Investment Talk – ว่ากันด้วยเรื่องของ Elliott Wave Principle ตอนที่ 2

แชร์บทความนี้

บทความตอนแรก ผมได้เขียนถึงหลักการอย่างง่ายของ Elliott Wave Principle อันลือลั่นไปแล้ว ถึงแม้โดยทฤษฏี มันจะดูเข้าใจง่ายๆ แต่ในเชิงปฏิบัติแล้ว ทฤษฏ๊นี้กลับถูกใช้โดยมีความแม่นยำค่อนข้างต่ำ และอาศัยความชำนาญบวกประสบการณ์ของนักวิเคราะห์เองในการทำนายราคาในอนาคต แถมในตัวหลักการเอง ก็กลับมีข้อยกเว้น และหลักการย่อยๆอีกมากมายหลายอย่าง มาในครั้งนี้ ผมตั้งใจจะลงลึกไปอีกขั้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจจะใช้ทฤษฏีนี้จริงๆ ไม่ใช่แค่นั่งอ่าน นั่งมองสิ่งที่นักเทคนิคเขาวาดไว้ให้เราดูเท่านั้น แต่เพื่อให้เราได้ฝึกนับคลื่น และใช้จินตนาการของตัวเองให้ได้มากขึ้นด้วย

ครั้งที่แล้ว ผมบอกไปว่า ในคลื่นลูกใหญ่ มีคลื่นลูกย่อย ในคลื่นขาขึ้น (Impulse Wave) จะมี 5 คลื่นย่อย และในคลื่นขาลง (Corrective Wave) จะมี 3 คลื่นย่อย แต่ละคลื่น นักลงทุนในตลาดมักมีพฤติกรรมอย่างไร มาคราวนี้ เรามาดูกฏย่อยๆให้เป็นจุดสังเกตมากขึ้นไปนะครับว่า เรานับคลื่นมาถูกแล้วหรือเปล่า

กฏข้อแรก Wave 3 ต้องไม่สั้นที่สุด
ลองกลับย้อนไปดูรายละเอียดคลื่น 3 ในบทความตอนแรกดูนะครับ ผมเขียนไว้ว่า “เมื่อเทียบกับลูกที่ 1 และลูกที่ 2 แล้ว ตลาดมีความมั่นใจมากขึ้น โดยปกติแล้ว คลื่นลูกที่ 3 นี้ จะเป็นคลื่นที่นักลงทุนรายย่อย ได้กำไรมากที่สุด”
คำว่า ไม่สั้น หมายถึง อัตราการได้กำไรนับจากจุดเริ่มต้นของคลื่นลูกที่ 3 ไปจนสุดปลายคลื่นของลูกนี้ ต้องมีเปอร์เซ็นต์มากกว่าหรือเท่ากับคลื่นลูกที่ 1 หรือ 5 ซึ่งเป็นคลื่นขาขึ้นเหมือนกัน ถ้านักลงทุนคนไหนนับเพลินๆแล้วกลับมาเห็นว่า คลื่นที่ตัวเองนับไปนั้น คลื่น 3 สั้นกว่าลูกที่ 1 หรือลูกที่ 5 ก็เชื่อได้เลยว่าผิด ต้องนับใหม่อีกรอบนะครับ

กฏข้อที่สอง Wave 2 มักจะประกอบด้วยคลื่นย่อย a-b-c  และต้องไม่ต่ำกว่าจุดเริ่มต้นของ Wave 1
แต่… คลื่นย่อย a-b-c ของ Wave 2 อาจไม่ปรากฏในกราฟรายวัน โดยมักจะไปเกิดให้กราฟราย 120 นาที หรือกราฟ 60 นาทีแทน ทั้งนี้ หากเมื่อไหร่ก็ตามที่เรานับคลื่นแล้วดันเห็นว่า Wave 2 ลงมาแรงกว่าจุดเริ่มต้นของ Wave 1 ให้รู้ทันทีว่าผิดครับ

เอาเฉพาะกฏแค่ 2 ข้อนี้ ก่อนนะครับ แค่คุณจำได้แค่นี้ คุณก็จะได้กลยุทธ์ในการเข้าลงทุนในจังหวะที่ถือว่ายอดเยี่ยมในมุมมองของนักเทคนิค 1 จุด ทันที นั้นก็คือ การเข้าซื้อในช่วงเริ่มต้นของ Wave 3 นั้นเอง ตามรูปครับ

ขั้นแรกก็ดูก่อนว่า ขาลงที่เราเห็น (รูปแรก) ลงมาต่ำกว่าจุดเริ่มต้นของคลื่นลุกที่ 1 หรือเปล่า (เส้นประสีแดง) หากไม่ต่ำกว่า และมีการดีดตัวขึ้นไป ให้เตรียมเงินไว้ทันที

