InvestmentTalk – ลงทุนอย่างมีสไตล์ (4 จบ)

แชร์บทความนี้

ลงทุนอย่างมีสไตล์(4)

 

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM

 

ในครั้งก่อนๆได้แนะนำแนวทางการลงทุนแบบเชิงรับและเชิงรุกในรูปแบบต่างๆให้นักลงทุนได้รู้จักไปมากพอสมควรแล้ว ในครั้งสุดท้ายนี้จะขอนำเสนอคำแนะนำที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่สนใจในแนวทางบริหารการลงทุนรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีรายละเอียดเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้

 

รู้จักตัวเอง

นักลงทุนควรทำความเข้าใจกับตัวตนที่แท้จริงของตนเองให้มากที่สุดก่อนการตัดสินใจลงทุนใดๆ  คุณต้องการผลตอบแทนเท่าไร? คุณรับผลขาดทุนได้แค่ไหน? คุณมีระยะเวลาลงทุนนานเพียงใด?  ต้นทุนเงินทุนของคุณอยู่ที่เท่าไร? คุณมีเวลาติดตามการลงทุนของคุณมากน้อยเพียงใด? คุณมีความมั่นคงในความคิดของคุณมากน้อยแค่ไหน? อุปนิสัยของคุณเป็นเช่นไร? การรู้จักตัวเองนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะนำไปสู่รูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนแต่ละคนซึ่งอาจเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างมากก็ได้

 

เลือกรูปแบบที่ “ใช่”

เมื่อคุณรู้จักตัวเองดีพอแล้ว ก็ถึงคราวที่ต้องเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของตัวคุณ โดยนักลงทุนอาจพิจารณาข้อเสนอแนะต่อไปนี้เป็นแนวทางในเบื้องต้น

ถ้านักลงทุนเชื่อมั่นในงานวิจัยที่สนับสนุนว่าตลาดหุ้นมีประสิทธิภาพ ไม่มีใครสามารถเอาชนะตลาดในระยะยาวได้ เชื่อว่าการลงทุนในหุ้นเป็นเพียงการรับผลตอบแทนแบบสุ่ม (Random walk) ไม่มีเวลามากพอที่จะศึกษาบริษัทจดทะเบียนที่มีอยู่มากมาย หรือไม่อยากวุ่นวายกับการปรับเปลี่ยนพอร์ตหุ้นไปตามสถานการณ์ การลงทุนแบบเชิงรับ ดูจะเหมาะสมกับนักลงทุนมากที่สุด

หากนักลงทุนเป็นคนเชื่อว่าตนมีความสามารถในการวิเคราะห์ความเป็นไปของธุรกิจได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไป ยึดมั่นในการวิเคราะห์หามูลค่าที่แท้จริงของกิจการและเชื่อว่าในระยะยาวแล้วตลาดจะมองเห็นคุณค่าที่แท้จริงของหุ้นเสมอ ชอบลงทุนในหุ้นโดยให้ความสำคัญกับความคุ้มค่ามากกว่าความคาดหวังการเติบโต และมีเวลามากพอที่จะรอให้เงินลงทุนของคุณเติบโตโดยไม่มีปัจจัยใดที่จะมาเร่งเร้าการตัดสินใจได้ การลงทุนแบบเน้นคุณค่า น่าจะเป็นทางเลือกที่ “ใช่” สำหรับนักลงทุน

ถ้านักลงทุนเชื่อว่ามีความสามารถในการวิเคราะห์วัฎจักรของการเติบโตของอุตสาหกรรมได้อย่างถูกต้อง มองเห็นศักยภาพในการเติบโตของบริษัทที่โดนเด่น ยอมจ่ายแพงได้เพื่อบริษัทที่มีคุณภาพคู่ควร ชอบการลงทุนที่ออกดอกผลได้รวดเร็วจับต้องได้ การลงทุนแบบเน้นการเติบโต อาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

ถ้านักลงทุนชื่นชอบการติดตามความเคลื่อนไหวของตลาดอย่างใกล้ชิด เชื่อมั่นว่าสามารถคาดการณ์การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นได้อย่างแม่นยำ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง และรวดเร็วกว่านักลงทุนทั่วๆไป สามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดในภาวะแวดล้อมที่กดดัน ต้องการผลตอบแทนที่โดดเด่นในระยะเวลาอันสั้นหรือต้องการเปรียบเทียบผลตอบแทนกับดัชนีอ้างอิง การลงทุนแบบตามกระแส น่าจะเข้ากับนักลงทุนได้ที่สุด

ถ้านักลงทุนเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง มีความคิดที่เป็นอิสระและแน่วแน่เพียงพอที่จะขัดแย้งกับความเห็นของนักลงทุนทั้งตลาดได้ พึงพอใจที่จะศึกษาธุรกิจของบริษัทต่างๆ ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งข่าวสารทางสื่อต่างๆ หรือบทวิจัยของนักวิเคราะห์ ต้องการข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนการตัดสินใจ และสามารถอดทนรับผลขาดทุนในระยะสั้นเพื่อผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาวได้ การลงทุนแบบสวนกระแส น่าจะคำตอบที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุน

ในโลกของการลงทุนมีวิธีการลงทุนให้ประสบความสำเร็จมากมายไม่ได้จำกัดอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเท่านั้น (หากในโลกการลงทุนมีรูปแบบการลงทุนที่ทำตามแล้วประสบความสำเร็จทุกคน นักลงทุนทุกคนก็คงรวยกันหมดและไม่มีใครขาดทุน) การเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมจึงเป็นหัวใจสำคัญของการลงทุน เพราะนักลงทุนแต่ละคนมีพื้นเพ ลักษณะนิสัย ระยะเวลาการลงทุน และข้อจำกัดการลงทุนที่แตกต่างกันไปรูปแบบการลงทุนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จจึงไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน การพยายามลงทุนตามแบบนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จโดยไม่พิจารณาความแตกต่างของตนกับต้นแบบอาจนำไปสู่ความล้มเหลวได้ (คุณอาจลงทุนตามแบบ วอร์เรน บัฟเฟต์ ได้ แต่สุดท้ายแล้วคุณก็ไม่ใช่เขา และคุณก็ไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นในช่วงเวลาเดียวกับเขา ความสำเร็จของบัฟเฟต์จึงไม่อาจทำได้ด้วยการเลียนแบบวิธีการลงทุนเพียงอย่างเดียว) พึงระลึกไว้เสมอว่านักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจะหลีกเลี่ยงการวิพากษ์วิจารณ์วิธีการลงทุนของนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จคนอื่นๆ นั่นเป็นเพราะนักลงทุนเหล่านั้นให้การยอมรับความแตกต่างของแต่ละวิธีการลงทุนนั่นเอง

 

บริหารตามสไตล์ที่เหมาะสม

การลงทุนในรูปแบบต่างๆมีแนวทางที่จะประสบความสำเร็จได้แตกต่างกันไป นักลงทุนควรทำความเข้าใจกับการลงทุนในรูปแบบต่างๆให้ถ่องแท้ รวมถึงการปรับแนวคิด ทัศนะคติ ปรัชญา และวิธีการลงทุนให้เหมาะสมกับรูปแบบที่เลือก เช่น นักลงทุนแบบตามกระแสจำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด กล้าที่จะตามกระแส ขายเพื่อเก็บกำไรและตัดขาดทุน (Chase up, Lock-in-profit and Stop loss) เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ในทางตรงกันข้ามนักลงทุนแบบสวนกระแสจะต้องทำการศึกษาบริษัทที่ลงทุนให้ลึกซึ้ง เพิกเฉยต่อผลตอบแทนในระยะสั้นเพื่อเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว รวมถึงต้องมีความมั่นคงเพียงพอที่จะต่อต้านความเห็นที่ขัดแย้งของนักลงทุนส่วนใหญ่และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนต่างๆ จนกว่าการลงทุนจะให้ผลกำไรตามที่ตั้งเป้าไว้ เป็นต้น

 

ทบทวนและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเมื่อจำเป็น

นักลงทุนควรหมั่นทบทวนการลงทุนของตนเองและยอมรับข้อผิดพลาดเพื่อปรับปรุงแก้ไขการลงทุนให้ดียิ่งขึ้น ในบางครั้งรูปแบบการลงทุนที่เลือกอาจไม่เหมาะสมกับนักลงทุน การเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนอาจเป็นทางออกที่ดี อย่างไรก็ดีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนบ่อยครั้งจนเกินไป หรือการปรับเปลี่ยนเพียงเพราะผลขาดทุนในระยะสั้นอาจทำให้เสียวินัยการลงทุนในระยะยาวได้ พึงระลึกไว้เสมอว่าการลงทุนแต่ละรูปแบบต่างมีช่วงเวลาที่เหมาะสมของตัวเอง (เช่น จากการศึกษาเชิงวิชาการระบุว่าการลงทุนแบบเน้นการเติบโต และเน้นคุณค่าให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป) การปรับเปลี่ยนรูปแบบบ่อยครั้งอาจทำให้นักลงทุนประสบแต่ช่วงเวลาที่เลวร้ายได้

การลงทุนในหุ้นยังมีรูปแบบอื่นๆและรายละเอียดปลีกย่อยที่ผู้เขียนยังไม่ได้นำเสนออยู่อีกมากมาย นักลงทุนที่สนใจอาจศึกษาเพิ่มเติมได้จากงานเขียนที่เกี่ยวข้องทั่วไป สุดท้ายนี้หวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวคิดและข้อเสนอแนะต่างๆที่นำเสนอมาตลอด 4 ตอนที่ผ่านมาจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนที่สนใจบ้างตามสมควร

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM ผู้ก่อตั้งเพจ Indy Investor Forum จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท จากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณชาตรีเริ่มต้นการทำงานในสายการเงินในตำแหน่ง Management Trainee บมจ.ธนาคารกรุงไทย เมื่อปี 2546 ก่อนจะเริ่มต้นการทำงานในด้านการบริหารกองทุนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ฝ่ายกองทุนผสม บลจ. กสิกรไทย ในปี 2548 ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายตราสารทุน บลจ.เอ็มเอฟซี เมื่อปี 2551 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ. ไทยพาณิชย์ คุณชาตรีมีประสบการณ์บริหารจัดการกองทุนตราสารทุน ทั้งในรูปแบบกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีความสนใจการลงทุนในตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ นอกจากนี้คุณชาตรียังมีประสบการณ์เป็นอาจารย์พิเศษให้กับ ม.วลัยลักษณ์ ม.หอการค้าไทย และ ABAC อีกด้วย
Posts created 15

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top