InvestmentTalk – การลดทุนของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์: แนวทางของผู้บริหารกองทุน + ประเด็นทางบัญชีและภาษีเงินได้

แชร์บทความนี้

ท่านใดที่ยังไม่คุ้นเคยกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์หรือสงสัยว่าทำไมต้องลดทุน แนะนำอย่างยิ่งให้อ่านบทความ 2 เรื่องนี้ก่อนครับ

1) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ เงินปันผลสูง ความผันผวนต่ำกว่าหุ้น
2) เจาะลึกเทคนิกการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตอนที่ 3: การบันทึกด้อยค่าของกองทุนสิทธิการเช่า

ในปี 2552 สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. (SEC) ได้ออกหลักเกณฑ์ใหม่เกี่ยวสำหรับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (PFund) ซึ่งรวมถึงเรื่องการลดทุน (อ่านสรุปสาระสำคัญของประกาศ SEC ดังกล่าวได้ที่นี่ http://capital.sec.or.th/webapp/nrs/data/5214a0.pdf โดยเรื่องการลดทุนจะอยู่ในหน้าสุดท้าย)

ทำให้ PFund โดยเฉพาะประเภทที่มีทรัพย์สินเป็นสิทธิการเช่า หรือที่เรียกว่า Leasehold (ซึ่งมีอายุสิทธิที่จำกัด และมูลค่ามีแนวโน้มลดน้อยลงตามระยะเวลาของ Leasehold ที่เหลืออยู่) ต้องเสนอเรื่องให้ผู้ลงทุนพิจารณาอนุมัติให้ผู้จัดการกองทุน PFund สามารถทำการลดทุนได้ตามวิจารณญานของผู้จัดการ PFund

ที่ผ่านมามี PFund ประเภท Leasehold รายหนึ่งได้ประกาศลดทุนแล้ว (นับเป็นรายแรกของวงการ) และไม่ได้จ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ทำให้ผมเองในฐานะนักลงทุนสถาบันมีความสงสัยเกี่ยวกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากกระบวนการลดทุนดังกล่าวใน 2 ประเด็นคือ

1)  ผู้จัดการ PFund ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มีแนวทางพิจารณาอย่างไรในการจ่ายเงินปันผลและการลดทุน?
2)  หลังจากได้เงินจากการลดทุนมาแล้ว จะต้องบันทึกบัญชีอย่างไรและมีประเด็นทางภาษีเงินได้อย่างไร สำหรับทั้งนักลงทุนนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา?

จากการหารือกับบลจ.ที่บริหารจัดการ PFund บางราย รวมทั้งผู้สอบบัญชีของ PFund รายหนึ่ง จึงพอจะได้ข้อมูลสำหรับ 2 คำถามข้างต้น ดังนี้ครับ

1) แนวทางการพิจารณาจ่ายเงินปันผลและการลดทุน

ก่อนจะเข้าสู่รายละเอียดของแนวทางการพิจารณา ขอทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า PFund มีปัจจัยสำคัญ 2 ประการที่มีผลกระทบต่อมูลค่าและราคาตลาด คือ  รายได้ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเงินสด และ มูลค่าที่เหมาะสมของกองทุนที่เกิดจากประเมินโดยผู้ประเมินทรัพย์สิน

ในส่วนของรายได้ที่เป็นเงินสดนั้น เมื่อหักออกด้วยค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสดเช่นกันแล้ว ก็จะสามารถนำมาจ่ายเป็นเงินปันผลให้นักลงทุนเป็นรายไตรมาส

ในส่วนของมูลค่าที่เหมาะสมซึ่งมักจะได้มาโดยวีธีประมาณการณ์รายได้ในอนาคต (Income Approach) นั้น ก็จะถูกประเมินใหญ่ทุก 2 ปี และสอบทานทุกๆ ปี

ซึ่งหากผลการประเมินออกมาได้มูลค่า “สูง” กว่างวดก่อนหน้า ก็จะบันทึกในงบกำไรขาดทุนว่าเป็น “กำไรสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจากเงินลงทุน” พร้อมกับบันทึกในงบดุลว่าเป็น “กำไรสะสม”  แต่หากผลการประเมินออกมา “ต่ำ” กว่างวดก่อนหน้า ก็จะบันทึกในงบกำไรขาดทุนว่าเป็น “ขาดทุนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจากเงินลงทุน” พร้อมกับนำไปหักออกจากกำไรสะสม “เดิม” ให้ลดลง แต่หากต้องหักมากเสียจนกำไรสะสมหมดไปและต้องกินทุนเดิมเริ่มแรก ก็จะเรียกว่า “ขาดทุนสะสม”

