในยุโรปสามารถฟื้นตัวได้ด้วยตัวเอง เพราะเวลาจะรักษาทุกสิ่งได้เสมอ

ในอีกมุมหนึ่ง ปัญหาในปัจจุบันถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศต่างๆในยุโรปจะได้เปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ ลดความฟุ้งเฟ้อและอัตตาลง หันมาให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ และลดการก่อหนี้มาเพื่อการบริโภค เพราะไม่มีประเทศใดๆที่จะก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้ตลอดไป สักวันหนึ่งหนี้สินที่ก่อไว้ก็จะต้องใช้คืน ถ้าประเทศในสหภาพยุโรป (หรือแม้กระทั่งสหรัฐฯ) ยังคงละเลยการแก้ไขปัญหาโครงสร้างดังกล่าวโดยถือตัวว่าค่าเงินสกุลของตนยังเป็นค่าเงินสกุลหลักและประเทศอื่นๆในโลกจะต้องซื้อพันธบัตรของประเทศตนเพื่อเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ในระยะเวลาไม่นานประเทศต่างๆในโลกก็จะเริ่มเกิดแนวคิดที่จะแสวงหาสินทรัพย์อื่น หรือค่าเงินสกุลอื่นของประเทศที่มีความเข็มแข้งทางเศรษฐกิจสูงกว่ามาใช้แลกเปลี่ยนและใช้เป็นเงินทุนสำรองแทนสกุลเงินดอลลาร์และยูโร และเมื่อนั้นทั้งยุโรป และสหรัฐจะสูญเสียความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจไปตลอดกาล

สุดท้ายผู้เขียนจะขอทิ้งท้ายบทความทั้งสามตอนด้วยการพยากรณ์อนาคตของเศรษฐกิจโลกจากนี้ไป (แบบไม่กลัวธงหัก)  ผู้เขียนเชื่อว่าปัญหาหนี้สินของยุโรปจะผ่านพ้นไปอย่างช้าๆ กว่าที่ประเทศยุโรปจะสามารถลดภาระหนี้เข้าสู่ระดับปกติและสถาบันการเงินของยุโรปกลับมาขยายสินเชื่อได้ก็กินเวลาอีกหลายปี (สถาบันการเงินของไทยใช้เวลาทำใจ 10 ปี เพิ่งจะมาขยายสินเชื่อแบบเป็นเรื่องเป็นราวก็เมื่อสองสามปีที่ผ่านมานี้เอง แม้กระทั่งปัจจุบันก็ยังมีธนาคารบางแห่งที่ยังคงกอดสภาพคล่องและตั้งสำรองเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานมาก เพราะกลัวอดีตสมัยต้มยำกุ้งจะกลับมาหลอกหลอน) ในด้านสหรัฐอเมริกาจะยังเดินหน้าก่อหนี้และขาดดุลต่อไปเรื่อยๆ จนกระทั่งสูญเสียความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกไปในที่สุด และค่าเงินสกุลดอลลาร์และยูโรจะเริ่มด้อยความสำคัญลงไป โดยจะมีสกุลเงินอื่นประเทศเกิดใหม่ เช่น หยวน รูปีย์ รวมถึงสกุลเงินใหม่ที่เกิดจากการรวบรวมกลุ่มประเทศในภูมิภาคต่างๆ (เหมือนอย่างที่สหภาพยุโรปเคยทำ) เข้ามามีบทบาทแทนที่ ผู้นำเศรษฐกิจโลกจะกลายเป็นประเทศที่ปัจจุบันจัดว่าเป็นประเทศเกิดใหม่ และโมเดลธุรกิจที่ประเทศเกิดใหม่ใช้ก็จะเปลี่ยนไป (กดค่าแรงและต้นทุนการผลิตให้ต่ำ เพื่อส่งออกสินค้าไปยังกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว เมื่อได้ดุลการค้ามาก็เอาเงินไปปล่อยกู้ประเทศพัฒนาแล้วผ่านการซื้อพันธบัตรของประเทศพัฒนาแล้วเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ) การค้าขายกันในกลุ่มประเทศเกิดใหม่จะมีมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ความเป็นอยู่ของประชาชนของประเทศเกิดใหม่ก็จะดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนมากด้วยรัฐสวัสดิการที่เริ่มฟุ้งเฟ้อ เมื่อพวกเขาเริ่มรู้สึกตัวว่าพวกเขามีอำนาจในการ”กู้” อยู่ในมือ ส่งผลให้ประเทศเกิดใหม่เริ่มมีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น จนกระทั่งวันหนึ่งพวกเขาก็จะกลับมายืนอยู่ในจุดที่ยุโรปเป็นในปัจจุบัน

อันที่จริงแล้ววัฎจักรเศรษฐกิจเช่นนี้เคยเกิดมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ โรมันเรืองอำนาจ (ถนนทุกสายมุ่งเข้าสู่กรุงโรม) ก่อนเปลี่ยนมาเป็นยุคทองของยุโรปสมัยล่าอานิคม จนกระทั่งล่าสุดเป็นสหรัฐอเมริกา (ผู้ชนะที่แท้จริงในสงครามโลกครั้งที่ 2) และทุกครั้งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจเหล่านี้ก็ทำผิดซ้ำรอยเดิม ถ้าครั้งต่อไปจะเป็นคราวของประเทศเกิดใหม่บ้างก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ที่สำคัญผู้เขียนเชื่อว่าคำพยากรณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของผู้เขียนอย่างแน่นอน ถ้าโลกไม่แตกสลายไปเสียก่อน

สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามบทความเรื่อง วิกฤติหนี้ยุโรป อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งสามตอนมาโดยตลอด หวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่างานเขียนของข้าพเจ้าทั้งสามตอนจะเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้ความบันเทิง และเกิดประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อย หากมีความผิดพลาดประการใดในบทความดังกล่าวผู้เขียนขอน้อมรับข้อผิดพลาดทั้งหมดไว้แต่เพียงผู้เดียว พบกันในโอกาสต่อไปครับ ^_^

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM ผู้ก่อตั้งเพจ Indy Investor Forum จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท จากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณชาตรีเริ่มต้นการทำงานในสายการเงินในตำแหน่ง Management Trainee บมจ.ธนาคารกรุงไทย เมื่อปี 2546 ก่อนจะเริ่มต้นการทำงานในด้านการบริหารกองทุนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ฝ่ายกองทุนผสม บลจ. กสิกรไทย ในปี 2548 ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายตราสารทุน บลจ.เอ็มเอฟซี เมื่อปี 2551 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ. ไทยพาณิชย์ คุณชาตรีมีประสบการณ์บริหารจัดการกองทุนตราสารทุน ทั้งในรูปแบบกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีความสนใจการลงทุนในตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ นอกจากนี้คุณชาตรียังมีประสบการณ์เป็นอาจารย์พิเศษให้กับ ม.วลัยลักษณ์ ม.หอการค้าไทย และ ABAC อีกด้วย
Posts created 15

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top