InvestmentTalk – นักลงทุนดันโด (The Dhandho Investor) ตอนที่ 2

แชร์บทความนี้

ต่อเนื่องจาก “ภาคแรก” เรามาต่อกันกับนักลงทุนดันโด ผมขอสรุปสั้นๆนะครับว่านักลงทุนดันโดคืออะไรสำหรับคนที่ไม่ได้อ่านในครั้งที่ผ่านมา หลักคิดของนักลงทุนดันโดมีหลักการง่ายๆคือ “การได้ผลตอบแทนที่สูงสุด ในขณะที่มีความเสี่ยงต่ำสุด” โดยมีหลักคิดอยู่ 9 ข้อ ครั้งที่ผ่านมาผมได้เขียนไปแล้ว 4 ข้อ ได้แก่ 1. มุ่งเน้นไปที่การซื้อธุรกิจซึ่งดำเนินการอยู่แล้ว 2. ซื้อธุรกิจเรียบง่ายในอุตสาหกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก  3. ซื้อธุรกิจที่มีปัญหาในอุตสาหกรรมซึ่งกำลังอยู่ในภาวะยากลำบาก 4. ซื้อธุรกิจที่มีความได้เปรียบเชิงแข่งขันอันยั่งยืน

ครั้งนี้เรามาต่อกับ 5 ข้อที่เหลือเลยนะครับ

5. เดิมพันหนักๆเมื่อคุณมีแต้มต่ออย่างชัดเจน

  • การลงทุนหนักๆนั้น หากคุณพบราคาของหุ้นนั้นถูกขายอย่างไม่มีเหตุผล แต่คุณต้องมีความเข้าใจในหุ้นตัวนั้นเป็นอย่างดี คุณควรที่จะทุ่มลงทุนกับหุ้นตัวนั้นๆ ซึ่งหากมีความผิดพลาดคุณจะเสียหายเพียงเล็กน้อย
  • มองหาหุ้นที่มีลักษณะพิเศษ เช่นในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ผมว่ามีหุ้นบางตัวที่เข้าข่ายข้อนี้ เช่น มีหุ้นบางตัวมี put option (มีสิทธิ์จะขายที่ราคากำหนดไว้ในอนาคต) และเมื่อถึงเวลาที่ตลาดมีการเทขายออกมาอย่างหนัก ราคาหุ้นตัวนี้ต่ำกว่าราคาใช้สิทธิ์อย่างมาก ซึ่งความเสี่ยงนั้นไม่มีเลยหากคุณซื้อหุ้นตัวนั้นและนำไปขายในอนาคตที่ราคากำหนดไว้
  • หุ้นบางตัวมีการการันตรีในการจ่ายเงินปันผลขั้นต่ำ มีบางช่วงราคาปรับตัวลงอย่างมาก หากคุณซื้อหุ้นตัวนี้ และหากบริษัทไม่เลิกกิจการก่อน โอกาสที่คุณจะได้รับผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงเลยทีเดียว

6. มองหาโอกาสทำอาร์บิทราจ

  • การทำอาร์บิทราจโดยปกติ
    • การทำอาร์บิทราจสินค้าโภคภัณฑ์

ในกรณีนี้มีโอกาสน้อยที่จะเกิดขึ้น เช่นคุณซื้อทองที่ร้าน A ราคา 15,000 บาท และมาขายอีกที่ร้าน B ราคา 16,000 บาท ซึ่งคุณจะได้กำไรทันที 1,000 บาท แต่ท้ายที่สุดราคาทั้ง 2 ร้านจะกลับมาเท่ากัน

  • การทำอาร์บิทราจหุ้นที่มีความเกี่ยวข้องกัน
    • หุ้นที่มีการซื้อขายอยู่ใน 2 ประเทศ ซึ่งหุ้นทั้ง 2 ตัวนี้ควรมีทิศทางราคาไปด้วยกัน แต่เราจะมีข้อจำกัดในการซื้อหุ้นต่างประเทศ
    • วอร์แรนท์ ที่ใกล้ครบกำหนด และมีสถานะ in the money คือ ราคาวอร์แรนท์รวมกับราคา exercise (ราคาใช้สิทธิ) มีราคาต่ำกว่าราคาตลาดมากๆ ซึ่งโอกาสที่คุณซื้อและได้กำไรจะมีค่อนข้างสูง
    • การทำอาร์บิทราจการควบรวมกิจการ

สมมุติว่ามีธนาคาร A ประกาศควบรวมกับธนาคาร B ในราคา 32.5 บาท แต่ราคาตลาดของธนาคาร B ก่อนการควบรวมอยู่ที่ 30 บาท ซึ่งจะมีส่วนต่าง 2.5 บาทหรือ 8.3% คุณจะได้กำไรภายในไม่กี่เดือน หากนักลงทุนพิจารณาแล้วว่าโอกาสที่ธนาคาร B จะไม่ถูกขายนั้นมีน้อยมาก โอกาสขาดทุนของคุณก็จะมีน้อยมากเช่นกัน

