InvestmentTalk – ก้าวแรกสู่โลกการวิเคราะห์เชิงเทคนิก (พร้อม Basic Survival Techniques)

แชร์บทความนี้

เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า การวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจลงทุน แบ่งได้เป็น 2 แนวทางใหญ่ๆ ได้แก่  การวิเคราะห์เชิงพื้นฐาน (Fundamental Analysis) และ การวิเคราะห์เชิงเทคนิก (Technical Analysis)

แรกเริ่มเดิมที  ผมตัดสินใจลงทุนโดยใช้การวิเคราะห์เชิงพื้นฐานเพียงอย่างเดียว โดยมีลำดับขั้นตอนคือ

  • กรองหาหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดี ซึ่งหมายถึง อยู่ใน SET100 Index มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนทุน  (Debt to Equity Ratio) ในเกณฑ์ต่ำ
  • นำไปเทียบกับราคาพื้นฐานที่ควรจะเป็นในอนาคต  ซึ่งได้จากทั้งการคำนวณเองและการใช้ข้อมูล Analyst consensus จาก www.settrade.com
  • แล้วจึงเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีราคาตลาดต่ำกว่าราคาพื้นฐานมากที่สุด  (มี Upside หรือโอกาสได้กำไรสูงสุด)

อย่างไรก็ดี เมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏปัญหาบ่อยครั้งว่า

  • ซื้อหลักทรัพย์ไปแล้ว แต่ราคาไม่ปรับขึ้นสู่ราคาพื้นฐาน (เสียที) ทั้งๆ ที่ราคาพื้นฐานไม่เปลี่ยนแปลง
  • หรือบางครั้ง เมื่อเวลาผ่านไป มูลค่าพื้นฐานของหลักทรัพย์ปรับลดลง จนเหลือ Upside ต่ำจนไม่น่าสนใจลงทุนอีกต่อไป ทำให้ต้องขายทิ้งไปทั้งที่ยังไม่ได้กำไรตามที่หวัง

(ทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะตัดพ้อการวิเคราะห์เชิงพื้นฐานแต่อย่างใด เพราะเข้าใจอย่างดีว่า อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และเชื่อว่านักวิเคราะห์ได้ใช้ข้อมูลที่ดีที่สุดแล้ว “ณ ขณะนั้น” ในการประเมินมูลค่าที่เหมาะสม)

จึงระลึกได้กับตัวเองว่า อนาคตสามารถต่างไปจากสิ่งที่ “พอจะมองเห็น” ใน “วันนี้” ได้อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น การลงทุนให้ได้ผลกำไรที่ดีอย่างสม่ำเสมอ (ไม่ได้หมายความถึงการถูกต้อง 100% ทุกครั้ง) น่าจะต้องมีเครื่องมืออย่างอื่นเข้ามาช่วยในการลงทุน เพื่อจะได้ไม่ต้องถือหุ้นพื้นฐานดี แต่กลับไม่มีกำไร (หรือบางครั้งถึงกับขาดทุน)

ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมเริ่มต้นศึกษาการลงทุนอีกแนวทาง ซึ่งก็คือการวิเคราะห์เชิงเทคนิค ซึ่งผมพบว่า หลักการวิเคราะห์เชิงเทคนิก ตั้งอยู่บนสมมติฐาน 3 ประการ คือ

  • การเคลื่อนไหวของราคาเป็นผลจากการรับรู้ข่าวสารทั้งหมดที่นักลงทุนมีอยู่
  • ราคาเคลื่อนไหวเป็นแนวโน้ม
  • การเคลื่อนไหวของราคามักมีรูปแบบซ้ำอดีต

