พลิกวิกฤตเป็นโอกาส “ลงทุนหุ้นด้วยปรัชญา 3 ห่วง”

แชร์บทความนี้

ว่าด้วยเรื่องสไตล์การลงทุนหุ้น ปัจจุบันมีหลากหลายแนวทางด้วยกัน ทั้งแนวทางแบบ Top Down ที่เน้นการปรับพอร์ตด้วยการมองปัจจัยมหภาค หรือดูระดับอุตสาหกรรม หรือแนวทางแบบ Bottom Up ที่เน้นการวิเคราะห์เลือกเป็นรายบริษัทเป็นหลัก นอกจากนี้ที่เห็นได้เยอะก็ยังมีแนวทางแบบ Technical Analysis ที่เน้นการดู Chart ที่มีเครื่องมือต่าง ๆ มากมาย เช่น MACD, RSI, MA ฯลฯ วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังถึงปรัชญาการลงทุนหุ้นแบบ Bottom Up ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนซีไอเอ็มบี พรินซิเพิลที่ผู้เขียนทำงานอยู่ครับ หลังจากที่ผู้เขียนได้ทำงานอยู่กับแนวทางนี้มาประมาณ 1 ปี คิดว่าเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ และใช้ได้จริง

ที่ CIMB-Principal การลงทุนในหุ้นจะเน้นที่แนวทางแบบ Bottom-up เป็นหลัก คือการวิเคราะห์เจาะลึกเป็นรายบริษัท ขั้นตอนการทำงานก็เป็นไปอย่างง่าย ๆ ดังนี้

  1. Pre-Visit ก่อนจะไปพบปะเยี่ยมเยียนกิจการ นักวิเคราะห์ (Analyst) ซึ่งบ่อยครั้งผู้จัดการกองทุน (Fund Manager) ก็ต้องรับบทบาทนักวิเคราะห์เอง จะต้องทำการศึกษาบริษัทที่จะไปก่อน ตั้งแต่ตัวธุรกิจ ขั้นตอนการทำงาน กลยุทธ์ โครงสร้างงบการเงิน ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร บอร์ด และนำข้อมูลมาหารือร่วมกับทีมงานเพื่อค้นหาว่าบริษัทที่กำลังศึกษามีจุดเป็น จุดตายอยู่ที่ไหน และร่วมกันคิดคำถามว่าเราจะตั้งคำถามอะไรกับผู้บริหารของบริษัทที่กำลังจะไปเจอ โดยคำตอบของคำถามนั้นจะต้องเข้ามาเติมเต็มการวิเคราะห์ และนำไปสู่การตัดสินใจลงทุนในที่สุด
  2. Company Visit เป็นขั้นตอนที่ผู้เขียนชอบที่สุด มีเพียงไม่กี่อาชีพในโลกเท่านั้นที่จะทำให้เราได้พบกับผู้บริหารสูงสุดของบริษัทระดับประเทศ ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ได้ฟังประสบการณ์ วิธีคิด ดี ๆ จากนักธุรกิจระดับต้น ๆ ของประเทศ บ่อยครั้งที่การ Company Visit บริษัทหนึ่ง จะได้ข้อมูลสำคัญของอีกบริษัทที่อาจเป็นคู่ค้า หรือคู่แข่งของบริษัทที่เราไปเยี่ยมชม สำคัญคือการตั้งคำถามกับผู้บริหาร เราต้องถามคำถามที่ไม่ได้เป็นการละลาบละล้วงเกินไป แต่เป็นคำถามสำคัญที่ช่วยเติมเต็มข้อมูลที่เรามี บางทีหนึ่งบริษัทต้องไปเยี่ยมชมหลายครั้งถึงจะได้คำตอบที่ต้องการ
  3. Post-Visit คือการนำข้อมูลตั้งหมดมาปะติดปะต่อกัน ซึ่งที่ขั้นตอนนี้เองที่ “ปรัชญา 3 ห่วง” จะได้นำมาใช้ในการวิเคราะห์ นั่นคือการค้นหาหุ้นของบริษัทที่มี 3 ลักษณะสำคัญ ดังนี

3.1 Fundamental Change หรือ ปัจจัยพื้นฐานที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะกำไรของบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโต ในที่นี้ผู้เขียนมักมองหาระดับการเติบโตของกำไรประมาณ 15 – 20% ขึ้นไปใน 1 – 3 ปีข้างหน้า สำคัญอีกอย่างคือ Earning Visibility นั่นคือความชัวร์ของการเติบโตของกำไร ยิ่งมั่นใจได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี กระแสเงินสดของบริษัทก็มีความสำคัญ โดยเฉพาะความเพียงพอของกระแสเงินสดที่จะนำไปลงทุนต่อในอนาคต และยังเหลือพอไว้สำหรับปันผลให้ผู้ถือหุ้น นอกจากนี้การทำความเข้าใจในปัจจัยทางคุณภาพเช่น กลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ธรรมาภิบาล ก็สำคัญเช่นกัน

