InvestmentTalk – ทันเกมส์ส่วนของผู้ถือหุ้น: การจ่ายปันผล

แชร์บทความนี้

ส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ Shareholders’ Equity เป็นองค์ประกอบทางการเงินที่สำคัญยิ่งของบริษัททุกแห่ง เนื่องจากเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจทั้งหมด โดยการเป็นแหล่งทุนเริ่มแรกเพื่อนำไปผลิตสินค้าหรือบริการที่จะกลายเป็นยอดขายให้กับบริษัท เพื่อสร้างผลกำไรให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเติบโตยิ่งๆ ขึ้นไปไม่รู้จบ

ตามหลักบัญชีขั้นพื้นฐาน โครงสร้างทางการเงินของบริษัทจะเป็นไปตามสมการที่ว่า สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของผู้ถือหุ้น หรืออาจกล่าวได้ว่า สินทรัพย์ทั้งหมดของบริษัท ถ้าไม่ได้มาด้วยเงินของเจ้าของ (ผู้ถือหุ้น) เอง ก็เกิดจากการก่อหนี้สินเพื่อไปซื้อมา

งบดุลของบริษัทที่มีการกู้ยืม

สินทรัพย์

หนี้สิน

เงินสด 50 ล้านบาท

เงินกู้ยืมธนาคาร 200 ล้านบาท

เครื่องจักร 250 ล้านบาท

ส่วนของผู้ถือหุ้น

ทุนชำระแล้ว 100 ล้านบาท

 

โดยทั่วไป ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจมาแล้วมีผลกำไรตามที่ต้องการ จะประกอบด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ

1) ทุนชำระแล้ว (เงินทุนที่ผู้ถือหุ้นนำเข้ามาในบริษัทจริงๆ) และ
2) กำไรสะสม (ผลรวมของกำไรสุทธิที่ได้จากการดำเนินธุรกิจที่ผ่านมา)

งบดุลของบริษัทที่มีการกู้ยืม
และดำเนินธุรกิจจนมีกำไรสะสม

สินทรัพย์

หนี้สิน

เงินสด 100 ล้านบาท

เงินกู้ยืมธนาคาร 200 ล้านบาท

เครื่องจักร 250 ล้านบาท

ส่วนของผู้ถือหุ้น

ทุนชำระแล้ว 100 ล้านบาท

กำไรสะสม 50 ล้านบาท

 

สำหรับการลงทุนในหุ้นซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันดี แท้จริงแล้ว ก็คือการซื้อมูลค่าของส่วนของผู้ถือหุ้นที่แบ่งออกเป็นส่วนย่อยๆ เท่าๆ กัน (หรือที่เรียกว่า หุ้น) เพื่อให้คนจำนวนมากสามารถร่วมกันเป็นเจ้าของบริษัทได้ตามสัดส่วนเงินที่เราร่วมลงทุนไป นั่นเอง

โดยทั่วไป เรามักพูดกันถึงวิธีการจัดการสินทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือการบริหารหนี้สินให้บริษัทสามารถปฏิบัติตามสัญญาที่มีต่อเจ้าหนี้ได้อย่างครบถ้วน แต่ในโอกาสนี้ จะขอนำเรื่องส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับนักลงทุนอย่างเราๆ ท่านๆ มาเล่าให้ฟังครับ โดยจะกล่าวถึงการจ่ายปันผล ครับ

การจ่ายปันผล

เมื่อบริษัทสามารถดำเนินธุรกิจจนมีผลกำไร บริษัทมีทางเลือกในการจัดสรรผลกำไร  2 แนวทางคือ 1) เก็บไว้เป็นทุนหมุนเวียนภายในบริษัท ในรูปของกำไรสะสม หรือ 2) ส่งผลกำไรกลับไปยังผู้ถือหุ้น ในรูปของการจ่ายปันผล

1. ข้อกฎหมายและประเด็นภาษีเงินได้


1.1 คุณสมบัติของบริษัทที่จะจ่ายปันผลได้

พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 มาตรา 115 กำหนดไว้ว่า “การจ่ายเงินปันผลจากเงินประเภทอื่นนอกจากเงินกำไรจะกระทำมิได้ ในกรณีที่บริษัทยังมียอดขาดทุนสะสมอยู่ ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผล”

ดังนั้น บริษัทจะจ่ายเงินปันผลได้ ส่วนทุนจะต้องมีกำไรสะสมเป็นบวกอยู่เท่านั้น หากบริษัทไหนมีผลขาดทุนสะสมค้างอยู่ ถึงแม้บางปีจะมีกำไรสุทธิ แล้วอยากจะจ่ายปันผล ก็ไม่สามารถทำได้ (แต่กรณีนี้ก็สามารถใช้กลยุทธ์ลดทุนเพื่อล้างขาดทุนสะสมก่อนแล้วค่อยจ่ายปันผลก็ได้)

