FundTalk – ทำความรู้จักกับกองทุน Wellington Management Global Health Care Equity Portfolio

แชร์บทความนี้

หากพูดถึงชื่อของกอง Foreign Investment Funds (FIF) ที่กำลังได้รับการกล่าวถึงในหมู่นักลงทุนในขณะนี้ ชื่อของ BCARE ก็คงอยู่ในลำดับต้นที่รู้จักกันเนื่องจากผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างโดดเด่น เบื้องหลังผลการดำเนินงานของ BCARE นี้ก็คงต้องยกความดีความชอบให้กับกองทุนหลัก Wellington Management Global Health Care Equity Portfolio (WGHCEP) ที่ BCARE นำเงินที่ได้ไปลงทุนต่ออีกทีหนึ่ง ดังนั้นผลการดำเนินงานของ BCARE จะดีหรือจะร้ายก็ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของกองทุนหลัก อย่างไรก็ตามจากการพูดคุยกับนักลงทุนส่วนใหญ่พบว่ายังขาดความเข้าใจในตัวกองทุนหลักเป็นอย่างมาก และลงทุนไปโดยดูเพียงแต่เรื่องของผลตอบแทนเพียงอย่างเดียวซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอันตราย ดังนั้นบทความฉบับนี้จึงถูกเรียบเรียงขึ้นมาเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ WGHCEP แก่นักลงทุนครับ (หมายเหตุ: ผู้เขียนมีการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับ WGHCEP ดังนั้นผู้อ่านจึงควรระมัดระวัง bias ที่อาจเกิดขึ้นได้ครับ)

 

WGHCEP คืออะไร

WGHCEP เป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทที่อยู่ในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง Health Care ทั่วโลก เช่น Biotechnology (เทคโนโลยีชีวภาพ) Pharmaceutical (การคิดค้นและผลิตยา) Medical Technology (เทคโนโลยีทางการแพทย์) หรือ Health Care Service (การให้บริการทางการแพทย์) เป็นต้น กองทุนถูกตั้งขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2000 โดยจดทะเบียนในประเทศไอร์แลนด์ ซื้อขายกันในรูปของสกุลเงิน USD (ลงทุนขั้นต่ำที่ 5 ล้านเหรียญสหรัฐ) วัตถุประสงค์การลงทุนของกองทุน คือ เพื่อผลตอบแทนในระยะยาวและไม่มีการจ่ายเงินปันผล ด้วยเหตุนี้ WGHCEP จึงอาจจะไม่เหมาะกับนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอเท่าใดนัก ณ ปัจจุบัน (20 กุมภาพันธ์ 2014) กองทุนมีขนาดอยู่ที่ 511.33 ล้านเหรียญสหรัฐโดยประมาณ (รวมทุก Class ของหน่วยลงทุน)

 

WGHCEP ลงทุนในสินทรัพย์อะไร

จากข้อมูลที่เปิดเผยการถือครองหลักทรัพย์ของกองทุนเมื่อเดือนกันยายน 2013 พบว่า สินทรัพย์หลักที่กองทุนไปลงทุนคือ หุ้นของบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ Health Care ทั่วโลกซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 90% ของสินทรัพย์กองทุน และมีการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อเสริมสภาพคล่องเช่นพวก Money Market อยู่เล็กน้อย บริษัทส่วนใหญ่ที่ WGHCEP ไปลงทุนจะจดทะเบียนอยู่ในประเทศสหรัฐฯถึง 70% ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของกองทุนที่ถูกจัดให้อยู่ในประเภทเดียวกัน (Category Average) ซึ่งอยู่ที่ระดัง 58% ดังภาพ

wgh1

 

ภาพและข้อมูลจาก Financial Times

ด้วยเหตุนี้ราคาหน่วยลงทุนของกองทุนจึงวิ่งไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นสหรัฐฯพอสมควร ดังนั้นหากนักลงทุนที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงต่อสินทรัพย์ทั้งหมดอยู่แล้ว การลงทุนใน WGHCEP จะยิ่งเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นนักลงทุนที่ไม่ต้องการเพิ่มน้ำหนักในประเทศสหรัฐฯมากจนเกินไปก็ควรระมัดระวังในจุดนี้

 