ขั้นที่สอง หากราคาหุ้นหรือดัชนีสามารถทะลุผ่านจุดสูงสุดของคลื่นลูกก่อนหน้านี้ได้ (รูปที่สอง) หน้าที่ของนักลงทุนก็คือ “ซื้อตาม” (Follow Buy) นั้นเอง เพราะมีโอกาสสูงมากที่คลื่นลูกนี้จะเป็น Wave 3 ซึ่งเมื่อรวมกับกฏที่ว่า “Wave 3 ต้องไม่สั้นที่สุด” นั้นก็หมายความว่า กำไรจากการเข้าซื้อลงทุนตรงจุดนี้ มีสูงมากนั้นเองครั้บ

คราวนี้ มันมีหลายกรณีที่ไม่เป็นอย่างที่เราหวังไว้ ยกตัวอย่างเช่น เด้งแล้ว แต่ไม่สามารถผ่านจุดสุงสุดของ Wave 1 ไปได้ หรือผ่านไปได้ แต่ดันโดนเทขายลงมาทำให้ราคาต่ำกว่าจุดสูงสุดของ Wave 1 อีกครั้ง ถ้าเจออย่างนี้ สิ่งที่ควรทำก็คือ ตัดขาดทุน (Cut Loss) ออกไปก่อน เพราะรูปแบบโครงสร้างราคา ไม่ได้เป็นไปตามที่เรามองไว้นะครับ

จะเห็นว่า ด้วยการนำหลักการ Elliott Wave มาใช้แค่นี้ เราก็กลยุทธ์การลงทุนแบบง่ายๆ แต่ประสิทธิภาพสูงไปแล้วหนึ่งกลยุทธ์ นั้นก็คือ “Buy The Breakout” หรือ ซื้อเมื่อทำจุดสูงสุดใหม่ (Higher High) จนทำให้นักเทคนิคหลายคนปรับไปใช้เป็นกลยุทธ์เทรด ถึงแม้นับคลื่นไม่เป็น แต่พอเห็นรูปแบบนี้ปั๊บ ก็ซื้อปุ๊บ แถมโอกาสทำกำไรก็สูงด้วย

กฏข้อสาม Wave 4 จะแรงและเร็ว แต่จะต้องไม่ต่ำกว่า Wave 1

คลื่นลูกที่ 4 (ปรับฐาน) ลงลึกเท่าไหร่ก็ได้ แต่ต้องไม่ต่ำกว่าจุดสุงสุดของคลื่นลูกที่ 1 หากต่ำกว่า ที่เรานับมาแสดงว่าผิดหมด ต้องเริ่มนับใหม่ ในบทวิเคราะห์ทางเทคนิค หรือการวางแผนของนักเทรดทั้งหลาย สมมติว่าอยู่ในคลื่นลูกที่ 3 ด้วยกฏข้อนี้ เขาจะใช้จุดสูงสุดของคลื่นลูกที่ 1 เป็นแนวรับสำคัญ ทันทีที่แนวรับดังกล่างแตกทลายลงมา ก็แปลว่า ราคาหุ้นหรือดัชนีนั้นๆเข้าสู่ขาลง จุดนี้จึงถือเป็นจุด Stop Loss ที่สำคัญอีกหนึ่งจุดครับ ข้อสังเกตอีกอย่างก็คือ ความแรงของ Wave 4 นี่ ส่วนใหญ่จะแรงกว่า Wave 2 ซึ่งเป็น Corrective Wave เหมือนกัน ความยากก็คือ อาจลงแบบม้วนเดียวจบ แล้วตามด้วยการเข้าสู่ Wave 5 ทันทีก็ได้ ดังนั้นนักลงทุนที่เข้าลงทุนในช่วงนี้ ถือว่า เหนื่อยมากครับ ต้องทนทั้งความเหวี่ยงความผันผวนที่สูงขึ้น แถม Upside จากการลงทุนก็น้อยกว่านักลงทุนที่ลงทุนในช่วงคลื่นลูกที่ 3 ไปแล้ว ใครที่ไม่ต้องการลงทุนแบบถือยาว หากมองว่าราคาหุ้นอยู่ในคลื่นลูกที่ 4 แนะนำ ลงทุนแบบระยะสั้น และกำหนดจุด Stop Loss ที่บอกไว้ดีๆ และทำตามวินัยอย่างเคร่งครัดครับ

คราวนี้ มาถึงคำถามที่นักลงทุนส่วนใหญ่ต้องการคำตอบ นั้นก็คือ ถ้าเราซื้อ เราจะไปขายตรงไหน?

