ถึงเวลาของที่ปรึกษาการลงทุน และการทำ Global Asset Allocation

แชร์บทความนี้

 

 

ตลาดหลักทรัพย์ไทยจนถึงวันนี้ก็มีอายุ 40 ปีแล้วนะครับถ้าเทียบเป็นคนก็นับว่าเป็นวัยฉกรรจ์กำลังลุยแหลกเลยทีเดียว ขณะที่กองทุนรวมในประเทศไทยนั้นมีมาเกือบ ๆ 40 ปีเช่นกัน แต่เพิ่งจะมาเติบโตมากในช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540  ภายหลังรัฐบาลใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลออกพันธบัตรรัฐบาล และตั๋วเงินคลังมากขึ้นทำให้กองทุนประเภทตราสารหนี้เติบโตขึ้น โดยเริ่มจากกองทุนตลาดเงิน และกองทุนประเภท Term Fund ต่อมาก็เริ่มมีกองทุนประเภทที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ FIF ในปี 2545 (อ่านบทความ เรียนรู้จากประวัติศาสตร์… 12 ปีประเทศไทยกับกองทุน FIF ที่ http://fundmanagertalk.com/thai-fif-funds-industry/ ) โชคไม่เข้าข้างเนื่องจากโลกเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอีกครั้งในปี 2551 ทำให้ทั้งกองทุนหุ้นไทยและกองทุนหุ้นต่างประเทศต่างได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง มีเพียงกลุ่มนักลงทุนที่แบ่งเงินลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว และทองคำเท่านั้นที่สามารถลดผลกระทบได้จากการกระจายความเสี่ยง แท้จริงแล้วการศึกษาทางวิชาการมากมายต่างก็บอกอยู่แล้วว่ามากกว่า 90% ของผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับนั้นมาจากการจัดสินทรัพย์ลงทุน (Asset Allocation) ไม่ได้มาจากการเลือกลงทุนรายหลักทรัพย์ (Security Selection) แต่กลับยังมีนักลงทุนจำนวนไม่มากนักที่จัดพอร์ตกระจายการลงทุนกันอย่างจริงจัง

การเติบโตกองทุนรวม

จนมาถึงในรอบ 2 – 3 ปีที่ผ่านมาภายหลังตลาดหุ้นโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นท่ามกลางสภาพคล่องมหาศาลจากการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป ประกอบกับตลาดหุ้นไทยเริ่มหยุดร้อนแรง จึงทำให้ความนิยมในการลงทุนในต่างประเทศกลับมาอีกครั้ง เช่นในไตรมาส 1 ปี 2558 ที่ผ่านมา กองทุนหุ้น FIF สามารถเติบโตได้ถึง 30% เมื่อเทียบกับปลายปี 2557 ขณะที่อุตสาหกรรมกองทุนรวมเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สิ่งที่ผมสังเกตเห็นอีกประเด็นคือ ณ จุดนี้ นักลงทุนจำนวนมากได้สั่งสมประสบการณ์ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาพอสมควร และเริ่มปรับเปลี่ยนมุมมองจากการลงทุนเป็นรายผลิตภัณฑ์ ดูกำไรขาดทุนเป็นกองๆ หรือหุ้นเป็นตัว ๆ มาเป็นการมองภาพรวมของพอร์ตการลงทุนมากขึ้น รวมไปถึงความรู้ความเข้าใจเรื่องการกระจายการลงทุนที่มีมากขึ้นเช่นกัน บทบาทของผู้ให้บริการก็เริ่มมีพัฒนาการที่สำคัญเช่นกัน จากเดิมที่นักลงทุนจะเน้นดูว่า “ผู้จัดการกองทุน” ค่ายไหนที่ให้ผลตอบแทนดี ก็เริ่มมาเป็นการมี “ที่ปรึกษาการลงทุน” (หรือที่เรียกกันว่า Financial Advisor, Investment Planner, Investment Consultant) มาช่วยจัดพอร์ตการลงทุนให้กับนักลงทุน มีคำแนะนำออกมาอย่างต่อเนื่องว่าแต่ละช่วงเวลาควรจัดพอร์ตอย่างไร ไปลงทุนในประเทศไหน สินทรัพย์อะไร รวมไปถึงมีความ Active ในการปรับพอร์ตการลงทุนมากขึ้น จากเดิมที่กลยุทธ์ของแต่ละสถาบันการเงินที่เน้นออกผลิตภัณฑ์การลงทุนใหม่ ๆ ก็เป็นการสร้างทีมที่ปรึกษาการลงทุนออกไปดูแลลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ให้คำแนะนำในการจัดพอร์ตการลงทุนที่มีทั้งการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงเริ่มมีการใช้เครื่องมือการทำ Asset Allocation ต่าง ๆ มากขึ้น เช่น Core/Satellite Approach หรือ Strategic/Tactical Asset Allocation (อ่านบทความ “The Ultimate Investment Solutions ได้ที http://fundmanagertalk.com/investment-talk-the-ultimate-investment-solutions/ )

ScreenHunter_28 Apr. 27 14.39

หากหันไปมองประเทศอย่างอเมริกาที่ตลาดหุ้น หรือกองทุนมีอายุยาวนานกว่าประเทศไทยอย่างมาก ที่ปรึกษาการลงทุนนั้นก็ได้รับความนิยมจากนักลงทุนมากว่า 30 ปีแล้ว ดูง่าย ๆ จากจำนวนผู้ที่มีใบอนุญาต CFP หรือ Certified Financial Planner ในสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2014 มีกว่า 7 หมื่นคน ขณะที่บ้านเรายังมีเพียง 129 คนเท่านั้น ในต่างประเทศนั้นมีบริษัทที่ทำธุรกิจ Financial Advisor จำนวนมากทั้งบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่นับเป็นพัน ๆ แห่ง ขณะที่แนวทางการให้คำปรึกษาได้ไปไกลถึงเรื่อง Family Office คือการบริหารความมั่งคั่งให้กับทั้งครอบครัว คล้าย ๆ กับกงสีบ้านเรา หรือการทำ Multi-Generation Investment คือการให้คำแนะนำการลงทุนข้ามเผื่อไปถึงการตกทอดสู่รุ่นถัด ๆ ไป ซึ่งผู้เขียนมีมองว่าอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ก็จะถึงเวลาของประเทศไทยที่จะได้เห็นบุคลกร และบริษัทที่ปรึกษาการลงทุนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยบริษัทจัดการลงทุนจะเป็นเหมือนโรงงานผลิตสินค้า ขณะที่ Financial Advisor จะเป็นผู้เลือกสรรสินค้าที่ดีที่สุดในแต่ละประเภทให้กับลูกค้า (Best-in-class product) ผลิตภัณฑ์ประเภทหวังผลในระยะเวลาสั้น ๆ จะเริ่มลดความนิยมลง เช่นกองทุน Term Fund หรือ Trigger Fund โดยนักลงทุนจะมองระยะเวลาการลงทุนที่ยาวขึ้น และมองเป็นองค์รวมของพอร์ตการลงทุนมากขึ้น ที่ตรงนี้ซึ่งบทบาทของที่ปรึกษาการลงทุนจะมีมากขึ้นในการให้คำแนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งการลงทุนในประเทศ และต่างประเทศในหลากหลายชนิดสินทรัพย์ (Global Asset Allocation)

ทั้งหมดก็เป็นมุมมองในเรื่องของแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการเงินการลงทุนในบ้านเราที่นำมาฝากกันในวันนี้ครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA (@FundTalk)

 

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top