InvestmentTalk – ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กับการกระจายความมั่งคั่ง

แชร์บทความนี้

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กับการกระจายความมั่งคั่ง

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM

นักลงทุนทั่วไปคงจะพอจะรู้จักดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index – SET) กันอยู่บ้าง ซึ่ง SET Index เป็นดัชนีที่บอกถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นทุกตัวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยให้ความสำคัญตามมูลค่าตลาดของบริษัท (Market capitalize weighted) ถ้านับรวมเงินปันผลรับเข้าไปด้วยเราเรียกดัชนีที่รวมเงินปันผลนี้ว่า ดัชนีผลตอบแทนรวม (SET Total return index – SET TRI) แต่นักลงทุนทราบไหมว่า SET หรือ SET TRI มีนัยอย่างไรกับการกระจายตัวของความมั่งคั่ง (Wealth) ของนักลงทุนในตลาด วันนี้ผมขอนำเสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งของเรื่องนี้กัน

ผลตอบแทนของ SET TRI นี้แท้จริงแล้วเป็นค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนที่นักลงทุนทุกคนพึงได้รับจากการลงทุนในตลาดหุ้น หมายความว่าถ้ามีนักลงทุนกลุ่มหนึ่งที่ได้ผลตอบแทนสูงกว่าตลาด (SET TRI) ก็ต้องมีนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าตลาด ซึ่งผลตอบแทนที่สูงกว่าอาจอยู่ในรูปการได้กำไรมากกว่าตลาด หรือขาดทุนน้อยกว่าตลาดก็ได้ การแพ้ตลาดจึงไม่เป็นว่าจะต้องขาดทุนเสมอไป ในอีกนัยหนึ่งการกระจายความมั่งคั่งของตลาดหุ้นก็จะถ่ายเทจากผู้แพ้ไปยังผู้ชนะ โดยมีบริษัทผู้จ่ายเงินปันผลเป็นคนเติมความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นไม่ว่าจะเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะ (ดังนั้นการลงทุนในหุ้นจึงไม่ใช่ Zero sum game เหมือนการพนัน หรือตราสารอนุพันธ์)

เช่นนั้นแล้วตลาดหุ้นก็จะมีผู้ชนะและผู้แพ้พอๆกันอย่างนั้นหรือ ความจริงในตลาดทุนอาจโหดร้ายกว่านั้น กฎการกระจายความมั่งคั่ง 80 : 20 (ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนเพียง 20% ของโลกจะครอบครองความมั่งคั่ง 80% ของโลก) ก็สามารถนำมาอธิบายการกระจายความมั่งคั่งในตลาดหุ้นได้เช่นกัน หมายความว่านักลงทุนส่วนใหญ่จะได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าดัชนีในขณะที่นักลงทุนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่า แต่ผลตอบแทนที่นักลงทุนส่วนน้อยได้รับนั้นจะสูงกว่าผลตอบแทนของตลาดมาก ตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่ตายตัว แต่แนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงจะเอียงไปทางที่กลุ่มคนน้อยจะยิ่งครอบครองความมั่งคั่งมาก ตามกลไกตลาดของระบบทุนนิยมที่เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ชนะ (นักลงทุนที่มีความมั่งคั่งมากกว่าจะมีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลเชิงลึกได้ดีกว่า สามารถขอการสนับสนุนทางการเงินได้มากกว่า เป็นต้น)

ในความเป็นจริงผู้ชนะในตลาดหุ้นก็มีหลากหลายกลุ่มปะปนกันไป อาจเป็นเจ้าของกิจการผู้ลงทุนลงแรงปลุกปั้นบริษัทมาแต่ต้น ผู้จัดการกองทุนขั้นเทพที่มีประสบการณ์ยาวนาน นักลงทุนต่างชาติที่มีแบบจำลองการลงทุนเชิงปริมาณที่สุดยอด หรืออาจเป็นนักลงทุนแบบทรงคุณค่าที่นั่งอ่านหนังสือพิมพ์อยู่เฉยๆที่บ้านก็ได้ ปัจจัยสำคัญไม่ได้อยู่ที่ประเภทของนักลงทุน แต่ผู้เขียนเชื่อว่าตราบเท่าที่การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นยังถูกกำหนดด้วยความต้องการซื้อขายของนักลงทุน มิได้ถูกกำหนดโดยตรงด้วยแบบจำลองทางการเงินหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใดๆ ปัจจัยกำหนดการแพ้ชนะจะอยู่ที่วิธีการคิด และปฏิบัติของนักลงทุนท่านนั้นๆ ถ้าคิดและปฏิบัติเหมือนคนส่วนใหญ่นักลงทุนก็มีแนวโน้มจะได้ผลตอบแทนตามตลาดหรืออาจแพ้ตลาด แต่ถ้ามุ่งแต่จะคิดต่างโดยไม่สนใจว่าความเห็นที่ต่างนั้นจะถูกหรือผิด ผลลัพธ์ก็จะนำไปสู่ความล้มเหลวได้เช่นกัน ผู้ชนะในตลาดหุ้นจำเป็นต้องคิดแตกต่างอย่างถูกต้องเท่านั้น ซึ่งแนวคิดการลงทุนในตลาดหุ้นมีอยู่หลากหลายยากที่จะบอกได้ว่าวิธีการใดถูกผิด ทุกแนวคิดการลงทุนมีผู้นำไปปฏิบัติและประสบความสำเร็จทั้งนั้น นักลงทุนพึงเลือกแนวคิดการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเองดังงานเขียนชิ้นก่อนๆที่ข้าพเจ้าได้เคยเขียนไว้ พึงระลึกไว้ว่าการที่คิดและปฏิบัติแตกต่างจากคนส่วนใหญ่ไม่สามารถบอกได้ทันทีว่าเรากำลังคิดและทำถูกหรือผิด เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์และให้คำตอบกับเราเอง สุดท้ายนี้นักลงทุนอาจลองสำรวจผลการลงทุนของตัวเองว่าสูงหรือต่ำกว่าตลาดมากน้อยเพียงใด ถ้าได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าตลาด ยินดีด้วยครับคุณเป็นคนส่วนใหญ่ J

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM ผู้ก่อตั้งเพจ Indy Investor Forum จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท จากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณชาตรีเริ่มต้นการทำงานในสายการเงินในตำแหน่ง Management Trainee บมจ.ธนาคารกรุงไทย เมื่อปี 2546 ก่อนจะเริ่มต้นการทำงานในด้านการบริหารกองทุนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ฝ่ายกองทุนผสม บลจ. กสิกรไทย ในปี 2548 ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายตราสารทุน บลจ.เอ็มเอฟซี เมื่อปี 2551 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ. ไทยพาณิชย์ คุณชาตรีมีประสบการณ์บริหารจัดการกองทุนตราสารทุน ทั้งในรูปแบบกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีความสนใจการลงทุนในตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ นอกจากนี้คุณชาตรียังมีประสบการณ์เป็นอาจารย์พิเศษให้กับ ม.วลัยลักษณ์ ม.หอการค้าไทย และ ABAC อีกด้วย
Posts created 15

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top