ในการวิเคราะห์ทางปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) ก็มีราคาเป้าหมาย Fair Value ไว้ให้เราดู หรือถ้าเป็น Value Investor ตัวจริง ก็ถือยาวจนกว่าปัจจัยพื้นฐานของราคาหุ้นจะเปลี่ยน แต่ถ้าเป็น VVI (Very Value Investor) อย่าง Warren Buffet นี้ เขาบอกว่า ระยะเวลาการถือหุ้นซักตัวของเขาก็คือ “ตลอดกาล”

แต่นักเทคนิค ไม่ต้องการอย่างนั้นครับ และตามหลักการ Elliott Wave Principle ก็เห็นชัดว่า หลักการนี้เชื่อว่า ราคาหุ้น มีขึ้นมีลง และเมื่อเรารู้ว่ามันจะลง แล้วเราจะถือมันไปเพื่ออะไร จริงไหม?

การที่ราคาหุ้นจะมีเด้ง (Rebound) หรือปรับฐาน (Retrace) ให้เห็นนั้น การจะบอกว่าไปได้ถึงไหน โดยส่วนใหญ่จะใช้ Fibonacci Numbers มาจับกับหลักการ Elliott Wave ครับ

Fibonacci Numbers คืออะไร?

Fibonacci Numbers ถูกค้นพบโดยนักคณิตศาสตร์ชาวอิตาลีที่ชื่อว่า “ลีโอนาโด ฟีโบนักชี” เขาได้สังเกต และศึกษาปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น รูปแบบของฟ้าแลบ รูปแบบสัดส่วนของผลไม้ หรือรูปแบบของเปลือกหอยทาก เป็นต้น การศึกษาของเขาพบว่า การเกิดของ ปรากฏการณ์เหล่านี้มีรูปแบบที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยนำมาคิดเป็นตัวเลขทางคณิตศาสตร์ คือ 1 1 2 3 5 8 13 21 34 55 89 ….และต่อ ๆ ไป ซึ่งใช้วิธีการจัดเรียงตัวเลขจากการนำตัวเลขที่อยู่สองตัวข้างหน้าบวกกัน ผลลัพธ์ที่ได้จะเป็นตัวเลขตัวถัดไป เช่น 1+1=2, 1+2=3, 2+3=5, 3+5=8 ไปเรื่อยๆ

ความมหัศจรรย์ ของ Fibonacci อยู่ตรงนี้ครับ นั้นก็คือ ลำดับ Fibonacci จะมีอัตราส่วนจากการหารตัวเลขหลังด้วยตัวเลขหน้า แล้วได้ผลัพทธ์ใกล้เคียงกับ 1.618 โดยเริ่มจากตัวเลขค่าที่สี่เป็นต้นไป เช่น 5 หารด้วย 3, 8 หารด้วย 5, 13 หารด้วย 8, 21 หารด้วย 13 (ลองกดเครื่องคิดเลขกันดูก็ได้ครับ) และเมื่อตัวเลขยิ่งเพิ่มมากขึ้น ผลัพธ์จากการหารตัวเลข 2 ตัว ก็ยิ่งเข้าใกล้อัตราส่วน 1.618 นี้ก็ยิ่งมากขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด คนโบราณจึงเรียกชื่อตัวเลข 1.618 นี้เป็นภาษากรีกโบราณว่า PHI (ฟี) หรือบางครั้งถึงกับเรียกว่า “อัตราส่วนทองคำ (Golden ratio)”

แล้วเราเอา 1.618 ตัวนี้มาทำอะไร?

            ก็ในเมื่อมันเป็นตัวเลขมหัศจรรย์ นักลงทุนในอดีตที่เชื่อว่า การเคลื่อนไหวของราคาหุ้น ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ดังนั้นการเด้ง (Rebound) หรือปรับฐาน (Retrace) ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น มันก็น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับ Golden Ratio อยู่ ไม่มากก็น้อย เมื่อแปลงสัดส่วน Golden Ratio เป็นเปอร์เซ็นต์ เราก็จะได้ตัวเลขสำคัญๆบางตัว ดังนี้ 38.2% (ส่วนกลับของ 61.8%) 61.8% 161.8% 261.8% 423.6%