1.2 ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และการเครดิตภาษี

บริษัทที่เป็นผู้จ่ายปันผล มีหน้าที่หักภาษีหัก ณ ที่จ่าย (“Witholding Tax) ในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่าปันผลที่จ่าย (ไม่ว่าจะจ่ายปันผลเป็นเงินสด    หรือ เป็นหุ้น ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดต่อไป) เช่น บริษัท ABC จำกัด (มหาชน) ประกาศจ่ายเงินปันผลหุ้นละ 10 บาท หากเราถือหุ้น ABC อยู่จนมีสิทธิได้รับเงินปันผล จำนวน 100 หุ้น เราก็จะได้เงินสดสุทธิ 10 x 100 x 90% หรือ 900 บาท โดยบริษัทจะหักเงินไว้ 100 บาทเพื่อนำส่งกรมสรรพากรต่อไป

นอกจากนั้น ผู้ที่ได้รับเงินปันผล ยังสามารถพิจารณาขอคืนภาษี หรือที่เรียกว่า การเครดิตภาษี ได้ด้วย ซึ่งมีการคำนวณดังนี้ [อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่จ่ายปันผล] หารด้วย [1 – อัตราภาษีฯ] เช่น ABC ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ 30 ของกำไร อัตราการได้รับเครดิตภาษีของผู้ถือหุ้นจะเท่ากับ 30% / (100% – 30%) หรือ 3/7 แล้วนำไปคูณกับจำนวนปันผลที่ได้รับ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องเครดิตภาษีได้ที่นี่  http://www.rd.go.th/publish/5937.0.html#mata47_2)

2. การจ่ายปันผลเป็นเงินสดอย่างเดียวและการจ่ายปันผลเป็นหุ้นบวกเงินสด

นอกจากการจ่ายปันผลเป็นเงินสด ซึ่งทำกันโดยทั่วไป บริษัทอาจเลือกตอบแทนผู้ถือหุ้นด้วยการจ่ายเป็นหุ้นปันผลแทนก็ได้ (หุ้นก็สามารถตีมูลค่าเป็นเงินได้เช่นกัน)

2.1 กรณีจ่ายปันผลเป็นเงินสด

สมมติบริษัท ABC จ่ายปันผลเป็นเงินสด หุ้นละ 1.15 บาท คิดเป็นเงินสดที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น 11.50 ล้านบาท

• ก่อนจ่ายปันผล

งบดุลของบริษัทที่มีการกู้ยืม
และดำเนินธุรกิจจนมีกำไรสะสม

สินทรัพย์

หนี้สิน

เงินสด 100 ล้านบาท

เงินกู้ยืมธนาคาร 200 ล้านบาท

เครื่องจักร 250 ล้านบาท

ส่วนของผู้ถือหุ้น

ทุนชำระแล้ว 100 ล้านบาท

กำไรสะสม 50 ล้านบาท

 

• หลังจ่ายปันผลเป็นเงินสด จำนวนรวมทั้งสิ้น 11.50 ล้านบาท

งบดุลของบริษัทที่มีการกู้ยืม
และดำเนินธุรกิจจนมีกำไรสะสม

สินทรัพย์ หนี้สิน
เงินสด 88.50 ล้านบาท (หลังหักเงินปันผลจ่าย 11.50 ล้านบาท) เงินกู้ยืมธนาคาร 200 ล้านบาท
เครื่องจักร 250 ล้านบาท
ส่วนของผู้ถือหุ้น
ทุนชำระแล้ว 100 ล้านบาท
กำไรสะสม 38.50 ล้านบาท (หลังหักส่วนที่จ่ายออกไปเป็นเงินปันผล 11.50 ล้านบาท)

 

ซึ่งเงินปันผล 11.50 ล้านบาทนั้น ก็จะไปถึงผู้ถือหุ้นจริงๆ 10.35 ล้านบาท ส่วนอีก 1.15 ล้านบาท จะถูกหักไว้เป็น Withholding Tax

(จุดสังเกต #1: ส่วนของผู้ถือหุ้นตอนนี้จะเหลือ 138.50 ล้านบาท)