โดยเฉพาะข้อแรกนั้น ผมค่อนข้างเห็นด้วยเป็นพิเศษ เพราะสามารถตอบคำถามสำคัญในโลกการลงทุนได้ว่า “ทำไมราคาหลักทรัพย์ถึงขึ้นและลง?” ผมขอตอบง่ายๆ ว่า “ก็เพราะมีแรงซื้อและแรงขาย” นั่นเอง และหากถามต่อไปว่า “ทำไมถึงมีแรงซื้อและแรงขาย?” บางท่านอาจตอบว่า “เพราะ Earning Expectation ในอนาคตของหลักทรัพย์มีการเปลี่ยนแปลงไป” แต่ผมขอตอบง่ายกว่านั้นว่า “เพราะนักลงไปรู้อะไรมา”  ซึ่งการ “รู้อะไรมา” อาจเป็นได้ทั้งข่าววงใน ข่าวเศรษฐกิจ ข่าวลือ หรือแม้แต่ข่าว Earning Expectation ดังกล่าวข้างต้นด้วยเช่นกัน ซึ่งการ “รู้อะไรมา” นั้น ก็จะเกิดผลสุดท้ายได้แก่การซื้อและขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนนั้นเอง

จากการศึกษาทำให้ผมค้นพบต่อไปว่า แนวทางการวิเคราะห์เชิงเทคนิก แบ่งได้เป็น 3 องค์ประกอบหลัก คือ

  • การดูเส้นราคาเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average) ซึ่งชนิดของ Moving Average ที่ใช้กับแพร่หลายคือ Simple Moving Average ที่ให้ความสำคัญกับราคาในแต่ละช่วงเวลาเท่ากัน และ Exponential Moving Average ที่ให้น้ำหนักกับราคาในช่วงปัจจุบันมากกว่าราคาในอดีต
  • การดูเครื่องบอกสัญญาณ (Indicator) โดยมี Indicator ที่ใช้กันแพร่หลาย เช่น  Moving Average Convergence/Divergence และ Stochastic Oscillator
  • การดูรูปแบบของราคา (Chart Pattern) ซึ่งรูปแบบที่สำคัญ อาทิ Head & Shoulder, Elliott Wave Principle & Fibonacci Ratio, Support/Resistance & Breakout

ซึ่งผู้ใดที่สามารถผสมผสานกระบวนท่าทั้ง 3 ได้พร้อมกันอย่างเชี่ยวชาญ ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็น Technical Analyst หรือ Technical Trader ชั้นเซียน ซึ่งจะสามารถซื้อและขายหลักทรัพย์ได้อย่าง “ถูกตัว” และ “ถูกเวลา” เป็นส่วนใหญ่

แต่อย่างไรก็ดี การพิจารณาในส่วน Chart Pattern นั้นค่อนข้างยากเพราะมีหลักการดูซับซ้อนและบางครั้งต้องใช้จินตนาการสูงในการมองรูปแบบให้ “แตก”

โอกาสนี้จึงขอกล่าวถึงการใช้ Moving Average ควบคู่กับ Indicator ซึ่งทำได้ง่ายกว่า และสามารถนำไปใช้ได้ทันทีผ่านโปรแกรมหุ้นที่นักลงทุนส่วนใหญ่มีใช้กันอยู่แล้ว เช่น Metastock, eFin Smart Portal, Bisnews AFE (บางที่เรียก จอ Reuters) แถมยังให้ผลลัพธ์ในระดับที่ “เอาตัวรอดได้”  ในสนามการลงทุนจริง ซึ่งหากใช้ภาษาที่นักลงทุนคุ้นเคย ก็อาจเรียกว่า ช่วยให้ “ไม่ขายหมู” และ “ไม่ติดดอย”

และก่อนที่จะเข้าสู่ตัวอย่างการใช้งานจริง ผมขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญด้าน Technical Analysis  ท่านหนึ่ง ที่ได้กรุณาแนะนำถ่ายทอดความรู้ให้โดยตลอดอย่างจริงใจ นอกจากนั้น ขอชี้แจงอย่างแข็งขันว่า บทความนี้ ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสดงภูมิรู้ในเชิง Technical Analysis แต่อย่างใด เพราะผมเองก็ยังศึกษาหาความรู้ในขั้นสูงขึ้นๆ ไปอยู่เช่นกัน

วัตถุประสงค์หลักของบทความนี้ จึงอยู่ที่การ “จุดประกาย” ให้นักลงทุนได้เห็นประโยชน์ของการศึกษาทำความเข้าใจในการวิเคราะห์การลงทุนในเชิง Technical และเป็น “แรงบันดาลใจ” ให้นักลงทุนสนใจศึกษาหลักการและเทคนิกในขั้นสูงขึ้นต่อๆ ไป

