InvestmentTalk – ปัจจัยพื้นฐาน มูลค่ายุติธรรม และความคาดหวัง

แชร์บทความนี้

มูลค่ายุติธรรม (Valuation)

หลาย ๆ ท่านอาจสงสัยว่าค่า P/E ของหุ้นแต่ละตัวควรอยู่ที่เท่าไร หุ้นบางตัวบางเวลาที่ดี ๆ อาจมีอัตรา P/E เพิ่มขึ้นไปได้ถึงกว่า 30 เท่า และหุ้นตัวเดียวกันบางเวลาที่อยู่ในช่วงวิกฤตก็สามารถมี P/E ปรับตัวลงต่ำกว่า 10 เท่าเช่นกัน สมมติว่ามีหุ้นบริษัทหนึ่งมีกำไรต่อหุ้น 1 บาท หากเราคิดที่ช่วง P/E 10 – 30 เท่าก็เท่ากับว่าราคาหุ้นที่เป็นไปได้นั้นอยู่ตั้งแต่ 10 – 30 บาท ซึ่งนับว่าเป็นช่วงที่กว้างมาก แล้วเราควรจะกำหนดเป้าหมายการลงทุนอย่างไรดี บ่อยครั้งที่ค่า P/E จะถูกนำไปใช้เปรียบเทียบกับหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน หรือ P/E ของตลาดหุ้นไทยก็ถูกนำไปเปรียบเทียบกันภูมิภาค ถ้าค่า P/E ต่ำกว่าก็เรียกว่าถูกว่า ถ้า P/E สูงกว่าก็เรียกว่าแพงกว่า แล้ว P/E ของหุ้นที่เราศึกษาควรจะถูกกว่าหรือแพงกว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกัน ผมแนะนำให้ใช้ “ปัจจัยพื้นฐาน” และ “ความคาดหวัง” เป็นตัวช่วยกำหนดครับ

ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental)

“ราคาหุ้น ระยะสั้นตามข่าว ระยะยาวตามกำไร” เป็นประโยคหนึ่งที่ผมชอบใช้ในการอธิบายการเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น สิ่งหนึ่งที่จะกำหนดว่า P/E ของหุ้นจะถูกหรือจะแพงก็มาจากการเติบโตของกำไร ถ้าบริษัทที่มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรมาก โดยมากค่า P/E ก็จะมีแนวโน้มสูง กลับกันถ้าบริษัทมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรต่ำค่า P/E ก้มักจะต่ำเช่นกัน

อย่างไรก็ตามตัวเลขการเติบโตของกำไรไม่ใช่ปัจจัยพื้นฐานหลักเพียงอย่างเดียว “คุณภาพของธุรกิจ” ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ P/E ถูกแพงได้เช่นกัน มีหลายบริษัทที่กำไรเป็นตัวเลขเติบโตไม่ได้สูงมากนักเช่น 10 – 15% แต่กลับมีอัตรา P/E สูงถึง 25 – 30 เท่า ส่วนนึงมาจากการที่นักลงทุนให้ค่ากับ “คุณค่าของธุรกิจ” บริษัทนั้นอาจอยู่ในธุรกิจที่มีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว มีตราสินค้าที่แข็งแกร่ง หรืออาจเป็นผู้ชนะในอุตสาหกรรม ดังนั้นการที่ตัวเลขการเติบโตของกำไรบางปีจะต่ำไปบ้าง นักลงทุนก็ยังคงชื่นชอบที่จะถือหุ้นบริษัทคุณภาพดีเหล่านี้

ความคาดหวัง (Expectation)

การปรับเพิ่ม/ลดประมาณการการเติบโตของกำไรโดยนักวิเคราะห์เป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อราคาหุ้นเช่นกัน แน่นอนว่าวันที่หลาย ๆ นักวิเคราะห์เข้ามาปรับลดประมาณการในวันเดียวกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในเชิงลบ หากมองในอีกแง่มุมหนึ่ง บริษัทที่บรรดานักวิเคราะห์แนะนำให้ซื้อทั้งตลาดก็อาจเป็นหุ้นที่มี “ความคาดหวังสูง” โดยนักลงทุน หากผลงานไม่ทำได้อย่างที่คาดก็อาจเกิดการปรับลดประมาณการ หรือเกิด “ความผิดหวัง” ได้เช่นกัน

ในทางกลับกันหากเราเจอบริษัทที่นักวิเคราะห์แนะนำ “ขาย” หรือ “ถือ” เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เรามั่นใจว่า “ปัจจัยพื้นฐาน” ดีและมี “มูลค่ายุติธรรม” ที่ไม่แพง การลงทุนในบริษัทที่ “ความคาดหวังต่ำ” แต่ “พื้นฐานดี” ก็สามารถสร้างกำไรได้อย่างดี โดยเฉพาะในวันที่นักวิเคราะห์ปรับเพิ่มประมาณการกำไร หรือปรับคำแนะนำจาก “ขาย” เป็น “ซื้อ”

ทั้งหมดก็เป็นแนวทางง่าย ๆ ในการวิเคราะห์หุ้นโดยใช้ 3 ปัจจัยที่นำมาเสนอในวันนี้ครับ สุดท้ายก็ขอแนะนำให้ท่านนักลงทุนใช้ทั้ง 3 ปัจจัยร่วมกันในการวิเคราะห์ และประสบความสำเร็จในการลงทุนครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top