InvestmentTalk – เข้าใจกองทุนบำนาญ (บ้าง…)

แชร์บทความนี้

เนื้อหาที่เขียนขึ้นวันนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ เข้าใจลักษณะ ธรรมชาติ จุดประสงค์ ของกองทุนบำนาญให้มากขึ้น เพื่อประกอบเป็นความรู้ในการที่จะมองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านเราในวันนี้อย่างไม่ปรุงแต่ง เพราะบางครั้ง คนเราชอบสรุปความอัตโนมัติว่าสิ่งใด “ผิด” หรือสิ่งใด “ถูก” จากความรู้สึกของเราเอง โดยละเลยความจริงบางประการไป


กอง ทุนบำนาญมีหลายประเภท เช่น สำหรับพนักงานภาคเอกชนมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำหรับข้าราชการมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ในอนาคตมีการผลักดันให้เกิดกองทุนบำนาญแห่งชาติ นอกจากนี้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF ก็มีเป้าประสงค์คล้ายกับเป็นกองทุนบำนาญประเภทหนึ่ง ทั้งนี้ จุดประสงค์หลักของกองทุนบำนาญคือเป็นเงินกองทุนที่ออมไว้ใช้เมื่อยามเกษียณ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของทุกคนว่าเมื่ออยู่ในช่วงบั้นปลาย ชีวิตแล้วนั้น จะมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก หรือสุขสบาย

 

เงินเฟ้อคืออุปสรรคของชีวิตยามเกษียณ

ธรรมชาติ ของการออมเงินใช้ในยามเกษียณคือ เป็นการลงทุนระยะยาว โดยทั่ว ๆ ไปเราจะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่อายุประมาณ 25 ปีและเกษียณที่อายุประมาณ 55 ปี นั่นคือระยะเวลาของการลงทุนนานถึง 30 ปี เป้าหมายของเงินลงทุนดังกล่าวนอกจากจะต้องพยายามสงวนเงินต้นของการลงทุนแล้ว ยังต้องสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมเพื่อรักษามูลค่าของเงินให้คงอยู่อีกด้วย อย่าลืมว่าเราอยู่ในโลกของเงินเฟ้อที่ข้าวของราคาปรับเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขณะเขียนบทความอยู่ผมหันไปถามพี่ที่บริษัท ได้คำตอบว่าเมื่อ 30 ปีที่แล้วข้าวแกงจานละ 7 บาท วันนี้อยู่ที่ประมาณ 30 บาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 400% สมมติว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าราคาข้าวแกงยังคงเป็นไปตามอัตรานี้ ราคาก็คงจะขึ้นไปที่ 120 บาท หรือเฉลี่ยปีละ 5%

แล้วเงินที่เราออมไว้ใช้ยามเกษียณวันนี้ล่ะครับ สมมติว่าเราออมไว้ 30 บาท เมื่อเราเกษียณจะขึ้นไปถึง 120 บาทเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็หมายความว่าเงินที่สะสมไว้วันนี้มีมูลค่าที่ต่ำลง นำไปใช้จ่ายได้น้อยลง ซึ่งคงไม่ใช่สิ่งที่ทุกท่านต้องการ โดยสรุปคือเป้าหมายของเงินลงทุนระยะยาวเพื่อยามเกษียณ คือสร้างผลตอบแทนให้ชนะเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันก็รักษาเงินต้นของการลงทุนให้คงอยู่ ภายใต้ระยะเวลาการลงทุนที่ยาวหลายสิบปี
มองสั้น ๆ หรือมองยาว ๆ

ถ้า ท่านตั้งโจทย์ว่าผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ ผู้จัดการกองทุนสามารถทำให้ท่านได้โดยการนำเงินไปฝากธนาคาร ซื้อพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น ซึ่งเงินลงทุนโดยรวมในแต่ละปีก็จะมีโอกาสติดลบน้อยมาก แต่ผลตอบแทนที่ได้ก็จะมีโอกาสที่จะแพ้เงินเฟ้อเช่นกัน เพราะบ่อยครั้งที่ดอกเบี้ยเงินฝากและดอกเบี้ยพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำกว่า อัตราเงินเฟ้อ

