InvestmentTalk – ว่าด้วยเรื่องของเถ้าแก่กับลูกจ้าง

แชร์บทความนี้

ว่าด้วยเรื่องของเถ้าแก่กับลูกจ้าง

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM

วันเวลาในตลาดทุนทำให้ผมมีโอกาสได้สัมผัส และซึมซับแนวคิดรวมถึงมุมมองต่อสิ่งต่างๆของผู้คนมากมาย จากทั้งภาคตลาดทุน ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ซึ่งจากการสังเกตของผมนักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จได้ จำเป็นต้องมี “แนวคิดแบบเถ้าแก่” (Entrepreneurship) เป็นพื้นฐาน แล้วแนวคิดแบบเถ้าแก่นี้เป็นอย่างไรแตกต่างจากแนวคิดแบบลูกจ้างอย่างไรในมุมมองของผมลองมาดูกันครับ

  • เถ้าแก่ : กระตือรือล้น และทำทุกอย่างสุดความสามารถเสมอ เพราะเขารู้ว่าถ้าเขาทำมากเขาจะได้มาก
  • ลูกจ้าง : ทำงานตามหน้าที่ ทำงานตามสั่ง และเฉื่อยชา เพราะเขาทำมากหรือทำน้อยเขาก็ได้เงินเดือนเท่าเดิม
  • เถ้าแก่ : กล้าที่จะคิดต่าง เพราะการคิดนอกกรอบสามารถสร้างธุรกิจใหม่ และเพิ่มรายได้ให้เถ้าแก่ได้ไม่จำกัด
  • ลูกจ้าง : คิดแต่จะอยู่ในกรอบ กลัวความคิดตนจะไม่เหมือนคนอื่น กลัวผิดระเบียบปฎิบัติ กลัวขัดใจนาย การคิดต่างไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของลูกจ้างดีขึ้นมีแต่จะทรงหรือแย่ลง
  • เถ้าแก่ : กล้าที่จะเสี่ยงในสิ่งที่เขาคิดดีแล้ว กล้าจะเผชิญกับความไม่แน่นอน กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ และยอมรับได้กับผลของการตัดสินใจและการกระทำของเขาไม่ว่าจะดีจะร้าย
  • ลูกจ้าง : หลีกเลี่ยงความเสี่ยง เพราะกลัวล้มเหลว กลัวถูกนายตำหนิ ชอบสิ่งที่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้า และเมื่อทำสิ่งใดผิดพลาดมันโยนความผิดให้ผู้อื่น
  • เถ้าแก่ : เชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ ชีวิตคนเราขึ้นอยู่กับการกระทำของเรา ถ้าพบอุปสรรคระหว่างทางเขาพร้อมที่จะหาทางออกทุกวิถีทางเพื่อให้เป้าหมายของเขาลุล่วงไปได้ เขาเลือกจะหาทางไปไม่เปลี่ยนเป้าหมาย
  • ลูกจ้าง : เชื่อว่าทุกอย่างถูกลิขิตไว้แล้ว ไม่ว่าทำอย่างไรชีวิตเราก็เปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าพบอุปสรรคระหว่างทางเขามักจะเลือกล้มเลิกเป้าหมายแทนที่จะหาทางทำให้เป้าหมายเป็นไปได้ เขาเลือกจะเปลียนเป้าหมายไม่พยายามหาหนทางไป
  • เถ้าแก่ : ไม่ท้อแท้ ไม่ว่าเขาจะล้มเหลวกี่ครั้งก็พร้อมจะลุกขึ้นสู้ต่อไป โดยใช้ความผิดพลาดเป็นบทเรียน
  • ลูกจ้าง : ถอดใจเมื่อล้มเหลว และหาทางหลีกหนีจากสิ่งที่ตนเคยล้มเหลว และก็มักจะไปพบกับความล้มเหลวใหม่ๆที่เขาไม่เคยเจอ
  • เถ้าแก่ : เห็นคุณค่าของเงิน มักเก็บออมเพื่อนำเงินออมมาลงทุนเพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติม และเก็บไว้สำรองเผื่อธุรกิจของตนมีปัญหา
  • ลูกจ้าง : คิดว่าเงินเป็นสิ่งที่ได้มาแน่นอนทุกเดือน อย่างไรนายจ้างก็ต้องจ่ายให้ เมื่อมีโอกาสก็มักใช้เงินให้หมดไป และรอคอยเงินเดือนๆต่อไปมาใช้ใหม่
  • เถ้าแก่ : กู้เงินมาเพื่อลงทุน ขยายกิจการ ต่อยอดธุรกิจ และเมื่อมีโอกาสก็จะคืนเงินกู้ เพื่อลดภาระดอกเบี้ย
  • ลูกจ้าง : กู้เงินมาเพื่ออุปโภคบริโภค และมักกู้เงินไปเพื่อซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยไปเรื่อยๆ เท่าที่จะยังจ่ายค่างวดไหว

แล้วทำไมนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจึงต้องมีแนวคิดอย่างเถ้าแก่ นั่นก็เพราะแนวคิดแบบเถ้าแก่จะช่วยเกื้อหนุนให้นักลงทุนตัดสินใจลงทุนได้ถูกต้อง ซึ่งตรงข้ามกับแนวคิดแบบลูกจ้างโดยสิ้นเชิง

