InvestmentTalk – ความไม่เท่าเทียมกันของความคิด

แชร์บทความนี้

นักลงทุนเมื่อได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือความคิดเห็นของนักลงทุนท่านอื่นสำหรับบริษัทซักหนึ่งบริษัท ความคิดทางด้านลบสำหรับบริษัทนั้นจะมีผลกระทบกับความคิดมากกว่าความคิดทางด้านบวก สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะนักลงทุนกลัวความสูญเสียหรือผลของการขาดทุนมากกว่าสิ่งที่จะได้รับหรือกำไรที่จะเกิดขึ้น ผมขอเรียกความคิดนี้ว่า “ความไม่เท่าเทียมกันของความคิดทางด้านบวกและลบ” ซึ่งความไม่เท่าเทียมกันนี้จะส่งผลกระทบกับการลงทุนของเราอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเรามีหุ้นอยู่ 2 ตัวในพอร์ตการลงทุน หุ้นตัวหนึ่งมีผลกำไร 50% และอีกตัวหนึ่งขาดทุน 50% เราจะมีความรู้สึกอย่างไรกับหุ้นสองตัวนี้ ความรู้สึกของหุ้นที่ได้กำไรอีกตัวหนึ่งสามารถหักล้างกับความรู้สึกของหุ้นที่ขาดทุนอีกตัวได้หรือไม่ คำตอบคือ ไม่ เพราะเราจะมีความรู้สึกทางด้านความสูญเสียหรือผลของการขาดทุนมากกว่าความรู้สึกทางด้านกำไรเมื่อเปรียบเทียบในสเกลเดียวกัน ความไม่เท่าเทียมกันทางความคิดนี้ ส่งผลให้เวลาหุ้นตกอาจทำให้ความรู้สึกกังวลหรือความกลัวที่จะขาดทุนครอบงำจิตใจนักลงทุนมากกว่าช่วงเวลาที่หุ้นขึ้น ทำให้โอกาสที่นักลงทุนจะขายตามคนอื่นเป็นไปได้มากกว่าช่วงเวลาที่นักลงทุนจะซื้อตามเวลาหุ้นขึ้น พูดง่ายๆคือ นักลงทุนกลัวติดดอยมากกว่ากลัวตกรถไฟ เพราะการตกรถไฟเป็นการสูญเสียที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงเป็นเพียงความคิดที่ไม่ได้กำไรเท่านั้น แต่การติดดอยนั้นเป็นความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เวลาหุ้นตก ตลาดหุ้นมีแนวโน้มที่จะมีคนอยากขายมากกว่าคนที่อยากซื้อ ส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว อีกตัวอย่างหนึ่งของความคิดไม่เท่าเทียมกันคือ เราจะไม่ซื้อหุ้นเมื่อมีความคิดทางด้านลบกับหุ้นตัวนั้น แต่ก็ยังไม่แน่อีกว่าการซื้อหุ้นสำหรับความคิดทางด้านบวกกับหุ้นซักหนึ่งตัวจะเกิดขึ้น เพราะว่าเรายังคงให้น้ำหนักของการสูญเสียมากกว่าสิ่งที่จะได้รับ นี่อาจเป็นสิ่งที่ทำให้เราพลาดโอกาสในการทำกำไรจากผลของความคิดทางด้านลบโดยปราศจากการวิเคราะห์โดยใช้หลักเหตุผล

หากความไม่เท่าเทียมกันของความคิดทางด้านลบมีมากกว่าด้านบวก เหตุใดยังมีนักลงทุนยังคงมีหุ้นที่ขาดทุนอย่างมากและไม่ยอมขายออกไป สาเหตุน่าจะมาจากการขายขาดทุนหรือการยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นนั้น เป็นการยอมรับความผิดพลาดของนักลงทุนเอง เป็นการยอมรับว่าสิ่งที่ตัวเองคิดมันผิด คนเรามักไม่ค่อยยอมรับความผิดของตัวเองง่ายๆ เนื่องจากเรามักจะมีความโน้มเอียงในความคิดของตัวเองค่อนข้างสูง สำหรับความคิดทางด้านลบนั้นหากมันถูกฝังลงไปในความคิดของเราแล้ว เป็นการยากมากที่จะเปลี่ยนความคิดหรือการยอมรับความคิดใหม่ๆ ข้อมูลใหม่ๆ เช่น หากนักลงทุนเชื่อว่าบริษัทนี้ไม่ดี เป็นการยากมากที่จะเปลี่ยนความคิดว่าบริษัทนี้มันไม่ได้เป็นอย่างที่เขาคิด เพราะว่าการรับรู้ว่าตัวเองคิดผิดแล้วลงทุนในหุ้นตัวนั้น มันเป็นบ่งบอกว่าตัวเองยอมรับในสิ่งที่ตัวเองคิดผิด โดยปกติคนเราไม่ค่อยยอมรับผิด หรือหากจะเปลี่ยนความคิดก็ต่อเมื่อผลลัพธ์ได้แสดงออกมาแล้ว ซึ่งอาจทำให้เราพลาดโอกาสในการลงทุนหุ้นตัวนั้น

นักลงทุนที่ดีควรเปิดโอกาสสำหรับความคิดที่แตกต่างกับความคิดของตนเอง และทำการวิเคราะห์อย่างไร้อคติทั้งในแง่บวกและลบ มันสามารถช่วยให้คุณลดความผิดพลาดและลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อไรก็ตามที่คุณเปิดให้ความคิดใหม่ๆเข้ามาและทำการวิเคราะห์อย่างไร้อคติ จะทำให้เราได้ผลลัพธ์อย่างมีเหตุผล หากเราพบว่าหุ้นที่เราทำการวิเคราะห์ราคาปรับลดลงจากความวิตกกังวลหรือกลัวความสูญเสียของนักลงทุนคนอื่น หรือเป็นเพียงแค่ความโน้มเอียงทางอารมณ์ที่ไร้เหตุผล หากคุณเป็นนักลงทุนที่มีเหตุผลเพียงพอนั่นจะเป็นโอกาสที่สำคัญของคุณในการที่จะลงทุนในหุ้นตัวนั้น

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ เศรษฐา ปวีณอภิชาต จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีประสบการณ์การทำงานด้านวิศวกรติดตั้งระบบสื่อสาร ในตำแหน่งวิศวรกร กับบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง และบริษัทเนทแอนคอนเทนด์ (ไทยแลนด์) รวมระยะเวลาการทำงาน 3 ปี จากนั้นคุณ เศรษฐาได้ทำกาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจสาขาด้านการเงิน ที่สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเริ่มทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 ในตำแหน่งนักวิเคราะห์การลงทุน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุน ตราสารทุนภายในประเทศ
Posts created 9

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top