FundTalk – จะดูผลการดำเนินงานกองทุนรวม…ยาวแค่ไหนดี?

แชร์บทความนี้

นักลงทุนหลายๆท่านคงเคยถามตัวเอง หรือถามเพื่อนๆว่า ผลการดำเนินงานย้อนหลังกองทุนนี่ เชื่อถือได้แค่ไหนนะ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับนักลงทุนในตอนนี้ เมื่อเข้าไปดาว์นโหลด Fund Fact Sheet ของกองทุนหุ้นแต่ละบลจ. ออกมาดูก็คือ ผลการดำเนินงาน 1 ปี ดูสวยหรู ไม่ว่าจะเป็นกองทุนหุ้นไทย หรือกองทุนหุ้นต่างประเทศ ใครเพิ่งเข้ามาในตลาด พอเห็นแบบนี้ ก็พูดกับตัวเองทันทีว่า ดีกว่าเงินฝากตั้งเยอะ ลุย!!

แต่ช้าก่อนครับ…. ^^ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 ที่หุ้นขึ้นไป peak แถวๆ 900 จุด ต้นๆ ตอนนั้น Fund Fact Sheet ของกองทุนหุ้นในไทย หรือในต่างประเทศกองไหนก็ดูดีเหมือนกันหมด ไม่มีใครในตลาดคาดได้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกถึงจุดอิ่มตัวเสียแล้ว พอลงทุนปั๊ป เงินในกองทุนของเราก็ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ ตัวเลขผลการดำเนินงานใน Fund Fact Sheet ก็ลดตามลงมาเรื่อยๆจนเราคิดไปว่า โดนผู้จัดการกองทุนหลอกเสียแล้วสิ

ไม่ว่าใครจะเจอกับประสบการณ์แบบไหนมา ขออย่าให้คิดว่า “เราไม่สามารถนำผลการดำเนินงานในอดีตมาประกอบการตัดสินใจได้แล้ว” เรามาดูสาเหตุกันหน่อยนะครับ

1. ดูแค่เฉพาะกองที่ตัวเองคุ้นเคย ไม่ได้ดูเปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันของ บลจ.อื่น
2. คิดจะลงทุนแค่ 6 เดือน หรือ 1 ปี เลยดูย้อนหลังไปแค่ 6 เดือน กับ 1 ปี
3. ไม่สนใจภาวะเศรษฐกิจ หรือภาวะตลาด เพราะคิดว่า ผู้จัดการกองทุนจะดูให้ทุกอย่าง
4. ไม่สนใจดูรายละเอียดการถือหุ้นของกองทุนว่าเป็นกลุ่ม เสี่ยงต่ำ หรือเสี่ยงสูง เลือกแค่ Performance ย้อนหลังเท่านั้น
5. ไม่ดูผลการดำเนินงานย้อนหลังเลย เห็นเพื่อนๆหรือคนรอบข้างบอกว่าได้กำไรจากหุ้นมาแล้ว เลยซื้อตาม