กลับมาที่แนวทางการพิจารณา ซึ่ง บลจ.แห่งหนึ่ง เล่าให้ฟังดังนี้

ขั้นที่ 1) จ่ายเงินปันผลประจำไตรมาส จากรายได้ค่าเช่าที่เป็นเงินสดสุทธิจากค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินสด (เรียกว่า “รายได้ที่นำมาจ่ายเป็นเงินปันผลได้”) โดยจะต้องจ่ายเงินปันผลออกมาไม่ตำกว่า 90% ของรายได้ที่นำมาจ่ายเป็นเงินปันผลได้

ขั้นที่ 2) ตั้งเงินสำรองค่าซ่อมแซมอสังหาริมทรัพย์รวมถึงเงินกู้ยืมที่ต้องชำระคืนในอนาคต (ถ้ามี) (ขณะนี้ SEC อนุญาตให้ PFund กู้เงินเพื่อ Leverage ผลการดำเนินงานได้แล้วโดยมีข้อจำกัดอยู่บ้าง) ซึ่งหลังจากจบขั้นที่ 2 หากไม่มีเงินสดคงเหลือ ก็ไม่ต้องลดทุนในไตรมาสนั้น เป็นอันจบกระบวนการ แต่หากมีเงินสดคงเหลือ ก็จะเข้าสู่ขั้นที่ 3

ขั้นที่ 3) พิจารณาว่าไตรมาสนั้นมีค่าใช้จ่ายด้อยค่าที่เกิดจากผลการประเมินมูลค่า PFund หรือไม่  ถ้าไม่มีการด้อยค่า ก็ไม่ต้องลดทุนในไตรมาสนั้น เป็นอันจบกระบวนการ แต่หากมีการด้อยค่า ก็จะเข้าสู่ขั้นที่ 4

ขั้นที่ 4) กรณีมีการด้อยค่าจากผลประเมินมูลค่า ก็จะประกาศลดทุน โดยจำนวนเงินลดทุนที่จ่ายออกมาจะไม่เกินกว่าการด้อยค่า และต้องไม่เกินกว่าเงินสดที่มีอยู่

จึงพอจะสรุปได้ว่า แนวทางการพิจารณาของผู้จัดการ PFund ก็น่าจะเป็นไปตามเนื้อผ้า คือดูจากผลประกอบการจริงและมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้จากการประเมิน

2) ประเด็นการบันทึกบัญชีและภาษีเงินได้

2.1 การบันทึกบัญชี – เมื่อ PFund ประกาศลดทุนโดยการจ่ายเงินสดคืนทุนออกมา นักลงทุนนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา อาจมีแนวทางบันทึกบัญชีได้ต่างกัน

ในส่วนของนักลงทุนนิติบุคคล ซึ่งต้องบันทึกบัญชีอย่างชัดเจนตามมาตรฐานบัญชี ก็จะต้องนำเงินสดที่ลดทุนไปตัดออกจากต้นทุนเดิม เช่น เดิมถือ SPF ต้นทุน 9.00 บาท เมื่อได้เงินลดทุน 0.28 บาท ก็จะต้องลดต้นทุนลงให้เหลือ 8.72 บาท โดยจะไม่มีรายได้เกิดขึ้นในงบกำไรขาดทุนแต่อย่างใด และในงบดุลจะต้องปรับลดสินทรัพย์ประเภทเงินลงทุนลงไป 0.28 บาท และมีเงินสดเพิ่มขึ้น 0.28 บาท

ในส่วนของนักลงทุนบุคคลธรรมดา จะมีความยึดหยุ่นในการจัดกระแสเงินสดในบัญชีของท่านเอง เช่น เงินคืนทุนจาก SPF 0.28 บาท (ซึ่งเป็นการคืนจากราคาพาร์ IPO ที่ 10 บาท) หากท่านมีต้นทุนต่ำกว่า 10 บาทมากๆ เช่น 8.50 บาท ท่านก็อาจบันทึกเงินสด 0.28 บาทเป็นรายได้ (ในบัญชีส่วนตัวของท่านเอง) ทั้งก้อนเลยก็ได้ หรืออาจะจะแบ่งส่วนหนึ่งไปตัดลดต้นทุนลงบ้าง เช่น แบ่งเงิน 0.28 บาท ออกเป็นการลดทุน 0.10 บาท (ทำให้ต้นทุน SPF ของท่านลดลงเหลือ 8.40 บาท) และเป็นรายได้เงินปันผล 0.18 บาท

