CareerTalk – เส้นทางอาชีพของนักการเงิน

แชร์บทความนี้

ในโลกการเงินและการลงทุน เรามีหน่วยงานที่ต้องการ “นักการเงิน” อยู่ 3 กลุ่ม

  1. กลุ่มนักลงทุน (Investors)คือกลุ่มที่มีเงินและต้องการนำเงินไปลงทุนให้เกิดดอกผล ในประเทศไทย กลุ่มนักลงทุนสถาบัน ประกอบด้วย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำนักงานประกันสังคม บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต ฯลฯ หน่วยงานเหล่านี้ทำหน้าที่รวบรวมเงินออมของประชาชนเพื่อนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างๆ
  2. กลุ่มที่ต้องการเงินลงทุน คือ กลุ่มที่ต้องการกู้ยืมเงินหรือระดมทุนเพื่อไปใช้จ่ายหรือขยายกิจการ ประกอบด้วย บริษัทเอกชน (ต้องการกู้ยืมเงินหรือระดมทุนเพื่อไปขยายกิจการ) และหน่วยงานของรัฐ

กลุ่มคนกลาง (Intermediaries) คือ กลุ่มที่ช่วยให้ ‘กลุ่มนักลงทุน’ กับ ‘กลุ่มที่ต้องการเงินลงทุน’ มาเจอกัน ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ ฯลฯ

win1

 

กลุ่มนักลงทุน (Investors)ประกอบด้วยนักลงทุนสถาบันหลายแห่ง ได้แก่

  1. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) – บริหารกองทุนขนาด 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของข้าราชการจำนวน 1.2 ล้านคน
  2. สำนักงานประกันสังคม – บริหารกองทุนขนาด 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของลูกจ้างเอกชนจำนวน 11 ล้านคน
  3. บริษัทจัดการกองทุน – บริหารเงินจำนวนกว่า 4.3 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของลูกค้า 6 ล้านบัญชี ทั้งที่เป็น กองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

บริษัทประกันชีวิต – บริหารเงิน 1.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเงินออมของลูกค้าที่ทำประกันชีวิต

win2

‘กลุ่มนักลงทุนสถาบัน’ เหล่านี้ บริหารเงินออมของประชาชนรวมกันมากกว่า 7 ล้านล้านบาท เราเรียกงานในสายอาชีพนี้ว่า “สายงานจัดการลงทุน” หรือบางครั้งเราเรียกว่าเป็นฝั่ง Buy Side คือ ทำงานกับหน่วยงานที่มีเงินนำไปเลือกซื้อหลักทรัพย์ต่างๆ เพื่อการลงทุน เช่น เป็นนักวิเคราะห์ หรือเป็นผู้จัดการกองทุน ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เป็นสายอาชีพที่มีโอกาสก้าวหน้าถึงระดับ Chief Investment Officer หรือ CIO ได้ครับ

CIO คือใคร?

Chief Investment Officer หรือ CIO (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน) เป็นตำแหน่งที่ดูแลการกำหนดกลยุทธ์และกำกับดูแลการลงทุนในภาพรวมของกองทุน ว่าควรแบ่งเงินไปลงทุนในพันธบัตร หุ้น อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ เป็นสัดส่วนเท่าใด โดยเป็นกลยุทธ์ที่เกิดจากการคาดการณ์ภาวะตลาดในอนาคตและปัจจัยความเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุน

ความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่าง ผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) กับ CIO ก็คือ ผู้จัดการกองทุน มักได้รับมอบหมายให้ดูแลการลงทุนในหลักทรัพย์กลุ่มเดียว เช่น บริหารพอร์ตหุ้นอย่างเดียว หรือบริหารพอร์ตตราสารหนี้อย่างเดียว แต่ CIO จะเป็นเหมือน “หัวหน้าทีมผู้จัดการกองทุน” และมีความรับผิดชอบที่กว้างกว่า คือ ดูแลการบริหารพอร์ตทั้งหมดในภาพรวม

กลุ่มคนกลาง (Intermediaries)

ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ มีงานอาชีพให้เลือก 2 สายงาน คือ

  1. สายการธนาคาร เป็นงานอาชีพที่เราคุ้นเคยกันดี เช่น เป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ เจ้าหน้าที่การตลาด เจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ (Business Relationship Officer) ผู้จัดการสาขา ฯลฯ
  2. สายหลักทรัพย์และวาณิชธนกิจ  เป็นงานที่นำสินค้าทางการเงินต่างๆ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้น หรือตราสารอนุพันธ์ มาขายให้กับ ‘กลุ่มนักลงทุน’ หรือบางครั้งเราเรียกว่าเป็นฝั่ง Sell Side คือ ทำงานกับหน่วยงานที่นำหลักทรัพย์ต่างๆ มาเสนอขายผู้ลงทุน เช่น เป็นนักวิเคราะห์/Trader/เจ้าหน้าที่การตลาดของบริษัทหลักทรัพย์ หรือเป็น Investment Banker ของธนาคารพาณิชย์

กลุ่มที่ต้องการเงินลงทุน

ประกอบด้วยหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชนที่ต้องการนักการเงินมืออาชีพเช่นกัน หน่วยงานของรัฐ ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐวิสาหกิจต่างๆ จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ด้านการเงินดูแลการออกพันธบัตรเพื่อกู้เงินมาใช้จ่าย  ส่วนบริษัทเอกชนก็ต้องมีนักการเงินคอยดูแลการรับจ่ายเงินของบริษัท การบริหารเงินสด รวมไปถึงการระดมทุน เช่น ออกหุ้นกู้ หรือ หุ้น เพื่อนำเงินมาขยายกิจการ

เราเรียกงานในสายอาชีพนี้ว่า สายการเงินของบริษัท หรือ Corporate Finance บริษัทขนาดเล็กอาจจะมีเจ้าหน้าที่ด้านการเงินเพียง 1 – 2 คน แต่บริษัทขนาดใหญ่จำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่แผนกการเงินนับร้อยคน ซึ่งก็เป็นสายอาชีพที่มีโอกาสก้าวหน้าได้จนถึงเป็น Chief Financial Officer ได้เลยทีเดียว

CFO คือใคร?

“Chief Financial Officer หรือ CFO”เป็นเสมือนคนที่ดูแล ‘กระเป๋าเงิน’ ของบริษัท คือ คอยดูแลว่า กระแสเงินสดที่รับมาจากรายได้หรือเงินที่เก็บจากลูกค้า จะเพียงพอที่จะนำไปใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบ จ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่านำ ค่าไฟ ภาษี ฯลฯ

นอกจากนี้ CFO ยังมีหน้าที่วางแผนการระดมทุน เช่น กู้เงินธนาคาร ออกหุ้นกู้ หรือ เสนอขายหุ้น เพื่อให้บริษัทมีเงินนำไปใช้ขยายกิจการ วางแผนทางการเงินเพื่อเตรียมจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นให้กับผู้ถือหุ้นกู้ และจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้น รวมทั้งมีหน้าที่บริหารพอร์ตเงินคงเหลือของบริษัท และจัดทำงบการเงินต่างๆ

วิน พรหมแพทย์, CFA,win@sso.go.th

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
วิน พรหมแพทย์ เริ่มรับราชการที่สำนักบริหารการลงทุน สำนักงานประกันสังคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มงานลงทุน รับผิดชอบการลงทุนกองทุนประกันสังคมซึ่งมีเงินลงทุนมากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ ยังเป็นกรรมการลงทุน และเป็นรองโฆษกสำนักงานประกันสังคม วินจบการศึกษาระดับ ป.ตรี เศรษฐศาสตร์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และระดับ ป.โท บริหารธุรกิจจาก Erasmus University ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยได้รับทุนรัฐบาล (ก.พ.) สอบผ่านหลักสูตร Chartered Financial Analyst และมีรายชื่อขึ้นทะเบียนผู้มีคุณสมบัติเป็นผู้จัดการกองทุน (Fund Manager License) วินเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาการเงินที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) และได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2549
Posts created 2

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top