InvestmentTalk – ลงทุนอย่างมีสไตล์(3)

แชร์บทความนี้

ลงทุนอย่างมีสไตล์(3)

 

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM

 

ในครั้งก่อนได้แนะนำแนวทางการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และเน้นการเติบโตให้นักลงทุนได้รู้จักแล้ว ในครั้งนี้จะขอนำเสนอการลงทุนเชิงรุกในรูปแบบตามกระแสและสวนกระแส เพื่อเติมเต็มความเข้าในการลงทุนเชิงรุกให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

การลงทุนแบบตามกระแส (Momentum Investing)

การลงทุนแบบตามกระแสนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่ามนุษย์มีพฤติกรรมแห่ตามกัน (Herding) เป็นพื้นฐาน ในเชิงจิตวิทยาการมนุษย์มีแนวโน้มที่จะคล้อยตามคนส่วนใหญ่มากกว่าที่จะมีความเห็นที่ขัดแย้ง ในด้านการลงทุนนักลงทุนมักรู้สึกสบายใจมากกว่าที่จะซื้อหุ้นที่ตลาดกำลังไล่ซื้อ หรือหุ้นเด็ดที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เมื่อเทียบกับหุ้นที่ตลาดไม่รู้จัก หรือหุ้นที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญกล่าวถึง การลงทุนในรูปแบบนี้จึงเน้นหุ้นที่กำลังอยู่ในความสนใจของตลาด ซึ่งหุ้นดังกล่าวอาจเป็นหุ้นโตเร็ว หุ้นที่อยู่ในวัฎจักรธุรกิจขาขึ้น หุ้นที่ฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด หุ้นเก็งกำไร หรือหุ้นที่มีสัญญาณซื้อทางเทคนิคก็ได้

เมื่อหุ้นตัวหนึ่งปรับตัวเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจะกระตุ้นความสนใจของนักลงทุนส่วนหนึ่งให้มาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น และดึงดูดความสนใจของนักลงทุนรายใหม่เข้ามาซื้อหุ้นทำให้ราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้นไปได้อีกเป็นวัฎจักรขาขึ้นเช่นนี้เรื่อยไปจนกระทั่งนักลงทุนส่วนหนึ่งเริ่มระลึกได้ว่าราคาของหุ้นแพงเกินจริงหรือมีข่าวร้ายที่มีนัยสำคัญมากระทบ และเริ่มขายหุ้นออกมาจนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลง ซึ่งอาจกระตุ้นให้นักลงทุนคนอื่นๆที่ถือหุ้นดังกล่าวอยู่ขายหุ้น และกดให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปอีกจนกระทั่งก่อเป็นกระแสในขาลง

ลักษณะเด่นประการหนึ่งของหุ้นที่กำลังอยู่ในกระแสขาขึ้นคือ นักลงทุนจะตีความข้อมูลทางเศรษฐกิจ หรือข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับหุ้นเหล่านั้นไปในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบ ข่าวร้ายที่มากระทบจะถูกเพิกเฉย ส่วนข่าวดีจะได้รับการตีความไปในทางดีจนเกินจริง ทำให้ราคาหุ้นที่อยู่ในกระแสสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทิศทางตลาดไปได้เรื่อยๆ จนกว่ากระแสของหุ้นจะเปลี่ยนเป็นขาลง ลักษณะเด่นข้อนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางตรงกันข้ามด้วยช่นกัน

เนื่องจากการลงทุนแบบตามกระแสนี้อาจให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจยิ่ง หรือให้ผลเลวร้ายอย่างที่สุดก็ได้ ขึ้นอยู่กับนักลงทุนจะสามารถเข้าใจวัฏจักรของหุ้นที่ลงทุนได้อย่างถูกต้องหรือไม่ นักลงทุนแบบตามกระแสควรจึงให้ความสำคัญกับวัฎจักรดังกล่าว และเฝ้าติดตามปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสอย่างใกล้ชิด เช่น ผลประกอบการของบริษัท ทิศทางของอุตสาหกรรม การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือแนวโน้มเชิงเทคนิค เป็นต้น ทั้งนี้นักลงทุนจะต้องตอบสนองให้ทันท่วงทีเมื่อเชื่อว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นนัยสำคัญจนทำให้กระแสหุ้นเปลี่ยนทิศไป ดังคำกล่าวที่ว่า “เกาะติด โดดทัน” นั่นเอง

การลงทุนแบบสวนกระแส (Reversal Investing)

การลงทุนแบบสวนกระแสนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าการเคลื่อนไหวของสรรพสิ่งจะมีแนวโน้มกลับเข้าสู่ค่ากลางเสมอ (Mean reverting process) ดังนั้นหุ้นทุกตัวจึงมีวัฎจักรขึ้นลงสลับสับเปลี่ยนกันไป แต่ในระยะยาวแล้วราคาหุ้นทุกตัวจะกลับเข้าสู่ค่ากลางเสมอ การลงทุนแบบสวนกระแสจึงเน้นลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจของตลาด แต่มีแนวโน้มว่าหุ้นดังกล่าวจะกลับมาสู่ความสนใจของตลาดอนาคต