แนวทางการลงทุนของ WGHCEP

WGHCEP เป็นกองทุนที่เน้นลงทุนเฉพาะเจาะจงในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Health Care ด้วยเหตุนี้หัวใจหลักของการลงทุนก็คือ การคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุน (Stock Selection) โดยกองทุนจะทีมนักวิเคราะห์ที่คอยติดตามบริษัทที่น่าสนใจ และเลือกลงทุนในบริษัทมีพื้นฐานดีมีแนวโน้มเติบโตสูง กองทุนได้รับการจัดอันดับจาก Morning Star ให้อยู่ในระดับ 5 ดาว โดยสไตล์การลงทุนที่ทาง Morning Star วิเคราะห์ออกมาพบว่า กองทุนมีลักษณะการลงทุนแบบ Mid. Cap – Growth กล่าวคือ เน้นการลงทุนในหุ้นเติบโตและมีมูลค่าตลาดขนาดกลาง ด้วยเหตุนี้กองทุนอาจจะไม่เหมาะกับนักลงทุนที่มีสไตล์ที่ไม่สอดคล้องกัน ยกตัวอย่างเช่น ชอบลงทุนในหุ้นคุณค่าและมีมูลค่าตลาดขนาดใหญ่ เป็นต้น สำหรับตัวอย่างของหุ้นที่กองทุนเข้าไปลงทุนแสดงดังตารางข้างล่างครับ (ข้อมูลไตรมาสที่ 3 ของปี 2013)

wgh2

 

ข้อมูลจาก Financial Times และเรียบเรียงโดยผู้เขียน

เมื่อสังเกตจากตัวอย่างของหุ้นที่ลงทุนพบว่า ประเภทของธุรกิจค่อนข้างจะหลากหลายกว่าในประเทศไทยซึ่งจะมีแค่ธุรกิจโรงพยาบาลและประกันเท่านั้น นักลงทุนในบ้านเราส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ว่ากองทุนนี้ไปลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลทั่วโลกเพียงอย่างเดียว WGHCEP นับว่าเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกลุ่มธุรกิจอื่นนอกเหนือจากโรงพยาบาลและประกัน ไม่ว่าจะเป็น Biotechnology, Pharmaceutical หรือ Medical Technology ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่มีหุ้นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ประเทศไทย

สำหรับตัวอย่างหุ้นที่ทำกำไรให้ WGHCEP อย่างเป็นกอบเป็นกำในปี 2013 ประกอบไปด้วย

  • Forest Laboratories (FRX):  เป็นบริษัทที่ทำการธุรกิจเกี่ยวกับ Biotechnology และ Pharmaceuticals ผลิตยาที่ต้องใช้ตามใบสั่งแพทย์ ถึงแม้ว่าผลการดำเนินงานในปีงบประมาณล่าสุดของ FRX จะไม่ค่อยดีนัก แต่ราคาหุ้นกลับปรับตัวขึ้นถึง 160% ในรอบปีที่ผ่านมา และในเดือนกุมภาพันธ์ 2014 FRX ก็ได้ถูกซื้อกิจการจาก Actavis ซื่อเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตยาสามัญ (Generic Drug) ด้วยราคา 25 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • Alkermes (ALKS): เป็นบริษัทผลิตยาชีวเวชภัณฑ์ (Biopharmaceutical) ซึ่งเน้นไปที่การรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบสมองส่วนกลาง (Central Nervous System Disorders) ผลการดำเนินงานของ ALKS ขาดทุนมาตลอดนับตั้งแต่ปี 2009 และเพิ่งจะพลิกกลับมามีกำไรในปีงบประมาณล่าสุด ในรอบปีที่ผ่านมาราคาของ ALKS ปรับตัวขึ้นถึง 120% ซึ่งสาเหตุอาจมาจากการเก็งกำไรว่า ALKS จะตกเป็นเป้าหมายในการซื้อกิจการจากบริษัทรายใหญ่
  • Boston Scientific Corp (BSX) เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์ กองทุนเคยถือ BSX ก่อนที่จะขายออกไปในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2013 และเช่นเดียวกับ FRX กับ ALKS BSX เป็นบริษัทที่มีผลการดำเนินงานไม่ค่อยจะดีนัก โดยขาดทุน 3 ปีในรอบ 4 ปีหลังสุด แต่มีข่าว BSX เข้าไปซื้อกิจการของบริษัทอื่นอยู่เป็นระยะ ราคาในรอบปีที่ผ่านมาของ BSX ปรับตัวขึ้น 70%