• ในส่วนของ Moving Average นั้น มีหลักการอยู่ว่า ราคาหลักทรัพย์เคลื่อนที่เป็นแนวโน้ม และหากราคาเกิดเปลี่ยนแปลงไปจนถึงจุดหนึ่ง ทิศทางของแนวโน้มก็จะเปลี่ยนแปลงไป จากขึ้นเป็นลง หรือจากลงเป็นขึ้น ซึ่งในที่นี้ผมใช้เส้นราคาในรูปแบบ Exponential Moving Average (“EMA”) จำนวน 5 เส้นด้วยกันคือ เส้นราคาค่าเฉลี่ยย้อน 5, 15, 35, 90 และ 230 ช่วงเวลา (หนึ่งช่วงเวลาอาจเป็น ทุก 5 นาที, ทุกชั่วโมง, ทุกวัน, ทุกสัปดาห์ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของภาพรวมที่เรากำลังสนใจ ซึ่งหากจะกล่าวถึง เส้น EMA ราย 5 นาที จะเขียนว่า “EMA5”) ซึ่งแต่ละเส้นจะแสดงแนวโน้มราคาในระยะสั้น กลาง และ ยาว ตามลำดับ

• ในส่วนของ Indicator ผมเลือกใช้เครื่องมือ Moving Average Convergence/Divergence (“MACD”) เพราะเมื่อเจาะเข้าไปถึงกลไกภายในแล้ว ความจริงก็เป็นการนำ EMA มาประยุกต์ใช้นั่นเอง โดย MACD จะประกอบด้วยเส้นกราฟ 2 เส้น ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เส้นแรกจะเกิดจากผลต่างของ EMA12 ลบด้วย EMA26 ซึ่งจะเรียกว่าเส้น “MACD” ส่วนอีกเส้นจะเป็น EMA9 ซึ่งเรียกว่าเส้น “Signal” แล้วนำมาทับซ้อนกัน (ทั้งนี้ นักลงทุนสามารถปรับแต่งค่า 12,26,9 ให้เหมาะสมกับบรรยากาศการลงทุนแต่ละช่วงและหุ้นแต่ละประเภทได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นค่านี้ตายตัว)

โดยเราจะใช้ MACD ยืนยันการตัดสินใจซื้อขายร่วมกับ EMA

ซึ่งหลักการพื้นฐาน (เบื้องต้นมากๆ) สำหรับการนำ EMA มาใช้ร่วมกับ MACD ได้แก่

1)      ตราบใดที่ราคายังยืนอยู่บนเส้น EMA5 ได้ ยังไม่ต้องขาย (หมู)

2)      ถ้าราคาตกลงมาอยู่แถวเส้น EMA15 ให้ระวัง เพราะอาจตกต่อ แต่ก็อาจเด้งกลับขึ้นไปได้

ซึ่งขอยกตัวอย่างหุ้น PTL ยอดนิยม ที่เริ่มปรับตัวขึ้นอย่างมากตั้งแต่เดือนก.ค.53 ซึ่งจะเห็นว่า ตลอดช่วงเวลาที่นำมาแสดง (ก.ค. ถึง พ.ย.53) ราคา PTL สามารถเกาะเส้น EMA5 “และ” อยู่เหนือเส้น EMA15 ได้ตลอดทุกวัน ซึ่งถ้าใครยึดหลักข้อ 1 และ 2 นี้ ก็จะสามารถถือ PTL มาได้ตั้งแต่ 9 บาท จนถึง 37 บาท โดยไม่ขายหมูไปก่อนระหว่างทาง

(ภาพนี้ใช้ Time Frame ระดับ Day หมายถึง 1 แท่งกราฟ แสดงการเคลื่อนไหวของราคาใน 1 วัน)

3)      ถ้าราคาตกเส้นใต้ EMA15 ให้เริ่มทยอยขาย (ไม่ว่าจะ cut loss หรือ take profit) แล้วรอดูว่าจะเด้งหรือลงต่อ

