InvestmentTalk – เคล็ด (ไม่)ลับ การลงทุนในภาวะ “หยวนแข็ง เยนอ่อน”

แชร์บทความนี้

พบกันอีกครั้งในคอลัมน์ “คุยกับผู้จัดการกองทุน” ครับ สัปดาห์นี้เราจะมาคุยกันเรื่องเงินเอเชียสองสกุล ที่แม้จะอยู่ทวีปเดียวกันแต่มีแนวโน้มเคลื่อนไหวค่อนข้างจะตรงข้ามกันครับ อันดับแรกคือค่าเงินเยนของประเทศญี่ปุ่นซึ่งในระยะหลังปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญ สังเกตง่าย ๆ จากการที่คนไทยปีนี้ไปเที่ยวญี่ปุ่นเยอะเป็นพิเศษ จากเดิมเงิน 100 เยนราคา 38 บาทในปีที่แล้ว วันนี้เงิน 100 เยนราคาเพียง 32 บาท (ช่วงกลางปีลงไปต่ำสุดที่ 29 บาท) สินค้าญี่ปุ่นที่เคยว่าแพงก็เริ่มจะดูแพงน้อยลงในช่วงนี้

สาเหตุหลักที่ค่าเงินเยน อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมานั้นมาจากการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งมีปริมาณมากถึง 1.4 ล้าน ๆ ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเม็ดเงินดังกล่าวจะทยอยเป่าเข้าสู่ระบบในปี 2556 – 57 ส่งผลให้ปริมาณเงินเยนในระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งมีเป้าหมายให้ประเทศญี่ปุ่นกลับมามีเงินเฟ้อที่ระดับ 2% จากเดิมที่อยู่ในภาวะเงินฝืดมานานนับสิบปี

ในด้านพื้นฐานค่าเงินที่อ่อนค่ามีส่วนช่วยภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในภาคการส่งออก ในด้านตลาดการเงิน ปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลให้เงินบางส่วนโยกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง เช่น หุ้น อสังหาฯ เป็นที่มาทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปรับตัวขึ้นกว่า 50% ในรอบปีที่ผ่านมา โดยทางบลจ.ซีไอเอ็มบี พรินซิเพิล ยังคงมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นญี่ปุ่นต่อเนื่องไปจนถึงปี 2557

yen yuan

 

กราฟข้างต้นแสดงการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน และค่าเงินหยวนในรอบ 15 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งค่าเงินหยวน (สีเข็ม) แข็งค่าจากประมาณ 6.35 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์มาที่ประมาณ 6.1 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ ขณะที่ค่าเงินเยน (สีอ่อน) อ่อนค่าจากประมาณ 80 เยนต่อ 1 ดอลลาร์มาที่ประมาณ 97 เยนต่อ 1 ดอลลาร์

หากพูดถึงเงินหยวนประเทศจีนนับว่ามีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักเงินสกุลนี้ เนื่องจากมีการใช้กันอย่างแพร่หลายมากในปัจจุบันหรือเรียกว่ามีความต้องการซื้อขายกันล้นหลามเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพ่อค้าที่ซื้อของจากจีนมาขายในประเทศซึ่งต้องจ่ายค่าสินค้าเป็นเงินหยวน กลุ่มวัยกลางคนที่เข้าไปท่องเที่ยวในประเทศจีนมากขึ้น รวมไปถึงกลุ่มแม่บ้านที่ซื้อทัวร์ไปไหว้พระสวดมนต์ในประเทศจีน ซึ่งเราเรียกรวมๆว่าการค้าระหว่างประเทศนั่นเอง การค้าที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการสะพัดของเงินหยวนที่มากขึ้น (Capital Flow) ซึ่งดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจากการติดต่อซื้อขายกับต่างชาติ เมื่อเงินหยวนเป็นที่ต้องการของต่างชาติมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือการแข็งค่าของค่าเงิน ซึ่งเกิดจาก 3 ตัวแปรหลักคือ ความต้องการเงินหยวนที่แท้จริงจากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น นโยบายจากภาครัฐที่ต้องการให้เงินหยวนเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินหลักของโลก และปัจจัยบวกระยะสั้นจากนอกภูมิภาค

รัฐบาลจีนได้สนับสนุนการใช้เงินหยวนในรูปแบบต่างๆโดยมีความมุ่งหมายให้เงินหยวนเป็นอีกหนึ่งสกุลเงินหลักของโลก ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแทรงค่าเงินเพื่อให้เงินหยวนมีความผันผวนต่ำและเหมาะสมต่อการค้าการลงทุน การสนับสนุนการลงทุนในประเทศจีนในด้านกฏหมายและการสร้างแรงจูงใจต่างๆเพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น โดยสามารถดูได้จากค่า FDI (Foreign Direct Investment) ที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง และการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้บริษัทต่างชาติระดมทุนในสกุลเงินหยวนเพื่อสร้างปริมาณการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา นักการเงิน นักลงทุนประชาชนทั่วโลกต่างจับตาการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่หัวข้อการหารือเกี่ยวกับการลดปริมาณการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ หรือ (Quantitative Easing : QE) โดยผลการประชุมสรุปว่ายังไม่มีการลด QE เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐพึ่งอยู่ในช่วง “เริ่มฟื้นตัว” ซึ่งผิดความคาดหมายของนักวิเคราะห์ นักการเงิน และนักเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลสหรัฐยังคงพิมพ์เงินดอลลาร์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อ ส่งผลให้เงินหยวนเทียบกับดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในทันทีหลังเหตุการณ์ดังกล่าว

ถ้าในด้านการลงทุน หากถามว่า “เงินหยวนแข็ง” แล้วลงทุนอะไรดี คำตอบง่าย ๆ ก็คือลงทุนใน “เงินหยวน” หรือ “ตราสารหนี้สกุลเงินหยวน” ครับ ปัจจุบันกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้สกุลเงินหยวนเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากมุมมองการแข็งค่าของสกุลเงินหยวนข้างต้น นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการลงทุนเพื่อรับอานิสงส์ของการแข็งค่าของเงินหยวน คือการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ (structure note) ที่ผลตอบแทนส่วนหนึ่งไปผูกกับการแข็งค่าของเงินหยวน ซึ่งเริ่มมีธนาคารพาณิชย์ และกองทุนบางแห่งนำเสนอผลิตภัณฑ์นี้แล้วเช่นกันครับ ทั้งหมดก็เป็นการเผยเคล็ด(ไม่)ลับ การลงทุนในภาวะ “หยวนแข็ง เยนอ่อน” เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจัดพอร์ตลงทุนของท่านนักลงทุนครับ

เจษฎา สุขทิศ, CFA

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top