  • การทำอาร์บิทราจแบบดันโด

การทำอาร์บิทราจแบบดันโดคือบริษัทต้องมีข้อได้เปรียบบริษัทอื่น เช่น การมีต้นทุนที่ถูก           นวตกรรมของสินค้า หรือบริษัทที่คิดสินค้าที่ยังมีช่องว่างในตลาด เป็นต้น ซึ่งการทำอาร์บิทราจแบบดันโดนั้นจะเหมือนหลักการของวาเรนต์ บัฟเฟตต์ คือบริษัทต้องมีคูเมืองกว้างใหญ่ และมีช่องว่างในการทำอาร์บิทราจให้ยาวนานที่สุด ซึ่งจะเป็นข้อได้เปรียบและสามารถป้องกันคู่แข่งรายใหม่ๆได้ แต่ในท้ายที่สุดแล้วช่องว่างต่างๆ ก็จะหายไป แต่เราต้องวิเคราะห์ว่าช่องว่างเหล่านั้นจะมีระยะเวลายาวนานแค่ไหน การทำอาร์บิจทราจแบบดันโดนั้นจะหาช่องว่างที่ยาวนานหลายปี ซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนอย่างมหาศาล

หัวใจของการทำอาร์บิทราจของนักลงทุนดันโดคือ ออกหัวได้เงิน ถ้าออกก้อย เสียเงินนิดหน่อย หรือยังได้กำไรนิดหน่อย หรือไม่เสียอะไรเลย

7. ซื้อธุรกิจในราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงอย่างมาก

  • หากเราซื้อหุ้น ราคาหุ้นตัวนั้นควรมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ (Margin of safety) โดยใช้หลักการของเบนจามิน เกรแฮม หากมีเหตุการณ์เลวร้ายกับหุ้นตัวนั้นๆโอกาสขาดทุนอย่างหนักจะมีน้อย
  • “หลักๆ แล้ว หน้าที่ของส่วนเผื่อความปลอดภัย (Margin of safety) ก็คือ การทำให้การคาดการณ์อนาคตอย่างแม่นยำเป็นเรื่องไม่จำเป็น” เบนจามิน เกรแฮม

8. มองหาธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำแต่มีความไม่แน่นอนสูง

  • การลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำๆนั้น ส่วนมากราคาหุ้นจะไม่แพงมากนัก ( PE หรือ PBV มักจะมีค่าต่ำ) แต่บริษัทนั้นต้องมีโอกาสทำกำไรได้อย่างมากในอนาคต เช่น หากนักลงทุนเข้าใจวงจรของหุ้นวัฏจักรเป็นอย่างดี การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ก็สามารถให้ผลตอบแทนได้อย่างสูง
  • บริษัทที่ผ่านสถานการณ์ภาวะยากลำบากและกำลังพลิกฟื้นผลประกอบการจากขาดทุนกลับมามีกำไร และมีการเติบโตต่อเนื่องในอนาคต

9. การเลียนแบบดีกว่าการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

  • บริษัทที่ประสบความสำเร็จนั้นไม่จำเป็นต้องคิดหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มาเป็นคนแรกเสมอไป ซึ่งโอกาสผิดพลาดนั้นย่อมเกิดขึ้นได้ แต่ควรลงทุนในบริษัทที่รู้จักเลียนแบบสินค้าหรือลักษณะการทำธุรกิจของบริษัทอื่นแต่ต้องเป็นการเลียนแบบแบบต่อยอดไปอีกขั้น ซึ่งจะทำให้ลดขั้นตอนความยุ่งยาก ซึ่งสามารถช่วยลดความเสี่ยงลงได้

จากหลักการของนักลงทุนดันโด ผมหวังว่าจะมีประโยชน์กับนักลงทุนนะครับ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้นหรือการทำธุรกิจก็ตาม แต่นักลงทุนต้องใช้ความพยายามและอดทนในการค้นหาบริษัท เพราะการลงทุนแบบดันโดนั้นบางครั้งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการรอคอย ซึ่งหากสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องจะทำให้เราได้รับผลตอบแทนที่ดีเยี่ยมอย่างมาก ในทางตรงกันข้ามหากเราคิดผิดจะเกิดความเสียหายกับน้อยมาก

สุดท้ายขอให้กำลังใจกับคนที่ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองทุกคน อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ท้อได้แต่อย่าถอย ฟ้าหลังฝนสดใสเสมอครับ

อ้างอิง จากหนังสือ นักลงทุนดันโด (The Dhandho investor) แปลและเรียบเรียงโดย พรชัย รัตนนนทชัยสุข

บทความนี้อาจมีการอ้างถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ใช่คำแนะนำในการซื้อเพียงแค่เป็นการยกตัวอย่างหุ้นเพียงเท่านั้น

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ เศรษฐา ปวีณอภิชาต จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาโทรคมนาคม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มีประสบการณ์การทำงานด้านวิศวกรติดตั้งระบบสื่อสาร ในตำแหน่งวิศวรกร กับบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง และบริษัทเนทแอนคอนเทนด์ (ไทยแลนด์) รวมระยะเวลาการทำงาน 3 ปี จากนั้นคุณ เศรษฐาได้ทำกาศึกษาต่อในระดับปริญญาโทคณะบริหารธุรกิจสาขาด้านการเงิน ที่สถาบันบัณฑิต พัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเริ่มทำงานกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 ในตำแหน่งนักวิเคราะห์การลงทุน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการกองทุน ตราสารทุนภายในประเทศ
Posts created 9

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top