4)      ถ้าราคาตกเส้นใต้ EMA35 ให้ขายเพิ่มอีก และหากราคาตกทะลุ EMA90 และ EMA230 ลงไปอีก หมายความว่าแนวโน้มระยะกลางและยาวได้เปลี่ยนไปแล้ว ณ จุดนี้ จึงไม่ควรมีหุ้นเหลืออยู่อีกต่อไป

5)      ในส่วนของ MACD หากเส้น MACD ตัดทะลุเส้น Signal “ขึ้นไป” ให้พิจารณาซื้อ และหากตัดทะลุ “ลงมา” ให้พิจารณาขาย

ขอยกตัวอย่างหุ้น SCC ในช่วง Financial Crisis จะเห็นว่าช่วงเดือนต.ค.50 ราคาเริ่มไหลลงทะลุเส้น EMA ต่างๆ ลงมา แปลว่าควรทยอยขายแล้ว และลงมาโหนใต้เส้น EMA5 (มีหลุดขึ้นมาบ้าง)โดยตลอด ซึ่งหมายความว่ายังไม่ควรซื้อ เรื่อยมาจนถึงต้นเดือนพ.ย.51 (1 ปีกว่าผ่านไป ) ถึงจะเกิดการเปลี่ยนแนวโน้มจากลงเป็นขึ้น โดยราคากลับขึ้นมายืนเหนือ EMA5 ได้เป็นครั้งแรก พร้อมกับ MACD ให้สัญญาณซื้อ หลังจากนั้นอาจมีการหล่นใต้เส้น EMA5 บ้างแต่ราคาตลาดค่อนข้างนิ่งแล้ว จึงไม่เกิดสัญญาณขายจาก MACD ต่อมาในเดือนก.พ.52 ราคากลับขึ้นมาเหนือ EMA5 อีกครั้ง และเริ่มไล่ทะลุเส้น EMA ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากใครสามารถนำหลักข้อ  1 ถึง 5 มาใช้ ก็จะสามารถขายหยุดขาดทุนได้ที่ราคาสูงและกลับมาซื้อได้ที่ราคาต่ำมาก โดยไม่ต้องนำปัจจัยด้านพื้นฐานเข้ามาพิจารณาเลย

(ภาพนี้ใช้ Time Frame ระดับ Week หมายถึง 1 แท่งกราฟ แสดงการเคลื่อนไหวของราคาใน 1 สัปดาห์)

6)      ทั้งหมดนี้ ถ้าเป็นฝั่ง Short Sell (ไม่ว่าจะหุ้นหรืออนุพันธ์) ก็ให้ใช้สลับกัน

7)      หาก EMA หรือ MACD เข้าเกณฑ์เพียงประเภทเดียว (เช่น EMA มาแล้วแต่ MACD ยังไม่มา) ให้ดูอาการ EMA เป็นหลัก แล้วใช้ MACD ช่วยยืนยัน

และในขั้นสูงขึ้น หากได้ศึกษาเพิ่มเติมในด้าน Chart Pattern โดยเฉพาะเรื่อง Elliott Wave Principle (“EWP”) & Fibonacci Ratio (“Fibo”) อย่างถูกต้องและเชี่ยวชาญแล้ว ก็จะสามารถคาดการณ์ทิศทางการเคลื่อนไหวขึ้นลงของราคาได้ (ตามแนวทาง EWP) และยังสามารถประมาณระดับราคาและช่วงเวลาที่หุ้นมีโอกาสจะเคลื่อนไหวไป (ตามแนวทาง Fibo) ได้อีกด้วย เรียกได้ว่า ประเมินได้ทั้ง “กาละ” และ “เทศะ” เลยทีเดียว

ถึงจุดนี้ ก็หวังว่านักลงทุนจะได้เห็นแนวคิดกันพอหอมปากหอมคอ ซึ่งเชื่อว่าพอจะนำไปใช้ได้จริงบ้างแล้ว โดยเฉพาะในยุคนี้ที่วงการลงทุนมีจำนวน Technical Trader เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งหมายความว่าการเคลื่อนไหวของราคาในตลาดจริงๆ ได้รับอิทธิพลจากการซื้อขายของ Technical Trader มากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะนิยมการลงทุน ‘แนว’ ไหนเป็นหลัก การรู้เขารู้เรา ย่อมช่วยให้เราไม่เสียเปรียบคนอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