สังเกตว่าหุ้นที่กองทุนถืออยู่นั้นมีทั้งบริษัทระดับยักษ์ใหญ่ในธุรกิจที่มีส่วนแบ่งตลาดค่อนข้างสูง (เช่น UnitedHealth Group, Merck & Co และ Bristol-Myers) ผสมกับหุ้นที่ผลประกอบการไม่ค่อยดีเท่าใดนัก แต่อาศัยจังหวะที่มีข่าวการซื้อขายกิจการเป็นตัวสร้างกำไร (เช่น FRX, ALKS และ BSX) ซึ่งหากนักลงทุนรู้สึกว่าไม่ชื่นชอบกับแนวทางการลงทุนลักษณะนี้ก็ควรหลีกเลี่ยง WGHCEP ครับ

 

เปรียบเทียบผลการดำเนินงาน WGHCEP กับดัชนี MSCI World Health Care Index

WGHCEP ใช้ดัชนี MSCI World Health Care Index เป็นตัววัดผลการดำเนินงาน ดังนั้นในหัวข้อนี้จะกล่าวถึงข้อมูลผลการดำเนินงานและข้อมูลเชิงสถิติเทียบกับดัชนีของ MSCI ภาพข้างล่างเป็นการเปรียบเทียบผลการดำเนินงาน 5 ปีหลังสุด นับตั้งแต่ 2009 จนถึงกุมภาพันธ์ 2014

wgh3

 

ภาพและข้อมูลจาก Reuters

wgh4

ภาพและข้อมูลจาก Morning Star

จากภาพ เส้นสีน้ำเงินเข้มคือผลการดำเนินงานของ WGHCEP ในขณะที่เส้นสีแดงคือดัชนี MSCI Global Health Care และเส้นสีฟ้าคือ ดัชนีของกลุ่มธุรกิจ Health Care ที่สร้างขึ้นโดย Morning Star สังเกตว่าในช่วงปี 2009 นั้น ผลการดำเนินงานของกองทุนกับดัชนี MSCI ค่อนข้างจะใกล้เคียงกัน โดยกองทุนเหนือกว่าเล็กน้อย ในขณะที่ช่วงปี 2010 จนถึงสิ้นปี 2012 ความต่างของผลการดำเนินงานค่อยๆเพิ่มขึ้น จนเมื่อปี 2013 ผลการดำเนินงานของกองทุนเหนือกว่าดัชนีของ MSCI อย่างเห็นได้ชัด

สำหรับข้อมูลเชิงสถิติอื่นๆที่น่าสนใจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แสดงดังตารางข้างล่างครับ

wgh5

 

Annualized Standard Deviation หรือค่าความผันผวนของผลตอบแทนจากการลงทุน ยิ่งผันผวนมากยิ่งเสี่ยงมาก พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วกองทุนจะมีความผันผวนมากกว่าตัวดัชนี MSCI อยู่เล็กน้อย ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากโดยทั่วไปแล้วกองทุนที่บริหารงานแบบ Bottom-Up และลงทุนไม่เหมือนดัชนีจะมีค่าความผันผวนมากกว่า

Maximum Drawdown คือ ค่าที่ใช้วัดความเสียหายมากที่สุดที่เกิดขึ้นจากการลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมากองทุนมีค่า Maximum Drawdown อยู่ที่ -13.30 ซึ่งหมายความว่า หากลงทุนแบบผิดที่ผิดทางจะขาดทุนสูงสุดอยู่ที่ -13.30% ช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นค่าดังกล่าวของกองทุนกับดัชนีค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยความเสียหายสูงสุดจะอยู่ที่ระดับ -34.25% (ตอนช่วง Hamburger Crisis) ดังนั้นหากนักลงทุนไม่สามารถทนรับขาดทุนในระดับนี้ได้ WGHCEP อาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมครับ

ค่า Sharpe และ Information Ratio เป็นค่าที่ใช้วัดความสามารถของกองทุนในการสร้างผลตอบแทนให้เหนือกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง (เช่น พันธบัตรรัฐบาล) และดัชนีตามลำดับ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่า WGHCEP ทำได้ดีกว่าเล็กน้อยมา และเหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัดในปี 2013 ซึ่งตรงนี้นักลงทุนควรจะต้องระมัดระวังเนื่องจากผลงานที่โดดเด่นดังกล่าวนี้อาจจะเป็นเพียงโชคดีที่กองทุนเลือกหุ้นถูกตัว และอาจจะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต

มาปิดท้ายด้วยการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานกับกองทุนที่ถูกจัดให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน ผลจากการเปรียบเทียบเป็นดังภาพข้างล่างครับ (เป็นข้อมูลของหน่วยลงทุน Class S ในขณะที่ BCARE ไปลงทุนให้คือ Class A แต่โดยรวมแล้วกองทุนบริหารงานใน Pool เดียวกันครับ)

wgh6

 

ภาพและข้อมูลจาก Financial Times

สังเกตว่ากองทุนติดอยู่ในกลุ่ม 1st Quartile ตลอด ซึ่งหมายความว่ามีผลตอบแทนสูงติดอยู่ในอันดับต้นของกองทุนประเภทเดียวกันในช่วงตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสม่ำเสมอของกองทุน แต่อย่างไรก็ตาม WGHCEP ก็ไม่ใช่กองทุนที่มีผลงานตอบแทนสูงที่สุดในกลุ่ม และมีกองทุนอื่นที่ทำผลตอบแทนได้สูงกว่ากองทุนนี้อยู่พอสมควร

 

สรุปแล้ว WGHCEP น่าสนใจหรือไม่

เมื่อมองในมุมมองส่วนตัวของผู้เขียน WGHCEP นับว่าเป็นกองทุนที่น่าสนใจกองทุนหนึ่ง เนื่องจากลงทุนในธุรกิจที่หาได้ยากในไทย เช่น Biotechnology, Pharmaceutical และ Medical Technology ธุรกิจเหล่านี้มีข้อดีคือ นวัตกรรมสูง, มีสิทธิบัตรคอยกีดกันคู่แข่งได้ในระยะเวลาหนึ่ง, สินค้ามีความจำเป็นและมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น แต่มีข้อเสียคือ ค่าใช้จ่ายในวิจัยพัฒนาค่อนข้างสูง ธุรกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว และการแข่งขันเริ่มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุว่าทำไมในช่วงปีที่ผ่านมามีดีล M&A ในธุรกิจเหล่านี้จึงเกิดขึ้นค่อนข้างมาก

เมื่อดูที่ผลตอบแทนเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยง WGHCEP ก็นับว่าทำได้ดีพอสมควร แต่ต้องระวังไว้ว่าการที่กองทุนมีผลตอบแทนเป็นบวกตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฐานของราคาที่ต่ำติดดินในช่วง Hamburger Crisis สำหรับเรื่องของความสม่ำเสมอก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถทำได้ดีเหมือนในช่วงปี 2013 ที่ผ่านมาได้หรือไม่ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่สำคัญมากที่สุดก็คือ นักลงทุนควรจะต้องสำรวจตัวเองว่า รูปแบบการลงทุน ผลตอบแทน และความเสี่ยงของกองทุนนั้นสอดคล้องและเหมาะสมกับความต้องการของตนเองหรือไม่ ซึ่งถ้าหากคำตอบคือ “ไม่” นักลงทุนก็ควรจะหลีกเลี่ยง WGHCEP ครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณไตรรัตน์ พุทธรักษา (triratbong) ปัจจุบันทำงานเป็น Financial Engineer อยู่ที่ ThaiBMA โดยก่อนหน้านี้มีประสบการณ์ทำงานด้านการวิจัยเทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงชาติใน National Electronic and Computer Technology Centers สำหรับประวัติการศึกษา คุณไตรรัตน์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี Computer Science และปริญญาโท MBA จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงสอบผ่าน CFA ทั้ง 3 Level คุณไตรรัตน์มีประสบการณ์ทางด้านการพัฒนาแบบจำลองทางเพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ตลาดและราคาตราสารหนี้ การลงทุนในกอง FIF และยังเป็นวิทยากรในการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับตลาดตราสารหนี้อีกหลายหลักสูตร
Posts created 2

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top