InvestmentTalk – ลงทุนแบบ JOHN NEFF

แชร์บทความนี้

จอห์น เนฟฟ์ เป็นผู้จัดการกองทุนที่มีชื่อว่า Windsor กองทุนที่มีสินทรัพย์มากที่สุดในอเมริกา โดยที่ผลตอบแทนในช่วงเวลาที่เขาบริหารพอร์ตการลงทุนตลอดระยะเวลา 32 ปี เขาสามารถสร้างผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยถึงปีละ 13.7% และได้ผลตอบแทน 57 เท่าของเงินลงทุนเริ่มแรก ซึ่ง S&P500 index ได้ผลตอบแทน 10.6% ซึ่งการบริหารของเขานั้นไม่ธรรมดาใช่ไหมครับ เรามาลองดูว่าเขามีวิธีการจัดการอย่างไร

จอห์น เนฟฟ์ ได้ชื่อว่าเป็นนักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่าสุดขั้วหรือสุดโต่งเลยทีเดียว โดยเน้นการลงทุนหุ้นที่มี P/E ต่ำ บริษัทที่ไม่ค่อยเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน มีอัตราการเติบโตปานกลาง และมีเงินปันผลสม่ำเสมอ   และเขายังเตือนด้วยอีกว่า อย่าไล่ตามหุ้นที่มีอัตราการเติบโตที่สูงที่มีคนสนใจมากซึ่งจะผลักดันให้ P/E สูงอย่างมาก ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับราคาหุ้นตัวนั้นๆ นอกจากนี้เขาจะมีเหตุผลในการขายหุ้น 2 ปัจจัยได้แก่ 1) ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทแย่ลง 2) ขายหุ้นเมื่อได้ผลตอบแทนที่คาดหวัง

จอห์เนฟมีหลักการในการเลือกหุ้นที่ง่ายแต่มีความสำคัญอย่างมาก 7 ข้อได้แก่

1. P/E ต่ำ

  • จอห์น เนฟฟ์ จะลงทุนหุ้นที่มี P/E ต่ำๆ โดยจะมี P/E ต่ำกว่าตลาดประมาณ 40-60% ไม่ว่าบรรยากาศตลาดหุ้นจะอยู่ในสถานการณ์แบบใด
  • การลงทุนในหุ้น P/E ต่ำนั้น นักลงทุนต้องแยกให้ออกว่าเป็นหุ้นที่ดีที่ถูกขายอย่างไร้เหตุผล หรือว่าเป็นหุ้นที่ไร้อนาคต
  • ในช่วงตลาดขาลงหุ้นที่มี P/E ต่ำนั้นจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าหุ้นที่มี P/E สูง และหากบริษัทที่มี P/E ต่ำนั้นมีแนวโน้มดีขึ้นราคาหุ้นก็จะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก

2. อัตราการเติบโตของบริษัทมาจากปัจจัยพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 7%

  • สำหรับหุ้นที่มี P/E สูงๆ ความคาดหมายอัตราการเติบโตของบริษัทจะสูงตามไปด้วย หากอัตราการเติบโตนั้นพลาดเป้าหมายเพียงเล็กน้อย ก็อาจทำให้ราคานั้นปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
  • กองทุน Windsor จะทำการขายหุ้นหากอัตราการเติบโตที่คาดการณ์นั้นต่ำกว่า 6% หรือเกินกว่า 20% (เพดานสูงสุดที่กองทุนตั้งไว้)
  • การประมาณการเติบโตของบริษัทนั้นควรมีระยะเวลา 5 ปี

3. มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีอัตราเติบโตต่อเนื่องในอนาคต

  • อัตรการจ่ายเงินปันผล (Dividend Yield) เป็นส่วนที่แน่นอน แต่อัตราการเติบโตและกำไรจะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
  • การเลือกหุ้นแม้ว่าอัตราการเติบโตของเงินปันผลในช่วงปีหรือสองปีแรกอาจจะไม่สูงมากนัก แต่บริษัทมีโอกาสที่จะจ่ายเงินปันผลที่สูงขึ้นได้ในอนาคต
  • ราคาหุ้นมักจะซื้อขายบนพื้นฐานของอัตราการเติบโตของกำไรที่คาดการณ์ ดังนั้นการได้รับเงินปันผลการที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นส่วนเพิ่มที่ไม่มีต้นทุน หรือเรียกว่า “Free plus” ส่วนที่เพิ่มที่ไม่มีต้นทุนจึงเป็นผลตอบแทนที่นักลงทุนได้รับนอกเหนือสิ่งที่คาดหวังไว้ในตอนแรก
  • บริษัทที่มีการเติบโตเต็มที่และมี Dividend Yield เท่ากับค่าเฉลี่ยก็จะถูกแทนที่โดยหุ้นที่มีมาตราฐานที่ดีกว่า

