FundTalk – กองทุนรวม FIF ที่คุณไม่ควรพลาด

แชร์บทความนี้

หากพูดกันเรื่องการลงทุนในกองทุนรวม ผมคิดว่านักลงทุนไทยควรให้ความสำคัญกับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ Foreign Investment Fund (FIF) เนื่องจากกองทุน FIF นั้นเปิดโอกาสที่ดีให้นักลงทุนไทย โดยช่วยให้สามารถกระจายเงินลงทุนไปยังต่างประเทศได้ ซึ่งการกระจายการลงทุน (Diversification) นี้เองที่หนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของการจัดสรรการลงทุน (Asset Allocation) คิดดูง่าย ๆ ครับ หากเราจัดสรรเงินลงทุนที่เรามีกระจุกอยู่ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ความเสี่ยงที่เราจะต้องเผชิญโดยตรงก็คือ ความเสี่ยงของประเทศนั้น (Country Risk) ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในด้านการเมือง ด้านกฎระเบียบ หรือจะเป็นด้านเศรษฐกิจก็ตาม อย่างเช่นประเทศไทยของเราที่มีปัญหาการเมืองเรื่องกีฬาสีติดต่อกันมา 3 ปีแล้ว หรือในอดีตที่เคยมีประกาศมาตรการ 30% ควบคุมเงินไหลเข้าประเทศก็ตาม วันนี้ผมจะมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณผู้อ่านครับ ว่ากองทุน FIF ในเมืองไทยประเภทใดที่ควรมีไว้สำหรับการจัดสรรเงินลงทุนระยะยาวของนักลงทุน

กองทุนรวม FIF ตราสารหนี้ (Fixed Income FIF)

ผมชอบกองทุนตราสารหนี้ในประเทศที่ออกโดยรัฐบาลของกลุ่ม Emerging Market เช่นประเทศบราซิล อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น เพราะผมมองว่าความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ของรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเหล่านั้นอยู่ในระดับที่สูง เช่น Yield ของพันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซีย 10 ปี ที่ระดับประมาณเกือบ 10% ประกอบกับทิศทางค่าเงินของประเทศในกลุ่ม Emerging Market มีแนวโน้มแข็งค่าจากการเกินดุลการค้า ปัจจุบันมีหลายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนครับที่มีกองทุนที่ลงทุนใน Emerging Market Bond ดังที่กล่าวข้างต้น

กองทุนรวม FIF ตราสารทุน (Equity FIF)

ในทฤษฎีการการจัดสรรการลงทุนโดยทั่วไป มักแนะนำให้นักลงทุนกระจายการลงทุนไปทั่วโลก เพื่อให้ได้ Risk adjusted return ที่เหมาะสม แต่ในมุมมองของผม ผมชอบที่จะลงทุนในหุ้นของประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีใน 1 – 3 ปีข้างหน้า ซึ่งได้แก่ ภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน แต่ไม่รวมญี่ปุ่น (Asia ex Japan) หรือประเทศในกลุ่ม BRIC ซึ่งได้แก่ บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน เป็นต้น และในช่วง 1 – 3 ปีข้างหน้านี้เองที่ผมไม่แนะนำให้เน้นลงทุนในกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มการเจริญเติบโตค่อนข้างต่ำ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันกองทุนรวม FIF ทีเสนอขายในบ้านเราก็มีกองทุนที่ผมกล่าวมาค่อนข้างครบไม่ว่าจะเป็น Asia Ex Japan หรือ BRICs

กองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในโภคภัณฑ์ (Commodity FIF)

อีกหนึ่งประเภทการลงทุนที่ผมคิดว่านักลงทุนควรให้ความสนใจ คือสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity)  ได้แก่ น้ำมัน, สินค้าเกษตร และทองคำ ทั้งนี้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกได้ปรับตัวลดลงเป็นอย่างมากในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมา เช่น ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากระดับ 140 เหรียญมาที่ 65 เหรียญต่อบาร์เรลในปัจจุบัน หรือราคาข้าวทีปรับตัวลดลงจากจุดสูงสุดที่ 24 เหรียญ มาที่ 13 เหรียญต่อ Hundredweight (ประมาณ 50 กิโลกรัม) ใน 1 – 3 ปีข้างหน้ามีโอกาสที่ดีที่เศรษฐกิจจะฟื้นไปพร้อมกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์เหล่านี้ครับ สุดท้ายเลยที่ขาดไม่ได้คือกองทุนทองคำครับ (อ่านบทความ “แบ่งเงิน ไปซื้อทอง” ได้ที่ http://fundmanagertalk.com/investment-talk-buy-gold/ )เป็นโอกาสที่ดีของนักลงทุนไทยครับ ที่เรามีกองทุนรวม FIF ทีลงทุนในน้ำมัน, สินค้าเกษตร และโภคภัณฑ์ สนอขายอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับท่านนักลงทุนที่สนใจจะศึกษาต่อในรายละเอียดของกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศแต่ละกองทุน ถึงขั้นตอนการซื้อขายผลประกอบการในอดีต หรือรายละเอียดของหลักทรัพย์ที่แต่ละกองทุนลงทุนแนะนำให้ศึกษาเริ่มจากเวบไซต์ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนที่ www.aimc.or.th ครับ นอกจากนี้ยังสามารถฝากคำถามไว้ได้ในเวบบอร์ดกองทุนที่ http://fundmanagertalk.com/forum/ โดยผมจะทยอยเอารายละเอียดของกองทุนต่าง ๆ รวมถึงผลประกอบการย้อนหลัง มานำเสนอให้กับเพื่อน ๆ นักลงทุน ผ่านทางช่องทางนี้ครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top