3.2 Valuations เมื่อเจอบริษัทที่พื้นฐานดีแล้ว สิ่งถัดไปก็คือ Valuations ว่าหุ้นถูกหรือแพง ว่าด้วยเรื่องการประเมินมูลค่านั้นมีมากมาย เช่น Free Cash Flow, Enterprise Value, Relative Value เป็นต้น ส่วนตัวผู้เขียนชอบใช้เครื่องมือง่าย ๆ อย่าง P/E และ PEG พยามยามหาหุ้นที่พื้นฐานดี และ PEG ต่ำ ๆ สำหรับผู้เขียนมองว่าต่ำกว่า 0.75 ก็เริ่มถือว่าใช้ได้ มีอีกมุมหนึ่งที่สำคัญคือ หุ้นโตเร็ว มีโอกาสทำกำไรได้มากว่าหุ้นโตช้า ลองดูตัวอย่างนี้ครับ

หุ้น ABC กำไรโตปีละ 20% P/E 20 เท่า EPS ปัจจุบัน 1 บาท ราคาหุ้นปัจจุบัน 20 บาท

หุ้น DEF กำไรโตปีละ 10% P/E 10 เท่า EPS ปัจจุบัน 1 บาท ราคาหุ้นปัจจุบัน 10 บาท

ผ่านไป 1 ปี สมมติว่าตลาดให้ค่า PEG 1 เท่าเช่นเดิม และแนวโน้มการเติบโตทั้งสองบริษัทยังเป็นเช่นเดิม

หุ้น ABC มี EPS 1.2 บาท คูณ P/E 20 เท่าจะมีราคา 24 บาท หรือกำไร 20%

หุ้น DEF มี EPS 1.1 บาท คูณ P/E 10 เท่าจะมีราคา 11 บาท หรือกไร 10%

ผู้เขียนจึงชอบมองหาหุ้นโตเร็ว แต่ต้องโตเร็วอย่างแข็งแกร่งด้วย คือมี Earning Visibility เพราะหุ้นโตนั้น High Risk / High Return ตลาดมีความคาดหวังการเติบโตสูงจึงให้ค่า P/E สูง เวลากำไรออกมาผิดหวังหุ้นกลุ่มนี้ก็จะลงแรงเช่นกัน ดังนั้นหากคิดจะเล่นหุ้นโตเร็ว การทำการบ้านสำคัญมาก ยิ่งรู้มากกว่า ยิ่งได้เปรียบครับ

3.3 Expectations วงกลมห่วงสุดท้าย ที่ต้องมองหาคือ บริษัทที่ยังไม่ถูกค้นพบ “Undiscovered Company” บางกรณีเราเจอบริษัทที่ดี ในราคาที่เหมาะสม เมื่อบริษัทนั้นผลประกอบการออกมาดีอย่างที่คาด ตลาดก็จะเริ่มมาสนใจ บางครั้งนักวิเคราะห์ของ Broker ต่าง ๆ ก็จะเริ่มเข้ามาออกบทวิเคราะห์ เมื่อบริษัทถูกค้นพบโดยตลาด ก็จะทำให้ราคาหุ้นถูก Unlock ปรับตัวขึ้นไปตามพื้นฐาน อีกกรณีหนึ่งที่ต้องมองหาคือ การเติบโตที่ถูกมองข้าม (Unperceived Growth) คือบริษัทที่นักวิเคราะห์มองว่าโตช้า แต่จากการทำการบ้านเราพบว่ากำลังจะมี Fundamental Change และกลายเป็นหุ้นโตเร็ว การเข้าลงทุนในหุ้นลักษณะนี้มีโอกาสที่ดีที่หุ้นจะถูก Re-Rate Valuation ไปซื้อขายที่ Valuations แพงขึ้น เนื่องจากเมื่อกำไรออกมาโตกว่าที่ตลาดคาด นักวิเคราะห์ก็จะปรับประมาณกำไรเพิ่ม ปรับราคาเป้าหมายเพิ่ม ซึ่งเป็นตัวเร่งอย่างดีที่จะทำให้ราคาหุ้นปรับตัว

ทั้งหมดก็เป็นแนวทางการลงทุนแบบ Bottom Up ตามสไตล์ของบริษัทที่ผู้เขียนทำงานอยู่ครับ การเลือกหุ้นแต่ละตัวเข้ามาไว้ในพอร์ต ถ้าเจอตัวที่มีครบทั้ง 3 ห่วง คือพื้นฐานกำลังเปลี่ยนแปลงเติบโตดีขึ้น Valuation ไม่แพง และตลาดยังไม่รับรู้ ก็จะเป็นหุ้นที่กองทุนเข้าลงทุน แต่ก็ต้องยอมรับครับว่าไม่ง่ายที่จะเจอ “หุ้น 3 ห่วง” ได้บ่อย ๆ เหมือนกัน ผู้เขียนหวังว่าแนวคิดข้างต้นจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนนักลงทุนที่เป็นแนวปัจจัยพื้นฐาน (Fundamentalist) นะครับ

 

เจษฎา สุขทิศ, CFA

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top