แต่เหนือสิ่งอื่นใด อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน สิ่งที่เราคิดไว้ อาจไม่เกิดขึ้นจริงก็ได้ นักลงทุนจึงควรระลึกไว้เสมอว่า “เราไม่สามารถคิดได้ถูกทั้งหมดทุกครั้ง ไม่ว่าจะมีเครื่องมือช่วยมากแค่ไหนก็ตาม” เราจะได้ “เผื่อใจ” และ “เตรียมใจ” ไว้บ้างกับความเสี่ยงและความผิดหวังที่มีอยู่ตลอดเวลาในโลกของการลงทุน

ผมขอจบบทความนี้ ด้วยวลีที่น่าสนใจของคุณประกาศิต ทิตาราม ผู้ก่อตั้ง Wave Riders Club ซึ่งเป็นนักลงทุนเชิงเทคนิคชั้นแนวหน้าของไทย ที่กล่าวไว้ว่า

“ปัจจัยพื้นฐาน เอาไว้ กำหนดสถานที่ไปเที่ยว ที่จะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เป็นกำไร ดังเช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต พังงา ใครก็รู้ว่าน่าเที่ยว ไม่ต่างกับ BANPU, PTT, BBL, SCB, KBANK ใครก็รู้ ว่าพื้นฐานดี..บทวิเคราะห์ และข่าวต่างๆ ก็เป็นมีเดียที่เชียร์ กันเข้าไป ว่าที่นั่นสวย ที่นี่ งดงาม อาหารอร่อย ของถูก น่าช็อป

แต่ตอนที่เราไปถึง มันสวยจริงไหม..Ticker และ Bid-Offer เป็นหลักกิโลข้างทาง คอยบอกว่าถึงไหนแล้ว แต่มันไม่ได้บอกอะไรที่มากกว่านั้น

แต่การวิเคราะห์ ทางเทคนิค ขั้นพื้นฐาน เป็น เข็มทิศ แผนที่ ที่จะบอกรายละเอียด ถึงเส้นทาง ทางหลวง ทางลัด ทางแยก ไฟแดง จุดพัก ให้เราเดินทางถึงจุดหมาย โดยไม่หลงทาง และอาจถึงที่หมายได้เป็น กลุ่มแรกๆ

ส่วน การวิเคราะห์ทางเทคนิค ขั้นสูง ที่มี Apps ดีๆ คอยช่วย ก็เหมือน มี GPS แผนที่ดาวเทียม google earth, Weather forcast.. ที่จะคอยบอกถึง สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ตลอดเส้นทางการเดินทาง มี Alert เตือนถึงสภาวะอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต… ทำให้เราเดินทางถึงที่หมาย เป็นคนแรกๆ”

———————————————–

แนะนำแหล่งศึกษาเพิ่มเติมด้าน Technical Analysis

อ้างอิง

———————————————-

(ท่านผู้อ่านสามารถติดตามผลงานเขียนชื้นก่อนหน้าของผม ได้ที่นี่ครับ http://fundmanagertalk.com/author/keng)

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ศกุนพัฒน์ จิรวุฒิตานันท์ (SJ, Keng) ปัจจุบันทำงานด้านการลงทุนอยู่ที่บริษัทเงินทุน กรุงเทพธนาทร จำกัด (มหาชน) (Bangkok First Investment & Trust Public Company Limited หรือ "BFIT") ในตำแหน่ง Head of Investment Advisory Department ดูแลงานระดมทุนของบริษัท ควบกับตำแหน่ง Investment Committee ดูแลเงินลงทุนในหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ตราสารหนี้ และบริหารสภาพคล่องของธุรกิจผ่านธุรกรรมในตลาดเงิน ในด้านคุณวุฒิ สอบผ่านหลักสูตร Certified Investment & Securities Analyst Level 2 (CISA II) ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ให้เป็นนักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ และผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน รวมถึงได้รับอนุญาตจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย ให้เป็นผู้ค้าตราสารหนี้ขึ้นทะเบียน SJ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท (MBA, Finance) จาก The University of Western Australia และเคยทำงานวิเคราะห์สินเชื่อลูกค้าเกษตรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
Posts created 24

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top