InvestmentTalk – ปรับพอร์ตรับ “การเปลี่ยนขั้ว QE” ปีแพะ 2558

แชร์บทความนี้

สวัสดีปีใหม่ 2558 8iy[ สำหรับภาพรวมการลงทุนในปีนี้นับว่ามีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างค่อนข้างเยอะทีเดียว โดยเรื่องสำคัญที่สุดน่าจะเป็นการเปลี่ยนขั้ว QE จากฟากสหรัฐฯ มาเป็นการอัดฉีดกระตุ้นจากทางยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดเงินตลาดทุนอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2558 ญี่ปุ่นจะทำการอัดฉีดเงินเพิ่มปีละประมาณ 80 ล้านล้านเยน ขณะที่ยุโรปจะอัดฉีดประมาณ 1 ล้านล้านยูโรในปี 2558 – 59 ในส่วนของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจากเดิมสมัยที่สหรัฐฯ พิมพ์แบงค์ ค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มา ณ จุดนี้เกิดสถานการณ์พลิกผันคือสหรัฐฯ หยุดพิมพ์แบงค์ กลายเป็นญี่ปุ่นและยุโรปเพิ่มปริมาณเงิน ค่าเงินดอลลาร์จึงเริ่มกลับมาแข็งอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ค่าเงินเยน และยูโรพลิกกลับไปอ่อนค่า โดยเงินเยนได้อ่อนค่าเทียบกับเงินดอลลาร์ไปแล้วกว่า 50% นับจากปี 2556

ขณะที่เงินยูโรได้อ่อนค่าไปแล้วประมาณ 12% นับจากช่วงต้นปี 2557 และเป็นที่คาดการณ์ว่าแนวโน้มตรงนี้จะยังคงอยู่ต่อเนื่องในปีแพะที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นเม็ดเงินลงทุนมีโอกาสที่จะไหลไปยังสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องจากแนวโน้มค่าเงินที่แข็ง ขณะที่สภาพคล่องในตลาดการลงทุนโลกจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปจากการกระตุ้นของยุโรป และญี่ปุ่น

 cb future forecast

โภคภัณฑ์ตก เงินเฟ้อต่ำ ดอกเบี้ยไม่รีบขึ้น

นอกจากผลต่อตลาดปริวรรตเงินตราแล้ว การแข็งค่าของเงินดอลลาร์ยังมีผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมัน ทองคำ และอาหาร เนื่องจากราคาโภคภัณฑ์มักจะมีหน่วยเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อมูลค่าของเงินดอลลาร์สูงขึ้น ก็เท่ากับว่าต้องใช้เงินดอลลาร์น้อยลงในการซื้อโภคภัณฑ์ จึงเป็นที่มาให้ราคาโภคภัณฑ์ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

 

อีกเหตุผลหนึ่งคือการเพิ่มขึ้นของดอลลาร์ทำให้กำลังซื้อโภคภัณฑ์ของนานาประเทศต่ำลงเพราะต้องใช้เงินสกุลท้องถิ่นตัวเองมากขึ้นในการซื้อเงินดอลลาร์ โดยราคาน้ำมันดิบ WTI ได้ปรับตัวลงจากจุดสูงสุดเกือบ 40% แล้วในปี 2557 ที่ผ่านมา ผลของราคาโภคภัณฑ์ที่ปรับลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงตาม จากเดิมที่ตลาดเคยคาดการณ์ว่าหลายประเทศในเอเชียจะทำการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2558 การปรับลดลงของเงินเฟ้อได้เอื้อให้ธนาคารกลางหลายประเทศไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ย และให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้มากขึ้น นอกจากนี้ราคาน้ำมันที่ลดลงยังเป็นตัวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประเทศที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันอีกด้วย

 

มุมมองการลงทุนในในปีแพะ 2558

การเปลี่ยนขั้ว QE โดยสรุปแล้วจะส่งผลให้ราคาโภคภัณฑ์อยู่ในระดับต่ำ แรงกดดันในเงินเฟ้อน้อย ธนาคารกลางไม่ต้องรีบเร่งในการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย และสภาพคล่องในตลาดการเงินการลงทุนจะยังอยู่ในระดับสูงต่อไป ขณะที่ IMF คาดการณ์การเติบเศรษฐกิจโลกในปี 2558 ที่ระดับ 3.8% เติบโตกว่าปี 2557 ที่ระดับ 3.3% ซึ่งนำมาโดยประเทศกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย อย่างจีน อินเดีย และอาเซียนที่คาดว่าจะเติบโตสูงถึง 6.6% ปี 2558 จึงน่าจะเป็นปีที่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ และเอเชีย ทำผลงานได้ดีพอสมควร ขณะที่ในช่วงครึ่งปีแรก การลงทุนประเภท Yield Play เช่น หุ้นปันผลสูง กองทุน REITs ตราสารหนี้ High Yield น่าจะกลับมาได้รับความสนใจจากนักลงทุนอีกครั้งเนื่องจากกระแสการทำ Carry Trade จากทางฟากฝั่งยุโรปและญี่ปุ่นที่มีการอัดฉีดสภาพคล่องออกมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มสินทรัพย์ที่ควรลดน้ำหนักการลงทุนน่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่อัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำมากและอาจได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

ในส่วนของการลงทุนในประเทศไทย จากเสถียรภาพทางการเมืองที่มีมากขึ้น ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2558 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น การลงทุนในหุ้นไทยน่าจะให้ผลตอบแทนที่ดีประมาณ 10 – 15% โดยกลุ่มที่น่าจะได้รับประโยชน์คือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนภาครัฐ การขยายตัวของเมืองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล

ขณะที่แนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการปรับลดลงของราคาโภคภัณฑ์อย่างกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และอาหาร ในด้านตลาดตราสารหนี้ไทยคาดในครึ่งปีแรกตราสารหนี้ระยะปานกลางถึงยาวจะยังคงทำผลงานได้ดีจากเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศรวมถึงดอกเบี้ยนโยบายที่ยังคงในระดับต่ำ ขณะที่ควรระมัดระวังในครึ่งปีหลัง ควรปรับพอร์ตลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นลงเพื่อลดผลกระทบจากแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่การลงทุนใน REITs & Infrastructure Fund  ก็ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจจากระดับเงินปันผลในอัตราที่สูง สุดท้ายนี้ก็ขอให้ท่านนักลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ดีสมดังใจหวังในปีนี้ครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top