คราวนี้ ก็มาถึงขั้นตอนครับ
1. มองภาพคลื่นใหญ่ หาจุดเริ่มต้น (Wave 1) ให้เจอ หรือหากหาจุดสิ้นสุดของ Wave C ในรอบที่แล้วได้ เราก็ได้ Wave 1 ของรอบใหม่
2. พิจารณาว่าเราอยู่ในคลื่นลูกที่เท่าไหร่ 1-2-3-4-5 หรือ a-b-c เพื่อคะเนว่า ตัวเลขแนวต้าน-แนวรับตรงไหน น่าจะสำคัญ สำหรับคลื่นลูกนั้น
3. หากลองนับแล้ว ไม่รู้ว่าคลื่นใหญ่มันจะไปจบแถวไหน ก็วัดคลื่นย่อยช่วย เช่นอยู่ใน Wave 3 และไม่แน่ใจคลื่นลุกนี้ใกล้จะจบหรือยัง ก็ให้ขยายเข้าไปดูกราฟราย ชม. เพื่อดูคลื่นย่อย เราอาจจะพบว่า คลื่นย่อยก่อตัวครบ 5 คลื่นแล้ว กำลังจะปรับฐาน นั้นก็แสดงว่า ในคลื่นใหญ่ เรากำลังเข้าสู่ Wave 4 เมื่อเห็นอย่างนี้ ก็ล็อคกำไรออกมาก่อนก็ได้
4. การปรับฐาน (Retrace) ที่เกิดขึ้น ให้ใช้ Golden Ratio มาช่วยหาแนวรับ นั้นก็คือ ใช้จุดเริ่มต้นของคลื่นนั้นเป็น 0% และใช้ปลายยอดของคลื่นนั้นเป็น 100% เพื่อวัดหา Fibonacci Retracement เราก็จะได้แนวรับทางทฏษฏี Fibonacci ที่อยู่ที่สัดส่วน 38.2% และ 61.8% (โดยปกติจะเพิ่ม 50% เข้าไปอีกตัว) และเมื่อใช้ Fibonacci กับกฏ 3 ข้อที่บอกไว้ตอนต้น ความแม่นยำก็เพิ่มขึ้นสูงเลยทีเดียวครับ

สำหรับการหาราคาเป้าหมาย (Target Price) ก็ไม่ยาก โดยปกติ หากเจอการปรับฐาน เราจะใช้แนวต้านแรก ก็คือ จุดสูงสุดเดิมของคลื่นลุกก่อนหน้าถูกไหมครับ แต่ถ้าราคาหุ้นดีดมาไม่ถึงจุดสูงสุดเดิม ก็มีแนวโน้มดีดขึ้นมาได้ 38.2% 50% และ 61.8% ของจุดสุงสุดของคลื่นลูกก่อนหน้ากับจุดต่ำสุดของการปรับฐานที่เพิ่มจะเกิดขึ้น

แต่หากราคาหุ้นสามารถทะลุผ่านจุดสุงสุดเดิมได้ ทำ Higher High (เหมือนตัวอย่างการเข้าสู่ Wave 3 ในช่วงต้นของบทความ) ราคาเป้าหมาย ก็คือ 161.8% 261.8% หรือหากเป็นคลื่นที่แรงจริงๆ ก็สามารถวิ่งขึ้นได้ถึง 423.6% ทีเดียว

อ่านมาถึงตรงนี้ ผมยอมรับว่าเงื่อนไข และการใช้ Elliott Wave นั้นถือว่าเยอะและยากพอสมควร หลักการที่ผมเขียนถึงในบทความ เป็นหลักการอย่างง่าย (นี้ง่ายแล้วนะ ฮาๆ) แต่ข้อดีของหลักการ Elliott Wave ก็คือ จุดเข้าซื้อตามหลักการ มีไม่มาก และเป็นช่วงกรอบแคบๆ หากผู้ใช้ มีความขำนาญ และมีประสบการณ์ ความแม่นยำของมันจะสูงมากนะครับ

ปล. ใครที่ไม่เชื่อการวิเคราะห์ทางเทคนิคแบบนี้ หรือมองว่ายากเกินจะเข้าใจ แนะนำให้กลับไปดู Fundamental Analysis น่าจะดีกว่ามานั่งเถียงกันว่า อะไรดี อะไรไม่ดี เพราะ การลงทุนไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว สิ่งที่เราต้องการก็คือ กำไรจากการลงทุน แต่วิธีการให้ได้มันมา มันย่อมแตกต่างกันไปตามจริตนิสัยและ ความถนัดของแต่ละคนนะครับ 🙂

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ชยนนท์ รักกาญจนันท์ รู้จักกันในนามแฝงในเว็บบอร์ดพันทิพย์ ห้องสินธร ว่า “Mr.Messenger” ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนทั้งในหุ้น และกองทุนรวมมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็น Strategy and Portfolio Performance Section Head ของฝ่ายธนบดี ธนาคารกรุงศรี
Posts created 16

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top