ซึ่งการเลือกบันทึกเป็นการลดทุนทั้งก้อนหรือการแบ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินปันผล จะมีผลต่อมูลค่าความมั่งคั่งโดยรวมของท่านแตกต่างกัน

การเลือกลดทุนเต็มจำนวน จะทำให้สินทรัพย์ท่านไม่เพิ่มขึ้นเลย แต่จะเปลี่ยนสภาพจากเงินลงทุนใน SPF ไปเป็นเงินสด ขณะที่การแบ่งส่วนหนึ่งให้เป็นเงินปันผล ท่านจะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนเงินปันผลที่ท่านปันส่วนมาบันทึก ซึ่งก็แล้วแต่ความเข้นข้นส่วนตัวในการปฎิบัติตามหลักความระมัดระวัง

2.2 ภาษีเงินได้ – ประเด็นนี้น่าสนใจและยังไม่ได้ข้อยุติเสียทีเดียว เพราะปัญหามีอยู่ว่า

• เงินลดทุนตามปกติแล้วไม่ใช่รายได้ที่ต้องเสียภาษี แต่เงินปันผลเป็นรายได้ซึ่งต้องเสียภาษี
• การลดทุนตามปกติแล้วจะทำเพื่อล้างขาดทุนสะสม เนื่องจากบริษัทที่มีขาดทุนสะสมจะจ่ายเงินปันผลออกมาไม่ได้ แต่มีกรณีจริงในปัจจุบันที่ PFund ประกาศลดทุนขณะที่ยังมีกำไรสะสมเหลืออยู่ โดยไม่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ซึ่งกรมสรรพากร “อาจ” มองเงินคืนทุนนั้นเป็น “รายได้ซึ่งต้องเสียภาษี” ในภายหลัง
• การลดทุนของ PFund ทำไปตามระเบียบของ SEC ซึ่งอิงกับพรบ.หลักทรัพย์ฯ ส่วนการเก็บภาษีเป็นเรื่องกรมสรรพากร ซึ่งอิงกับประมวลรัษฎากร Regulators ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จึงนับว่ามาจากคนละหน่วยงาน และใช้กฎหมายคนละฉบับกัน

จึงพอสรุปในขั้นนี้ได้ว่า หากเป็นการลดทุนในขณะที่ PFund ยังมีกำไรสะสมเหลืออยู่ ก็มี “ความเสี่ยง” ที่จะถูกเก็บภาษีย้อนหลังได้ และหากเป็นนักลงทุนประเภทนิติบุคคลด้วยแล้วก็จะเสียประโยชน์ 2 ต่อ เพราะไม่มีรายได้เข้ามาและอาจต้องจ่ายภาษีอีกต่างหาก แต่หากเป็นการลดทุนเพราะ PFund เกิดการด้อยค่ามากเสียจนเกิดขาดทุนสะสม ก็พอจะอุ่นได้ว่าเงินสดที่นักลงทุนได้กลับมานั้น ไม่น่าจะต้องเสียภาษีเงินได้

ทั้งนี้ หากมีความชัดเจนเพิ่มเติมในเรื่องใดก็จะนำมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไปครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ (SJ, Keng) ปัจจุบันทำงานด้านการลงทุนอยู่ที่บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) (Bangkok First Investment & Trust Public Company Limited หรือ "BFIT") ในตำแหน่ง Head of Investment Advisory Department ดูแลงานระดมทุนของบริษัท ควบกับตำแหน่ง Investment Committee ดูแลเงินลงทุนในหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ และบริหารสภาพคล่องของธุรกิจผ่านธุรกรรมในตลาดเงิน ในด้านคุณวุฒิ สอบผ่านหลักสูตร Certified Investment & Securities Analyst Level 2 (CISA II) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ และผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน รวมถึงได้รับอนุญาตจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ให้เป็นผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน SJ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท (MBA, Finance) จาก The University of Western Australia และเคยทำงานวิเคราะห์สินเชื่อลูกค้าเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
Posts created 24

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top