4. อัตราผลตอบแทนโดยรวม (Total return) เฉลี่ยสูงกว่า P/E ratio

  • อัตราผลตอบแทนโดยรวม (Total return) คือ อัตราการเติบโตบวกด้วยอัตราเงินปันผล  (Dividend Yield) โดยที่จะใช้อัตราส่วน GYP (Growth & Dividend Yield:P/E ratio) คืออัตราการเติบโตของกำไรบวกด้วยผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) หารด้วย P/E โดยที่อัตราส่วนนี้ควรสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดประมาณ 2 ต่อ 1

5. บริษัทที่มีผลประกอบการผันผวนตามวงจรเศรษฐกิจ (Cyclical stock) ต้องชดเชยด้วย P/E ratio ที่ต่ำ

  • การประเมินคุณภาพของหุ้น Cyclical stock นั้นใช้อัตราการเติบโตปกติของกำไรโดยเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งกำไรปกติจะเป็นการประมาณการกำไรที่ดีที่สุดในทุกช่วงของวงจรธุรกิจ
  • การเลือกซื้อหุ้น Cyclical stock นั้นควรซื้อหุ้นที่มี P/E ใกล้จุดที่เคยต่ำสุด เนื่องจากแต่ละวงจรมีระยะเวลาที่แตกต่างกันส่งผลให้เราไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจุดต่ำสุดจะอยู่ที่ใด

6. บริษัทที่มีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต

  • บริษัที่มีการตลาดที่เข้มแข็งและมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต
  • เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้นๆ
  • มีการบริหารต้นทุนได้ดีในสถาวะที่เศรษฐกิจตกต่ำ

7. บริษัทมีปัจจัยพื้นฐานที่ดีเหมาะสมกับการลงทุน

  • บริษัทมียอดขายที่เติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งจะส่งผลให้กำไรเติบโตไปด้วย
  • ROE ต้องโดดเด่น ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ดีที่สุดในการใช้วัดประสิทธิภาพการใช้เงินของผู้ถือหุ้นในการบริหารงานของผู้บริหาร
  • กำไรก่อนภาษี (EBT) สามารถบอกรายละเอียดของต้นทุนได้ดีกว่ากำไรจากการดำเนินงาน เนื่องจากสามารถแสดงค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับการขายที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจทั้งหมด
  • บริษัทที่มีกระแสเงินสดส่วนเกิน (FCF) ซึ่งหักเงินทุนหมุนเวียนและการลงทุนไปแล้ว บริษัทเหล่านี้สามารถที่จะจ่ายเงินปันผลเพิ่มขึ้นได้ ซื้อหุ้นคืน ซื้อกิจการอื่น หรือลงทุนเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับบริษัทในอนาคต

หลักการทั้ง 7 ข้อนี้ คงไม่มีข้อใดข้อหนึ่งที่จะเป็นตัวกำหนดในการซื้อหรือขายหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง แต่นักลงทุนควรพิจารณาว่าหุ้นที่คุณสนใจนั้นได้ผ่านการวิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนเพื่อยืนยันว่าการคาดการณ์อัตราการเติบโตหรือว่าปัจจัยพื้นฐานของบริษัทนั้นน่าเชื่อถือเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมหรือตลาด และที่สำคัญมี P/E ที่ต่ำ หากการวิเคราะห์นั้นสอดคล้องกับ 7 ข้อที่ได้กล่าวมาข้างต้น ก็จะเป็นการยืนยันความน่าสนใจสำหรับหุ้นตัวนั้นได้เป็นอย่างดี

อ้างอิงจากหนังสือ: ลงทุนแบบ จอห์น เนฟฟ์ (JOHN NEFF on investing) จากผู้เขียน John Neff, S.L. Mintz ผู้แปล ดร.กุศยา ลีฬหาวงศ์, http://www.thaivi.com/mobile/thread.php?topic_id=32918 , http://www.dekbiz.co.cc/2009/07/18/จอห์น-เนฟฟ์-john-neff/

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ เศรษฐา ปวีณอภิชาต จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีประสบการณ์การทำงานด้านวิศวกรติดตั้งระบบสื่อสาร ในตำแหน่งวิศวรกร กับบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง และบริษัทเนทแอนคอนเทนด์ (ไทยแลนด์) รวมระยะเวลาการทำงาน 3 ปี จากนั้นคุณ เศรษฐาได้ทำกาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจสาขาด้านการเงิน ที่สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเริ่มทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 ในตำแหน่งนักวิเคราะห์การลงทุน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุน ตราสารทุนภายในประเทศ
Posts created 9

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top