จากสาเหตุทั้ง 5 ข้อ ดูแล้ว ใครติ๊กที่ข้อ 5. ด้วย ก็ถือว่าเหนื่อยกว่านักลงทุนคนอื่นเพิ่มขึ้นอีกหน่อย เพราะการลงทุนของคุณไม่ได้มาจากเหตุผล แต่มาจากอารมณ์และความอยากได้ (กิเลส) ล้วนๆ วิธีแก้ไขคือ ต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะตลาด นโยบายการลงทุน อีกซักหน่อย เพื่อให้มีข้อมูลอยู่ในหัวมากกว่าแค่ ซื้อเพราะคนอื่นเขาซื้อ แก้ไขนักลงทุนข้อ 5. ไปให้แล้ว เหลืออีก 4 ข้อนะครับ ต่อกันทีละข้อเลย ข้อที่ 1. ดูแค่เฉพาะกองที่ตัวเองคุ้นเคย ไม่ได้ดูเปรียบเทียบกับกองทุนประเภทเดียวกันของ บลจ.อื่น – ถึงเวลาที่หุ้นในตลาดตก NAV ของกองทุนประเภทเดียวกัน ก็คงจะตกลงมาเหมือนกัน แต่ % การลง นั้น แรงมาก แรงน้อยต่างกัน สาเหตุมาจาก แต่ละ บลจ. มีนโยบายการลงทุนที่แตกต่างกัน วิธีแก้ไขก็คือ เราต้องดูว่า กองทุนแบบไหนเสี่ยงสูง เหมาะกับตลาดขาขึ้น กองทุนไหนเสี่ยงต่ำ เหมาะกับตลาดขาลง หรือกองทุนในไม่นิยมตามภาวะตลาด เน้นหุ้นพื้นฐาน ลงทุนระยะยาว จ่ายปันผลดีๆ แค่นี้ เราก็จะมีตัวเลือกมาขึ้น

ข้อที่ 2. คิดจะลงทุนแค่ 6 เดือน หรือ 1 ปี เลยดูย้อนหลังไปแค่ 6 เดือน กับ 1 ปี – ส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่า นักลงทุนทั่วไปที่ตอบข้อนี้ จะรู้สึกว่าตัวเองเจ็บตัวมากกว่านักลงทุนที่ผิดพลาดเพราะ 4 ข้อที่เหลือ เนื่องจาก สำหรับกองทุนหุ้นแล้ว ระยะเวลา 6-12 เดือน ถือว่าสั้นไปสำหรับการประเมิณผลตอบแทนกองทุนหุ้น ซึ่งถือว่ามีความผันผวนสูง และมีวัฏจักรที่กินระยะเวลายาวนานกว่า 1 ปี ทำให้ หากนักลงทุนเข้ามาในตลาดช่วงที่เศรษฐกิจใกล้จุดอิ่มตัวแล้ว มีโอกาสขาดทุนสุง เหมือนรอบปี 2008 ที่ผ่านมา วิธีแก้ไขคือ ต้องปรับวิธีคิดครับ หากจะลงทุนในกองทุนหุ้น ระยะเวลาต่ำกว่า 1 ปี นั้นหมายถึงคุณกำลังเสี่ยงกับโอกาสขาดทุน มากกว่าคนที่มี Time Horizon ในการลงทุน 3 ปี 5 ปี เพราะพวกเขาจะใจเย็นมากกว่า มองภาพที่ไกลมากกว่า และไม่โดนความผันผวนของตลาดเล่นงานจนเกิดอารมณ์และตัดสินใจผิดพลาด แต่หากใครยังคิดว่า อยากลงทุนในระยะเวลาสั้นๆในกองทุนหุ้นจริงๆ ก็อาจจำเป็นต้องมีความรู้ในตลาดหุ้น วงจรเศรษฐกิจ ที่ลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก หรืออาจจำเป็นต้องใช้ Technical Analysis เข้ามาช่วยในการตัดสินใจ ก็น่าจะสามารถลดความเสี่ยงลงได้