2.2 กรณีจ่ายปันผลเป็นหุ้นและเงินสด

สมมติให้บริษัท ABC

  • จ่ายหุ้นปันผล อัตรา 10 หุ้นเดิม ได้หุ้นใหม่เป็นหุ้นปันผล 1 หุ้น (10:1) ซึ่งเดิมมีหุ้นอยู่ 10 ล้านหุ้น เมื่อจ่ายหุ้นปันผลแล้วก็จะมีหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านหุ้น (ราคาพาร์ 10 บาทเท่าเดิม) รวมเป็นหุ้นทั้งหมด (เดิม + ปันผล) 11 ล้านหุ้น โดยบริษัทจะลดกำไรสะสมลงไป 10 ล้านบาท และไปเพิ่มทุนจดทะเบียนขึ้นมาอีก 10 ล้านบาท
  • จ่ายเงินสดปันผล 0.15 บาท/หุ้นเดิม มีมูลค่าเท่ากับ 0.15 x 10 ล้านหุ้น หรือ 1.50 ล้านบาท

รวมมูลค่าของการจ่ายปันผลทั้งสิ้น 10 (หุ้นปันผล 1 ล้านหุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 10 บาท) + 1.50 (เงินสดปันผล) = 11.50 ล้านบาท (ตั้งใจให้เท่ากับกรณีจ่ายปันผลเป็นเงินสดล้วนๆ เพื่อให้เทียบกับได้ชัดเจน) ทำให้มี Withholding Tax เกิดขึ้น 11.50 x 10% หรือ 1.15 ล้านบาท

• ก่อนจ่ายเงินปันผล

งบดุลของบริษัทที่มีการกู้ยืม
และดำเนินธุรกิจจนมีกำไรสะสม

สินทรัพย์ หนี้สิน
เงินสด 100 ล้านบาท เงินกู้ยืมธนาคาร 200 ล้านบาท
เครื่องจักร 250 ล้านบาท
ส่วนของผู้ถือหุ้น
ทุนชำระแล้ว 100 ล้านบาท ได้แก่ หุ้นสามัญ 10 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) หุ้นละ 10 บาท
กำไรสะสม 50 ล้านบาท

.

• หลังจ่ายเงินปันผลเป็นหุ้นและเงินสดผสมกัน

งบดุลของบริษัทที่มีการกู้ยืม
และดำเนินธุรกิจจนมีกำไรสะสม

สินทรัพย์ หนี้สิน
งินสด 98.50 ล้านบาท (หลักหักเงินปันผลจ่าย 1.50 ล้านบาท) เงินกู้ยืมธนาคาร 200 ล้านบาท
เครื่องจักร 250 ล้านบาท
ส่วนของผู้ถือหุ้น
ทุนชำระแล้ว 110 ล้านบาท (เดิมมี 100 ล้านบาท) ได้แก่ หุ้นสามัญ 11 ล้านหุ้น (เดิมมี 10 ล้านหุ้น) มูลค่าที่ตราไว้ (ราคาพาร์) หุ้นละ 10 บาท
กำไรสะสม 38.50 ล้านบาท (เดิมมี 50 ล้านบาท แ่ต่จ่ายหุ้นปันผล 10 ล้านบาท และเงินสดปันผล 1.50 ล้านบาท)

(จุดสังเกต #2: ส่วนของผู้ถือหุ้นตอนนี้จะเหลือ 148.50 ล้านบาท มากกว่าวิธีแรก 10 ล้านบาท)

ถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยว่า บริษัทจะจ่ายแต่หุ้นปันผลล้วนๆ ไม่จ่ายเป็นเงินสดได้หรือไม่ ต้องตอบว่า ไม่ได้ เพราะหากไม่มีการจ่ายเงินสดออกมาด้วย บริษัทก็ไม่รู้จะนำเงินของบริษัทเองส่วนไหนไปจ่ายเป็น Withholding Tax ให้ราชการ (จึงต้องหักเอาจากเงินได้ของผู้ถือหุ้นเอง) กล่าวอีกอย่าง การที่บริษัทจำเป็นต้องจ่ายปันผลเป็นเงินสดควบคู่กันไปด้วย ก็เพื่อรองรับการหัก Withholding Tax นั่นเอง จึงเป็นข้อสังเกตได้ว่า เมื่อบริษัทจะจ่ายปันผลเป็นหุ้น ก็จะต้องจ่ายปันผลเป็นเงินสดตามมาด้วยอีกเล็กน้อย เสมอ

ตัวอย่างจริง:

  • บริษัทเอเชี่ยนพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (AP) จ่ายปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 5:1 และเป็นเิงินสด  0.18 บาทต่อหุ้น http://www.set.or.th/dat/news/201103/11011391.pdf
  • บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (HMPRO) จ่ายปันผลเป็นหุ้นในอัตรา 6:1 (หุ้น HMPRO มีราคาพาร์ 1 บาท การจ่ายหุ้นปันผล 6:1 จึงเท่ากับจ่าย 0.16667 บาทต่อหุ้น) และเป็นเงินสด 0.0193 บาทต่อหุ้น http://www.set.or.th/dat/news/201102/11004826.pdf


