เจษฎา สุขทิศ, CFA | 4 ตุลาคม 2554
ในขณะที่ผมกำลังเขียนบทความฉบับนี้ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ระดับประมาณ 850 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจากที่ทำราคาปิดสูงสุดที่ 1148 จุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยคิดเป็นการปรับตัวลดลง 26% หรือหากมองนับแต่ต้นปีก็เป็นการปรับตัวลงประมาณ 18% โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดปรับตัวลดลงรอบนี้โดยหลักมาจากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะของกลุ่ม PIIGS ในยุโรป [อ่านบทความ “GIROS CRISIS” เศรษฐกิจยุโรปจะซึมยาว และกระทบเศรษฐกิจโลกซึ่งผมได้เขียนไว้เมื่อเดือน พ.ค. 54 ได้ที่ http://fundmanagertalk.com/economic-talk-giros-crisis-eu-economy-recession/] ผมประเมินว่าปัญหาเศรษฐกิจของยุโรปจะเรื้อรังอย่างต่อเนื่องใน 1 – 2 ปีข้างหน้า แต่ในส่วนของ sentiment ตลาดเงินตลาดทุนจะดีขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการอนุมัติปริมาณเงินช่วยเหลือที่มากเพียงพอ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินประมาณ 1.5 – 2.0 ล้านล้านยูโร จาก package ปัจจุบันที่รวมทุก package มีอยู่ประมาณ 1 ล้านล้านยูโร อย่างไรก็ตาม กระบวนการช่วยเหลือทำได้ค่อนข้างช้า เพราะต้องผ่านการอนุมัติจากหลายประเทศ ต่างจากกรณีของสหรัฐฯ ที่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจสามารถดำเนินนโยบายช่วยเหลือได้รวดเร็วกว่ามากเพราะอาศัยการการตัดสินใจจากรัฐบาลประเทศเดียว
อีกประเด็นเรื่องปัญหายุโรปคือเรื่อง “ความเพียงพอของทุน” ของธนาคารพาณิชย์ หลักการคือแบงค์ต้องดำเนินสัดส่วน “เงินกองทุน / สินทรัพย์เสี่ยง” ในระดับที่เหมาะสม เมื่อมีการตั้งสำรองหนี้สูญมากขึ้นก็ทำให้เงินกองทุนน้อยลง กดดันให้แบงค์ยุโรปต้องพิจารณาเพิ่มทุน หรืออีกทางหนึ่งก็คือต้องลดสินทรัพย์เสี่ยงลงซึ่งอาจทำได้ง่ายกว่า และแน่นอนว่าหนึ่งในสินทรัพย์เสี่ยงที่เหล่าสถาบันการเงินต่างชาติถือครองอยู่ก็คือหุ้น และตราสารหนี้ของประเทศในภูมิภาคเอเชียบ้านเรา ทางออกในการแก้ปัญหาของสถาบันการเงินในยุโรปนี้ก็ไปผูกพันกับการแก้ปัญหาหนี้สาธารณะของรัฐบาลกลุ่ม PIIGS เช่นกัน เพราะถ้าแก้ปัญหาหนี้ภาครัฐได้ ความจำเป็นที่จะต้องตั้งสำรองก็ลดลง ปัญหาเรื่องความเพียงพอของทุนก็จะทุเลาลงไป โดยสรุป ในภาพการลงทุนระยะสั้นคงจะต้องติดตามดูความคืบหน้าการแก้ปัญหาของยุโรปต่อไป ถ้าหากเกิดกรณีแย่ที่สุด เช่น ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างเยอรมัน หรือฝรั่งเศส ปล่อยลอยแพประเทศที่มีปัญหา ให้ผิดนัดชำระหนี้อย่างไม่เป็นระเบียบ กรณีนั้นตลาดทุนบ้านเราก็คงจะได้รับผลกระทบอีกมากเช่นกัน
กลับมามองที่เศรษฐกิจไทยผมมองว่ารอบนี้ผลกระทบจาก Global Crisis จะไม่ถึงกับทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอย หรือ GDP ติดลบอย่างที่เกิดขึ้นในช่วง Hamburger Crisis ปี 2551 แต่อาจทำให้เศรษฐกิจปี 2555 โตน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้เฉลี่ยประมาณ 4 – 5% มาอยู่ที่ประมาณ 3 – 4% ในปี พ.ศ. 2555 โดยภาคส่งออกอาจชะลอตัวลงบ้าง แต่ภาคการบริโภค, การลงทุน, และการใช้จ่ายภาครัฐ รวมไปถึงภาคการท่องเที่ยวจะยังเติบโตได้ค่อนข้างดีในปีหน้า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายน่าจะมีการคงไว้ที่ 3.5%เพื่อดูผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลก อย่างน้อย 1 – 2 ไตรมาสจากนี้ไป
หากวิเคราะห์พื้นฐานของตลาดหุ้นไทย ผมมอง EPS ของตลาดหุ้นไทยในปี 2555 ที่ประมาณ 100 บาท เพิ่มขึ้นประมาณ 12% จากปี 2554 โดยมีปัจจัยหนุนที่สำคัญคือนโยบายการปรับลดภาษีนิติบุคคล แต่ก็มีความเสี่ยงในเรื่องของการปรับลดประมาณการตัวเลขกำไรของบริษัทจดทะเบียนหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว หากคำนวณที่ระดับ EPS 100 บาทเท่ากับว่าตอนนี้ตลาดซื้อขายกันที่ P/E ประมาณ 8.5 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าสนใจ หากวิเคราะห์กันอีกมุมหนึ่งโดยดู Yield ของตลาดหุ้นเทียบกับ Yield ของตลาดตราสารหนี้ (Earning Yield Gap) จะพบว่า Yield ของตลาดหุ้นซึ่งก็คือ E/P อยู่ที่ประมาณ 12% ขณะที่ Yield ของตลาดตราสารหนี้อยู่ที่ประมาณ 3.5 – 4.0% หรือคิดเป็น Yield Gap ที่ประมาณ 8.0 – 8.5% ก็ได้คำตอบว่าตลาดทุนบ้านเราอยู่ในระดับที่น่าลงทุนเช่นกัน ดังหัวข้อบทความฉบับนี้ที่ว่า “ในวิกฤตการเงินระยะสั้น คือโอกาสลงทุนระยะยาว”