  • ถ้าคุณขาดความกระตือรือล้น คุณก็จะขาดความมุ่งมั่นที่จะค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจให้ดีที่สุด หรือหลีกเลี่ยงความรู้ใหม่ๆและทำให้คุณยึดติดกับแนวคิดเดิมๆ
  • ถ้าคุณขาดความคิดนอกกรอบ คุณก็จะถูกตลาดชัดนำได้ง่ายและมีแนวโน้มจะแห่ตามนักลงทุนรายอื่นๆ ถ้านักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดไม่ได้เป็นเศรษฐี คุณที่แห่ตามนักลงทุนส่วนใหญ่ก็มีแนวโน้มจะไม่ได้เป็นเศรษฐีไปด้วย
  • ถ้าคุณกลัวที่จะล้มเหลว การตัดสินใจของคุณก็จะขาดความเด็ดขาด และมีแนวโน้มจะปล่อยให้ความผิดพลาดขยายผลไปเรื่อยๆเพราะคุณปฎิเสธที่จะยอมรับและแก้ไขมัน
  • ถ้าคุณเชื่อว่าทุกอย่างถูกลิขิตไว้แล้ว คุณก็จะดำเนินชีวิตไปตามตามแบบอย่างที่คุณเคยเห็น เคยสัมผัส ซึ่งอาจเป็นพ่อแม่ของคุณ ญาติผู้ใหญ่ของคุณ หรืออาจารย์ของคุณ และคิดว่าชีวิตของคุณเป็นได้ไม่มากไปกว่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วมหาเศรษฐีระดับโลกในปัจจุบัน หลายคนก็สร้างเนื้อสร้างตัวมาด้วยตัวเองไม่ได้พึ่งแค่สิ่งที่มีมาแต่กำเนิด
  • ถ้าคุณท้อแท้ง่าย เมื่อคุณล้มเหลว คุณก็จะไม่พยายามหาสาเหตุเพื่อแก้ไขและลุกขึ้นสู้กับปัญหา แต่จะเลือกหนีจากความล้มเหลวนั้นๆ สุดท้ายคุณก็จะล้มเหลวไปเรื่อยๆไม่ว่าคุณจะเปลี่ยนไปทำอะไรก็ตาม
  • ถ้าคุณไม่รู้จักเก็บออม คุณจะก็ไม่มีเงินลงทุนซักที มีเหตุผลข้ออ้างนับล้านที่คุณอาจใช้อธิบายว่าทำไมคุณจึงไม่มีเงินเริ่มลงทุน แต่เหตุผลจริงๆมีเพียงข้อเดียวคือ คุณไม่เริ่มออมเงิน จำเอาไว้ว่าการลงทุนเริ่มต้นจากการออมเสมอ
  • ถ้าคุณกู้เงินมาเพื่อการอุปโภคบริโภค สุดท้ายเงินนั้นก็จะหมดไป แต่ถ้าคุณกู้เงินมาเพื่อลงทุน คุณยังมีสองทางเลือกคือ 1. เงินก็หมดไปอยู่ดี (เพราะขาดทุน) 2. เงินอาจเพิ่มขึ้นมากกว่าเงินกู้และคุณจะสามารถนำไปลงทุนต่อได้อีก การลงทุนไม่แน่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป แต่อย่างน้อยคุณยังมีโอกาสที่จะได้กำไรและสร้างรากฐานความมั่งคั่งได้ มหาเศรษฐีทุกคนล้วนแต่เคยสัมผัสการใช้เงินกู้มาแล้วทั้งนั้น แต่สาเหตุที่พวกเขาประสบความสำเร็จได้เพราะพวกเขาเลือกที่จะกู้มาลงทุนไม่ใช่กู้เพื่อการบริโภค

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนที่เป็นลูกจ้าง หรือข้าราชการ จะไม่สามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ เพราะสิ่งสำคัญสำหรับการลงทุนไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าคุณกำลังทำอาชีพอะไร แต่อยู่ที่ว่าคุณมีแนวคิดอย่างไร ถ้าคุณสามารถปรับแนวคิดของคุณให้คิดอย่างเถ้าแก่ได้ ช้าหรือเร็ววันหนึ่งคุณก็จะอยากเป็นเถ้าแก่ และเมื่อคุณเริ่มคิดจะอยากเป็นเถ้าแก่ คุณก็จะเริ่มมีโอกาสเป็นเถ้าแก่ได้ สำหรับผมแล้วการปรับแนวคิดให้เหมาะสมเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการลงทุนครับ

งานเขียนฉบับนี้เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนซึ่งอาศัยข้อสังเกตและประสบการณ์ส่วนตัวในตลาดทุนเท่านั้น ไม่มีงานวิจัยใดๆสนับสนุนแนวคิดดังกล่าวของผู้เขียน ผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน อนึ่ง ผู้เขียนแสดงทัศนะในบทความนี้ในเชิงส่วนตัวไม่ได้แสดงความเห็นแทนบริษัท คณะบุคคล มูลนิธิหรือองค์กรใดๆ ทั้งสิ้น

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM ผู้ก่อตั้งเพจ Indy Investor Forum จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท จากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณชาตรีเริ่มต้นการทำงานในสายการเงินในตำแหน่ง Management Trainee บมจ.ธนาคารกรุงไทย เมื่อปี 2546 ก่อนจะเริ่มต้นการทำงานในด้านการบริหารกองทุนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ฝ่ายกองทุนผสม บลจ. กสิกรไทย ในปี 2548 ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายตราสารทุน บลจ.เอ็มเอฟซี เมื่อปี 2551 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ. ไทยพาณิชย์ คุณชาตรีมีประสบการณ์บริหารจัดการกองทุนตราสารทุน ทั้งในรูปแบบกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีความสนใจการลงทุนในตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ นอกจากนี้คุณชาตรียังมีประสบการณ์เป็นอาจารย์พิเศษให้กับ ม.วลัยลักษณ์ ม.หอการค้าไทย และ ABAC อีกด้วย
Posts created 15

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top