ข้อที่ 3. ไม่สนใจภาวะเศรษฐกิจ หรือภาวะตลาด เพราะคิดว่า ผู้จัดการกองทุนจะดูให้ทุกอย่าง – ผู้จัดการกองทุนหุ้นไม่มีทางเลือกนะครับ เพราะเขาคิดว่า นักลงทุนที่ลงทุนกับเขา ต้องอยากได้หุ้น หากถือเงินสดเยอะเกินไป จะเข้าข่ายผิดกฎ กลต. เนื่องจากถือครองหุ้นต่ำกว่าสัดส่วนที่กำหนดไว้ (ปกติกำหนดไว้ว่าห้ามต่ำกว่า 65% ในรอบปีบัญชีนั้นๆ) จริงๆแล้วสามารถตอบคำถามข้อ 3. ด้วยคำตอบข้อ 2. เหมือนกัน คือ ผู้จัดการกองทุนคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว ไม่ใช่ระยะสั้นๆ เพราะในระยะสั้นความผันผวนจะเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่ว่าจะการเมือง โรคภัย หรือ ข่าวโคมลอย อะไรก็ตาม ล้วนทำให้ราคาหุ้นรายวันเปลี่ยนแปลงไปมาทั้งสิ้น แต่สุดท้ายแล้ว ถ้าเศรษฐกิจดีจริง บริษัทดีจริง ถึงแม้จะโดน Subprime ไปบ้าง ยอดขายลดลงไปบ้าง ก็น่าจะฟื้นกลับมาได้ ไม่ล้มหายตายจากตลาดไปอย่างตอนวิกฤตต้มยำปี 40 หากผู้จัดการกองทุนสามารถ Timing ตลาดได้ว่า นี่คือจุดสูงสุด นี่คือจุดต่ำสุดจริง ผมว่า เขาคงไม่ทำอาชีพนี้ ในทางตรงกันข้าม เป็นผม ผมก็ลาออกมาแล้วลงทุนเองดีกว่าที่จะต้องมานั่งวิเคราะห์งบ ทำ Company Visit ทั้งปี แล้วโดนนักลงทุนรายย่อยด่าใส่เมื่อตอนตลาดหุ้นลงแรงๆ ไม่มีใครในตลาด Timing ได้เก่งกว่ากันหรอกครับ มีแต่ว่า ใครสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีกว่ากันมากกว่า

ข้อที่ 4. ไม่สนใจดูรายละเอียดการถือหุ้นของกองทุน ว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่ำ หรือเสี่ยงสูง เลือกแค่ Performance ย้อนหลังเท่านั้น – ข้อนี่ก็เข้าข่าย มีข้อมูลในการตัดสินใจน้อยเกินไป ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมครับ ผลการดำเนินงานย้อนหลัง ไม่ได้บอกเราทุกอย่างว่าในอนาคตแล้วกองทุนจะดีเหมือนเดิม บอกเราแต่ว่า ที่ผ่านมาบริหารดียังไง สิ่งหนึ่งที่ยากฝากไว้คือ ขอให้นักลงทุนเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับดัชนีชี้วัด หรือ Benchmark ไว้เสมอ สำหรับกองทุนหุ้นไทยก็คือ SET Index นั้นหล่ะ เพราะหากกองไหนผลการดำเนินงานต่ำกว่า Benchmark เป็นระยะเวลายาวนาน แสดงว่า มีปัญหาเรื่องระบบการบริหารพอร์ตจริงๆแล้วละครับ แต่ถ้าเจอต่ำกว่าในระยะสั้นๆ แค่ 6 เดือน 1 ปี ก็ยังอาจตอบไม่ได้

สุดท้าย ยังไม่ได้ตอบคำถามหัวข้อเลยว่า เลยควรดูยาวเท่าไหร่ คำตอบคือ ยาวเท่าที่จะเป็นได้ อย่าดูแค่ระยะสั้นๆ เพราะการขาดทุนจากการลงทุน จริงๆแล้วไม่ได้เกิดจากสาเหตุที่เราดูผลการดำเนินงานย้อนหลังสั้นเกินไปเพียงอย่างเดียว ยังเกิดจาก เราขาดความรู้ ความเข้าใจในพฤติกรรมของตลาดหุ้น และพฤติกรรมการลงทุนที่เหมาะสมของตัวเราเองมากกว่าครับ

โชคดีในการลงทุนครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ชยนนท์ รักกาญจนันท์ รู้จักกันในนามแฝงในเว็บบอร์ดพันทิพย์ ห้องสินธร ว่า “Mr.Messenger” ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนทั้งในหุ้น และกองทุนรวมมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็น Strategy and Portfolio Performance Section Head ของฝ่ายธนบดี ธนาคารกรุงศรี
Posts created 16

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top