FundTalk – Mark to Market คืออะไร?

แชร์บทความนี้

บทความนี้ เอากลับมาเล่าใหม่อีกครั้งนะครับ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีนักลงทุนหน้าใหม่หลายท่าน มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการทำงานและกลไลของกองทุนรวม
วันนี้เลยถือโอกาสเอาบทความมาปัดฝุ่น และ Update ให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น

กองทุนรวมตราสารหนี้ ต้องมี การ Mark to Market นั้นเป็นสาเหตุที่นักลงทุนเพิ่งเข้ามาในตลาดรู้สึกงง ว่า เอ๊ะ ทำไม กองทุนตราสารหนี้ที่ว่าเสี่ยงต่ำๆ บางที เราเห็น NAV กองทุนติดลบได้เหมือนกัน

วันนี้มาคุยกันเรื่องการ Mark to Market นะครับ ที่ผ่านมาเพื่อนๆพี่ๆนักลงทุนคงได้ยินคำๆนี้อยู่บ่อยๆ บางคนอาจรู้คร่าวๆแล้วว่าคืออะไร ในขณะที่บางคนอาจไม่รู้เลยว่ามีผลกับหน่วยลงทุนที่ตัวเองถืออยู่ยังไง

จริงๆแล้วการ Mark to Market ไม่ใช่ทำกับเฉพาะกองทุนรวมตราสารหนี้เท่านั้นนะครับ ลองมาดูนิยามของมันก่อน

Mark to Market หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “การคำนวณมูลค่าทรัพย์สินสุทธิโดยให้สะท้อนราคาตลาดที่เป็นธรรม” (ยาวดีเหลือเกิน จำไปว่า Mark to Market นั้นหล่ะ ดีแล้ว) อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือ วิธีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่กองทุนถืออยู่ไม่ว่าจะเป็น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร ฯลฯ ให้เป็นมูลค่าตามตลาดหรือราคาตลาดปัจจุบัน หรือราคาล่าสุด ที่เกิดการซื้อขายจริงๆในวันนั้นๆ หรือวันก่อนก่อนหน้า (หากวันนั้นไม่มีการซื้อขาย)

จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เฉพาะตราสารหนี้เท่านั้นที่โดน Mark to Market จริงๆแล้ว ปัจจุบันกองทุนหุ้นในตลาด ก็ต้อง Mark to market ด้วยเช่นกันครับ แต่ในกรณีที่กองทุนลงทุนในหุ้นนั้น เราใช้ราคาปิดของหุ้นรายๆตัวนั้นๆอยู่แล้ว ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ก็คงพอจะทราบกันอยู่แล้ว จริงๆแล้วตราสารหนี้ก็เหมือนกันครับไม่แตกต่างกัน

แล้วการ Market to Market เกิดประโยชน์อะไรกับผู้ถือหน่วยลงทุน?
– เนื่องจากกองทุนรวมส่วนใหญ่จะมีผู้ลงทุนเข้า ๆ ออก ๆ อยู่ตลอดเวลา (ซื้อขายได้ทุกวันทำการ) จึงต้องมีการแบ่งส่วนทรัพย์สินให้แก่คนที่ออกไป หรือส่วนของเงินใหม่ที่จะเข้ามาอย่างเป็นธรรม และวิธี Mark to Market จะทำให้กองทุนสะท้อนฐานะและมูลค่าตามความเป็นจริงในแต่ละสิ้นวันได้ดีขึ้น ไม่เกิดการได้เปรียบ หรือ เสียเปรียบ สำหรับนักลงทุนเก่า และนักลงทุนใหม่
– อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่แท้จริงของกองทุนและบริษัทจัดการ ว่าพอร์ตการลงทุนนั้น มีความผันผวนด้านราคาของตราสารมากน้อยแค่ไหน อันจะทำให้นักลงทุนเข้าใจธรรมชาติของกองทุนนั้นๆได้ดีขึ้นครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ กองทุน Fixed Income Fund ทุกกองนั้น ปัจจุบัน Mark to Market ทุกวัน โดย NAV ย้อนหลังนั้น มีความผันผวนสูงสะท้อนให้เห็นความเสี่ยงด้านราคาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น (ปัจจุบัน หลายกองทุนพวก Short Term Fixed Income หรือ Money Market Fund บางกอง ก็นำวิธีการ Mark to Market ทุกวัน มาใช้คำนวน NAV แล้ว)

เพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้น เอาตัวอย่างแบบคร่าวๆไปดูนะครับ
สมมติ เราลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้อยู่แล้ว วันนี้ กนง.ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้มูลค่าพันธบัตรและตราสารหนี้ตัวอื่นๆที่กองทุนรวมถืออยู่สูงขึ้น หากไม่มีการ Mark to Market ให้ NAV สูงขึ้นตาม ผู้ลงทุนใหม่ที่เข้าลงทุนวันนี้ ก็จะได้ซื้อหน่วยลงทุนในราคาถูกเกินความเป็นจริง ขณะที่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมหากขายหน่วยลงทุนออกจากกองทุนจะได้ราคาหน่วยที่น้อยเกินไป
และในทางกลับกัน เมื่อดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น มูลค่าตราสารหนี้ที่กองทุนรวมถืออยู่ลดลง หากไม่มีการ Mark to Market เพื่อปรับ NAV ให้ลดลง จะกลายเป็นว่านักลงทุนที่เข้ามาในวันนี้ จะต้องซื้อหน่วยลงทุนแพงเกินจริง และหากนักลงทุนเดิมต้องการไถ่ถอนหน่วยลงทุนคืนในวันนี้ ก็จะได้รับเงินคืนมากเกินไป
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่ากองทุนจะถือตราสารอายุยาวเพียงใด (Duration port) การซื้อขายได้ทุกวันทำการของกองทุนเปิดนั้น หากไม่มีการ Mark to Market ก็จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบขึ้นครับ

ราคาตลาดของหลักทรัพย์ต่างๆ ที่จะใช้ในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของกองทุน ได้แก่
หุ้น : ใช้ราคาปิดในตลาดหลักทรัพย์
ตราสารหนี้..ใช้อัตราผลตอบแทนจากการซื้อขายครั้งล่าสุดในศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย
หน่วยลงทุน..ใช้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิต่อหน่วย (NAV) ที่คำนวณได้ ณ สิ้นวัน
เงินฝาก/ตั๋วสัญญาใช้เงิน..ใช้มูลค่าเงินต้นบวกด้วยดอกเบี้ยค้างรับ

วิธีการ Mark to Market จะไม่เวิร์ค ก็ต่อเมื่อ ตราสาร หรือสินทรัพย์ทางการเงินตัวนั้นมีสภาพคล่องต่ำ และเกิดการพยายาม Manipulate ราคาปิด อย่างกรณีกองทุน SPDR Gold Trust ที่จดทะเบียนที่สิงค์โปร์ ที่ถูกทำราคาเมื่อปลายปีที่แล้ว
ดังนั้น ในมุมของผู้จัดการกองทุน เขาก็ต้องคำนึงถึงสภาพคล่องของตราสารนั้นๆด้วย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนควรจะรู้ตั้งแต่แรก เพราะมีอยู่ในหนังสือชี้ชวนของกองทุนทุกเล่ม (Liquidity Risk) นะครับ

ต่อไปนี้ ก็รู้กันแล้วนะ ว่าทำไม กองทุนตราสารหนี้อายุ 3 เดือน 6 เดือน ที่ประมาณการณ์ผลตอบแทนให้เราตั้งแต่ต้น พอระยะเวลาผ่านไปยังไม่ครบกำหนด NAV ที่เห็นว่า ติดลบ มันเป็นเรื่องของการ Mark to Market ตราบใดที่ Issuer หรือ ผู้ออกตราสารนั้นยังไม่ล้มหายตายจาก ตราบนั้น เมื่อครบกำหนด เราก็จะได้ผลตอบแทนตามที่เขาบอกไว้นะครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ชยนนท์ รักกาญจนันท์ รู้จักกันในนามแฝงในเว็บบอร์ดพันทิพย์ ห้องสินธร ว่า “Mr.Messenger” ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนทั้งในหุ้น และกองทุนรวมมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็น Strategy and Portfolio Performance Section Head ของฝ่ายธนบดี ธนาคารกรุงศรี
Posts created 16

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top