InvestmentTalk – พื้นฐานการจัดพอร์ตลงทุน

แชร์บทความนี้

เมื่อนึกถึงการลงทุน ขอแนะนำให้แบ่งการลงทุนออกเป็นสองชนิด คือการลงทุนเสี่ยงสูงอย่างหุ้น ทองคำ โภคภัณฑ์ กับการลงทุนเสี่ยงต่ำอย่างเงินฝาก ประกัน พันธบัตร ความหมายของการลงทุนเสี่ยงสูงอย่างง่าย ๆ ก็คือการลงทุนที่มีโอกาสขาดทุน ส่วนเสี่ยงต่ำก็คือการลงทุนที่มีโอกาสขาดทุนน้อย

แล้วจะลงทุนเสี่ยงสูงเท่าไหร่ดีผมไม่แนะนำให้ดูผลตอบแทนเป็นหลัก แต่ให้ลองสำรวจตัวเอง ว่าเรารับความเสี่ยงได้มากแค่ไหน เงินเย็นแค่ไหนสามารถลงทุนได้นานกี่ปี และทนรับผลขาดทุนได้สูงสุดเท่าไรในระยะการเวลาการลงทุนนั้น สำหรับตารางด้านล่างเป็นตัวอย่างการจัดพอร์ตการลงทุน (Asset Allocation) โดยผมได้เลือกสินทรัพย์สำหรับการลงทุนออกเป็น 5 กลุ่ม คือตลาดเงิน, ตราสารหนี้, กองทุนอสังหา, หุ้นปันผล และทองคำ จากนั้นนำมาจัดพอร์ตเป็น 5 เมนูไล่ตามระดับความเสี่ยง

สิ่งที่ควรให้ความสนใจคือในส่วนล่างของตารางว่ากรณีแย่ที่สุด (โอกาสความน่าจะเป็นน้อยกว่า 5%) ของแต่ละเมนูนั้นคือเท่าไร อย่างเมนูรักษาเงินต้นคือ +0.2% นั่นคือมีโอกาสสูญเสียเงินต้นน้อย ส่วนการลงทุนความเสี่ยงสูงอย่างเมนูเติบโตมีกรณีที่แย่ที่สุดคือ -21.4%

นอกจากนี้ตารางนี้ยังได้อธิบายถึงช่วงประมาณการขอบบน / ล่าง ซึ่งอยู่ในระดับความเป็นไปได้ประมาณ 70% ที่ผลตอบแทนจะอยู่ในช่วงประมาณการ เช่น แผนการลงทุนแบบ “ปลอดภัย” มีช่วงประมาณการผลตอบแทนระหว่าง 0.3 – 10.1% บนระดับความน่าจะเป็นประมาณ 70% และตัวเลขที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือประมาณการผลตอบแทนต่อปี (Expected Return)ของแต่ละเมนูว่าอยู่ในระดับใด เมื่อเราสามารถชั่งทั้งผลตอบแทนกับความเสี่ยงดูแล้วก็จะสามารถให้การตัดสินใจลงทุนทำได้ง่ายขึ้นเยอะครับ

มีกฎง่าย ๆ อีกอันหนึ่งที่อยากขอฝากไว้ในวันนี้ ผมขอตั้งชื่อว่า “กฎของ 80” กล่าวคือสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงควรอยู่ที่ประมาณ “80 – อายุ” ยกตัวอย่างเช่น

อายุ 30 ลงทุนเสี่ยงได้ประมาณ 80 – 30 = 50% เพราะระยะเวลาการลงทุนยาวนาน

อายุ 60 ลงทุนเสี่ยงได้ประมาณ 80 – 60 = 20% เพราะระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างสั้น

ส่วนถ้าอายุ 80 ขึ้นไปก็ไม่ควรลงเสี่ยง ๆ แล้วล่ะครับ เดี๋ยวจะหัวใจวายไปก่อน

อย่างไรก็ตามกฎชอง 80 ไม่ได้เป็นกฎตายตัวเสมอไป เพราะระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนรับได้ย่อมไม่เท่ากัน ดูอย่างคุณลุง Warren Buffet อายุ 80 กว่าแล้วยังลงทุนหุ้นมากมายอยู่เลยเพราะเขารับความเสี่ยงได้ และมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองลงทุนเป็นอย่างดี แต่ข้อดีของกฎของ 80 คือนำไปใชได้ง่าย และยังคอยช่วยเตือนตัวเองให้ลดระดับความเสี่ยงของพอร์ตลงเมื่อมีอายุเพิ่มขึ้นซึ่งถูกต้องตามหลักทฤษฎีการจัดพอร์ตการลงทุน

ทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวการจัดพอร์ตอย่างง่าย ๆ ที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านครับ

 

เจษฎา สุขทิศ, CFA(@FundTalk)

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top