InvestmentTalk – กลัว!!

แชร์บทความนี้

ตลาดหุ้นไทยที่ผ่านมามีการปรับตัวขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา หากตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้น (Bull market) ทุกคนล้วนแต่มีความยินดีปรีดาที่สามารถทำกำไรได้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการเลือกหุ้นของแต่ละคน แต่ก็ยังแฝงไว้ในความกังวลว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้นานแค่ไหน หากปรับตัวขึ้นต่อจะซื้อตามตลาดเพราะกลัวตกขบวนรถไฟดีหรือไม่ หรือว่าถ้าตลาดปรับตัวลง จะกลับเข้าไปซื้อที่จุดรับที่เท่าไร หรือความกังวลที่ว่าขายไปแล้วแต่หุ้นกลับขึ้นต่อ ทำให้รู้สึกเสียดายที่รีบขายเร็วไปหน่อย ในทางกลับกันหากตลาดอยู่ในช่วงขาลง (Bear market) นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดต่างเศร้าหมอง รู้สึกหมดกำลังใจกับตลาดหุ้นอาจยอมตัดขายขาดทุน แต่ยังมีบางคนมีความหวังว่าตลาดน่าจะมีรีบาวด์กลับมาบ้างจะได้ขายขาดทุนน้อยลง หรือบางคนก็ปล่อยเลยตามเลยไหนๆก็ขาดทุนเยอะแล้ว ขายไปก็เสียดายเปลี่ยนตัวเองจากนักลงทุนระยะสั้นเป็นนักลงทุนถือยาว (ไม่ใช่นักลงทุนระยะยาว) แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับนักลงทุนบางกลุ่มที่เห็นว่าช่วงตลาดขาลงเป็นโอกาสในการเข้าไปซื้อหุ้นราคาถูก แต่ก็ยังมีความกลัวว่าตลาดอาจจะลงต่อ ก็อาจส่งผลให้เป็นชาวดอย ทำให้เกิดความลังเลใจในการที่จะเข้าซื้อ สุดท้ายก็อาจที่จะกลับเข้าไปซื้อในราคาที่สูงกว่าในตอนแรก

เหตุการณ์ข้างต้นนักลงทุนหลายท่านคงเคยพบกับสถานการณ์ข้างต้นด้วยตัวเอง หรือว่าได้ยินจากคนอื่นเหล่าให้ฟัง แต่สิ่งที่ผมอยากจะชี้ให้เห็นก็คือ “ความกลัว” ไม่เคยห่างหายไปจากตลาดหุ้น ไม่ว่าตลาดหุ้นจะอยู่ในสภาวะแบบใด ความกลัวจะเกิดขึ้นตลอดเวลา เราจะมีวิธีการบริหารความกลัวเหล่านั้นได้อย่างไร

วิธีบริหารความกลัว

  1. มีสติ อย่าตกใจหากตลาดหุ้นเกิดความผันผวนอย่างหนัก จงยืนอยู่ข้างนอกหากในตลาดหุ้นเต็มไปด้วยฝุ่นตลบ
  2. ให้ความสำคัญกับการลงทุนระยะยาว เนื่องจากระยะสั้นราคาหุ้นมีความผันผวน ราคาหุ้นควรมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกับกำไรของบริษัทในระยาว
  3. ยึดมั่นในหลักความคิดของตนเอง มีเหตุผลเพียงพอในการตัดสินใจในการซื้อหรือขายหุ้น กระบวนการทางความคิดในการตัดสินใจมีความสำคัญกว่าผลลัพธ์ เนื่องจากนักลงทุนไม่สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องเสมอไป แต่หากคุณมีกระบวนการในการตัดสินใจที่ดีจะช่วยลดข้อผิดพลาดลงได้
  4. ลงทุนในสิ่งทีคุณเข้าใจเป็นอย่างดี หรืออีกนัยหนึ่งคืออย่าลงทุนในสิ่งที่คุณไม่เข้าใจ เนื่องจากหากมีปัจจัยอะไรที่เข้ามามีผลกระทบ จะทำให้คุณสามารถวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านั้นว่าจะมีผลกระทบกับหุ้นตัวนั้นได้อย่างถูกต้อง

ตลาดหุ้นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ความกลัวก็ยังคงอยู่กับตลาดหุ้นเสมอ เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับความกลัว และสร้างเกราะป้องกัน พยายามควบคุมไม่ให้ความกลัวนั้นมีอิทธิพลอยู่เหนือการตัดสินใจที่มีเหตุผล ซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายได้ อย่างไรก็ตามความกลัวคงไม่สามารถกำจัดได้ 100% แต่วิธีการที่กล่าวมาข้างต้นน่าจะเป็นสิ่งที่เตือนสตินักลงทุนได้  แต่วิธีการที่ผมนำเสนอนั้นอาจดูเสมือนว่าเป็นวิธีที่ธรรมดา หรือบางคนอาจจะมีวิธีที่ดีกว่านี้ แต่เวลาใดก็ตามที่คนเราเกิดความกลัวขึ้นมา ส่วนใหญ่จะใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ ซึ่งมันเกิดข้อผิดพลาดได้ค่อนข้างง่าย แต่ถ้าหากตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่เป็นเช่นนั้นก็เป็นไปได้ แต่บางครั้งความกลัวก็ไม่น่ากลัวเสมอไปสำหรับนักลงทุนที่มีสติ จากคำพูดของวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่กล่าวว่า “จงกลัวเมื่อคนอื่นโลภ จงโลภเมื่อคนอื่นกลัว”

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ เศรษฐา ปวีณอภิชาต จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีประสบการณ์การทำงานด้านวิศวกรติดตั้งระบบสื่อสาร ในตำแหน่งวิศวรกร กับบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง และบริษัทเนทแอนคอนเทนด์ (ไทยแลนด์) รวมระยะเวลาการทำงาน 3 ปี จากนั้นคุณ เศรษฐาได้ทำกาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจสาขาด้านการเงิน ที่สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเริ่มทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 ในตำแหน่งนักวิเคราะห์การลงทุน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุน ตราสารทุนภายในประเทศ
Posts created 9

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top