ที่ผมอยากจะถามท่านคือ ทำไมผลตอบแทนในแต่ละปีถึงต้องห้ามติดลบล่ะครับ ในเมื่อเงินลงทุนเรามีอายุยาวหลายสิบปี และการมาตั้งโจทย์ว่าผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ ก็เป็นการบังคับให้ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน ต่ำ ผมเห็นว่าการประเมินผลตอบแทนของกองทุนบำนาญโดยดูผลตอบแทนระยะยาว เช่น 10 – 20 ปี จะดูมีเหตุผลกว่าครับ

ตัวอย่างการลงทุนของเงินบำนาญใน ต่างประเทศ เช่นประเทศนอร์เวย์ที่มีเงินกองทุนบำนาญสูงมาก ของเค้านำเงินลงทุนในหุ้นทั่วโลกสูงถึงประมาณ 60% เพราะเค้ามองถึงผลตอบแทนระยะยาวครับ ว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดี ชนะเงินเฟ้อ และยอมรับได้กับความผันผวนระยะสั้น เช่นผลตอบแทน 1 ปีย้อนหลัง ผมไม่เห็นประชาชนประเทศนอร์เวย์ออกมาลุกฮือเลยครับเวลาที่ผลตอบแทนปี 2551 ติดลบ

คุณเลือกแบบไหน

สมมติ ถ้าลงทุนแบบเสี่ยงต่ำและได้ผลตอบแทนปีละ 3% เป็นเวลา 30 ปี เงิน 30 บาทวันนี้จะเท่ากับ 73 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้าซึ่งจะเอาไปซื้อข้าวแกงจานเดียวยังไม่ได้เลยครับ ขณะที่หากลงทุนแบบเสี่ยงปานกลาง เช่นได้ผลตอบแทนปีละ 7% เงิน 30 บาทในวันนี้จะกลายเป็น 228 บาทในอีก 30 ปีข้างหน้าครับ ซึ่งสามารถซื้อข้าวแกงได้เกือบ 2 จาน
ที่บอกได้แน่นอนคือมันไม่มีในโลก หรอกครับที่จะหาโครงสร้างการลงทุนที่แต่ละปีก็ห้ามขาดทุน ระยะยาวก็ต้องได้กำไร เยอะ และสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ (Low Risk, High Return) คุณต้องเลือกครับถ้าอยากได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ก็ต้องทนความผันผวนในระยะสั้นได้ (High Risk, High Return) หรือถ้าไม่ต้องการความผันผวนในแต่ละปี ก็ต้องยอมรับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าในระยะยาว (Low Risk, Low Return) ประเด็นของผมในวันนี้คือในเมื่อเงินกว่าเราจะใช้อีกเป็นสิบ ๆ ปี แล้วจะมาให้ความสำคัญกับผลตอบแทนปีต่อปีจนเกินจำเป็นทำไม

จากนี้ไปสังคมต้องเลือกครับ ระหว่าง

1)ผลตอบแทนแต่ละปีห้ามติดลบ แต่ผลลัพธ์เมื่อคุณเกษียณคือเงินคุณมีมูลค่าลดลง

2)ผลตอบแทนแต่ละปีติดลบได้ แต่ผลลัพธ์เมื่อคุณเกษียณคุณมีเงินที่มีมูลค่าสูงขึ้นนำไปใช้สอยได้มากขึ้น

ถ้า ผมเป็นผู้มีสิทธิ์เลือก ผมเลือกทางที่ 2 แต่ตอนนี้ผมรู้สึกว่าสังคมกำลังจะพาไปทางที่ 1 ครับ ซึ่งผมก็คงต้องยอมรับตามนั้นครับ คุณล่ะครับ ถ้าเลือกได้จะพาคนไทยไปทางไหน ?

โดย เจษฎา สุขทิศ,CFA.
ผู้จัดการกองทุน, บลจ.อยุธยา จำกัด

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top