นักลงทุนแบบสวนกระแสจะแสวงหาอุตสาหกรรมที่อยู่นอกความสนใจของตลาดในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มจะกลับมาอยู่ในวัฎจักรขาขึ้นในไม่ช้า จากนั้นศึกษาเพื่อหาบริษัทที่มีฐานะทางการเงินที่เข็มแข้งซึ่งจะอยู่รอดในช่วงที่อุตสาหกรรมซบเซา (ในขณะที่บริษัทคู่แข่งล้มหายตายจาก) และได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอย่างเต็มที่ จากนั้นจึงเข้าลงทุนในระดับราคาที่เชื่อว่าตลาดได้ละเลยหุ้นดังกล่าวไปแล้วโดยสิ้นเชิง แล้วรอจนอุตสาหกรรมนั้นฟื้นตัวและกลับเข้ามาอยู่ในความสนใจของตลาดอีกครั้งเพื่อจะรอขายหุ้นไปในระดับราคาที่พอใจในขณะที่นักลงทุนคนอื่นๆในตลาดกำลังไล่ซื้อหุ้นนั่นเอง

นักลงทุนแบบสวนกระแสจำเป็นต้องปล่อยวางต่อการเคลื่อนไหวของภาวะตลาดในระยะสั้น และเพิกเฉยต่อการปลุกเร้าของตลาดในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง เพื่อรอโอกาสที่เข้าลงทุนในระดับราคาที่เหมาะสม (ซึ่งโอกาสเช่นนี้ไม่ได้มีอยู่ตลอดเวลา และมักไม่อยู่ในภาวะตลาดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ไล่ซื้อหุ้น) ทำให้บางครั้งนักลงทุนแบบสวนกระแสอาจถือครองเงินสดในขณะที่ตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเข้าซื้อหุ้นในขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังเบื่อหน่ายตลาดหุ้นถึงขีดสุด ซึ่งจะแตกต่างกับการลงทุนแบบตามกระแสที่นักลงทุสนมักมีสถานะเสี่ยงกับหุ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสถานะซื้อหรือขายชอร์ต (Selling short) เนื่องจากเชื่อว่าเขาเหล่านั้นสามารถจับกระแสตลาดหรือหุ้นแต่ละตัวได้อย่างถูกต้องตลอดเวลานั่นเอง

กล่าวโดยสรุปการลงทุนแบบสวนกระแสนี้นักลงทุนจำเป็นอาศัยความอดทน เพราะการรอให้ตลาดเปลี่ยนความสนใจจากอุตสาหกรรมที่กำลังร้อนแรงไปสู่อุตสาหกรรมที่ตลาดไม่ได้ให้ความสนใจในขณะนั้นจำเป็นต้องอาศัยเวลาซื่งไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ นักลงทุนอาจจำเป็นต้องแบกรับผลขาดทุนในช่วงแรกเป็นปีๆ หรืออาจหลายปี ก่อนที่การลงทุนนั้นจะออกดอกผลที่เกินคุ้ม ด้วยเหตุนี้การลงทุนแบบสวนกระแสนี้จึงไม่เหมาะกับนักลงทุนที่มีระยะเวลาการลงทุนที่สั้น หรือต้องเปรียบเทียบผลตอบแทนจากการลงทุนกับดัชนีอ้างอิง

ในครั้งต่อไปจะเป็นบทสรุปของคอลลัมน์ “ลงทุนอย่างมีสไตล์” รวมถึงคำแนะนำที่อาจเป็นประโยชน์กับนักลงทุนสำหรับการลงทุนในรูปแบบต่างๆที่ได้แนะนำให้นักลงทุนรู้จักไปแล้ว

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM ผู้ก่อตั้งเพจ Indy Investor Forum จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท จากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณชาตรีเริ่มต้นการทำงานในสายการเงินในตำแหน่ง Management Trainee บมจ.ธนาคารกรุงไทย เมื่อปี 2546 ก่อนจะเริ่มต้นการทำงานในด้านการบริหารกองทุนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ฝ่ายกองทุนผสม บลจ. กสิกรไทย ในปี 2548 ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายตราสารทุน บลจ.เอ็มเอฟซี เมื่อปี 2551 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ. ไทยพาณิชย์ คุณชาตรีมีประสบการณ์บริหารจัดการกองทุนตราสารทุน ทั้งในรูปแบบกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีความสนใจการลงทุนในตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ นอกจากนี้คุณชาตรียังมีประสบการณ์เป็นอาจารย์พิเศษให้กับ ม.วลัยลักษณ์ ม.หอการค้าไทย และ ABAC อีกด้วย
Posts created 15

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top