3. เปรียบเทียบการจ่ายปันผลวิธีต่างๆ

 

ประเด็น จ่ายปันผลเป็นเงินสดอย่างเดียว จ่ายปันผลเป็นหุ้นและเงินสด (ใช้ตัวอย่างจากข้อ 2.2) 
1. มูลค่ารวมของสิ่งผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นได้รับ ไม่ต่างกัน ไม่ต่างกัน
2. Withholding Tax ที่นำส่งกรมสรรพากร ไม่ต่างกัน ไม่ต่างกัน
3. มูลค่าส่วนของผู้ถือหุ้นทั้งหมด หลังจ่ายปันผล ลดลงมาก เนื่องจากจ่ายเป็นเงินสดทั้งหมด ลดลงน้อยกว่า เพราะจ่ายเป็นเงินสดเพียงเพื่อรองรับ Withholding Tax เท่านั้น
4. มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น หลังจ่ายปันผล จะลดลงเท่ากับจำนวนเงินปันผลจ่ายต่อหุ้น จะลดลงตามสัดส่วนการได้หุ้นปันผล เช่น เดิม บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น 150 ล้านบาท มีจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 10 ล้านหุ้น มูลค่าต่อหุ้นจึงเท่ากับ 15 บาท
ใหม่ ส่วนผู้ของถือหุ้น 148.50 ล้านบาท (หักเงินปันผลที่เป็นเงินสด) และมีจำนวนหุ้นเพิ่มเป็น 11 ล้านหุ้น มูลค่าต่อหุ้นจึงลดลงเหลือ 13.50 บาท (ลดลง 10%) ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นแต่ละรายจะไม่ขาดทุน เพราะจะได้จำนวนหุ้นเพิ่มมาอีก 10% (อัตรา 10:1)
5. ราคาหุ้นในตลาดหลังบริษัทแจ้งข่าวการจ่ายปันผล มักจะเพิ่มสูงขึ้น มักเพิ่มสูงขึ้นกว่าการจ่ายปันผลเป็นเงินสดล้วนๆ เนื่องจากมูลค่ากิจการจะไม่ลดลงมากเท่ากรณีจ่ายเป็นเงินสดล้วนๆ ในขณะที่ผู้ถือหุ้นจะได้สิ่งตอบแทนที่มีมูลค่าไม่ต่างจากการจ่ายปันผลเป็นเงินสดล้วนๆ
6. ราคาหุ้นในตลาด ณ วัน XD มักจะลดลงเท่ากับเงินปันผลจ่ายต่อหุ้น มักจะลดลงตามสัดส่วนการได้หุ้นปันผล +  เงินปันผลส่วนที่จ่ายเป็นเงินส


ซึ่งเท่าที่ดูจากตารางข้างต้น การที่บริษัทเลือกจ่ายปันผลเป็นหุ้น (+ เงินสดเล็กน้อย) เหมือนจะเป็นทางเลือกที่ Win-Win 
ทั้งกับฝ่ายบริษัทที่จ่ายปันผล และฝ่ายผู้ถือหุ้น เพราะฝ่ายบริษัทไม่ต้องจ่ายเงินสดออกไปนอกกิจการมากนัก 
แค่โอนตัวเลขงบดุลในส่วนของผู้ถืิอหุ้นไปมา ส่วนฝ่ายผู้ถือหุ้นก็ได้มูลค่าสิ่งตอบแทนเท่ากัน 
เมื่อเทียบกับการได้รับเงินปันผลเป็นเงินสดล้วนๆ แถมมูลค่ากิจการที่วัดจากส่วนของผู้ถือหุ้น 
ซึ่งเป็นตัวแปรต้นของราคาหุ้นในระยะยาว ก็ลดลงแค่นิดเดียว :)

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ (SJ, Keng) ปัจจุบันทำงานด้านการลงทุนอยู่ที่บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) (Bangkok First Investment & Trust Public Company Limited หรือ "BFIT") ในตำแหน่ง Head of Investment Advisory Department ดูแลงานระดมทุนของบริษัท ควบกับตำแหน่ง Investment Committee ดูแลเงินลงทุนในหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ และบริหารสภาพคล่องของธุรกิจผ่านธุรกรรมในตลาดเงิน ในด้านคุณวุฒิ สอบผ่านหลักสูตร Certified Investment & Securities Analyst Level 2 (CISA II) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ และผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน รวมถึงได้รับอนุญาตจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ให้เป็นผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน SJ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท (MBA, Finance) จาก The University of Western Australia และเคยทำงานวิเคราะห์สินเชื่อลูกค้าเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
Posts created 24

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top