เคล็ดลับการเติบโตของบริษัทระดับโลกอย่าง KFC

แชร์บทความนี้

คงไม่ต้องเกริ่นกันมากมายกับเจ้าพ่อธุรกิจไก่ทอดจานด่วนอย่าง KFC นะครับ ผมเชื่อว่าทุกท่านที่อ่านบทความนี้คงได้เคยลิ้มชิมรสไก่ทอด KFC กันมาบ้างแล้ว แต่จะมีซักกี่คนที่จะรู้ว่า brand ระดับโลกอย่าง KFC นั้นมีเคล็ดลับและกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจอย่างไร วันนี้ FundTalk จะมาเล่าให้ฟังกันครับ

KFC หนึ่งในร้านในตำนานของธุรกิจอาหารบริการด่วนในประเทศไทย

คุณลุงผมขาวหน้าอิ่มที่เป็นโลโก้ของ KFC มีนามว่าผู้พันฮาร์แลนด์ แซนเดอร์ส เขาเป็นผู้ก่อตั้งร้านไก่ทอด Kentucky Fried Chicken หรือ KFC ที่เรารู้จักกันดี

ผู้พันเปิดร้าน KFC สาขาแรกของโลกในปี ค.ศ. 1952 โดยมีแรงบันดาลใจคืออยากที่จะขายไก่ทอดชั้นเลิศให้กับลูกค้าในราคาย่อมเยาว์ จึงได้คิดค้นสูตรลับไก่ทอดขึ้นมาได้สำเร็จโดยใช้เครื่องเทศถึง 11 ชนิด และได้รับความนิยมอย่างมากจนผู้ว่าการรัฐเคนทักกีแต่งตั้งให้เป็นพันเอก ฮาร์แลนด์ เดวิด แซนเดอร์ส ในปี 1935

หลังจากเปิดสาขาแรกได้ 28 ปี ผู้พันก็ได้เสียชีวิตลงในปี 1980 ด้วยวัย 90

แต่ร้าน KFC ไม่ได้จบลงไปพร้อมผู้พัน แต่ยังเจริญเติบโตอย่างงดงามมาจนถึงทุกวันนี้

และกลายเป็นหนึ่งในแบรนด์อาหารจานด่วนที่ใหญ่ที่สุดและได้รับความนิยมไปทั่วโลก

สำหรับ KFC ในประเทศไทยนั้นได้เปิดสาขาแรกที่ เซ็นทรัลลาดพร้าวในปี พ.ศ. 2527

เจ้าของ KFC ที่แท้จริงคือ บริษัท YUM! Brands Inc. ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา

ทางบริษัทได้เข้ามาตั้งบริษัทลูกในประเทศไทยชื่อ บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด

ปัจจุบันมีพันธมิตรทางธุรกิจ 2 รายคือ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD เพื่อช่วยดูแลสาขาของ KFC บางส่วน และ ยัมฯ กำลังสรรหาพันธมิตรธุรกิจอีกเจ้า เพื่อจะเข้ามาดูแลร้าน KFC ที่เหลือทั้งหมด

ปัจจุบัน KFC มี 600 สาขาในประเทศไทย และตั้งเป้าที่จะขยายเป็น 800 สาขาภายในปี 2563

เข้าใจธุรกิจแฟรนไชส์กันก่อน

ในประเทศไทยเวลาเราพูดถึงธุรกิจแฟรนไชส์เรามักนึกถึงธุรกิจขนาดเล็กอย่าง ชายสี่บะหมี่เกี้ยว สเต็คลุงหนวด เล้งต้มแซบ ซะเป็นส่วนใหญ่ พูดแล้วหิว…

ใช่ครับนั่นคือบางส่วนของธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีขนาดเล็กมาก ๆๆๆ

แต่ในความเป็นจริงนั้นธุรกิจแฟรนไชส์เป็น model ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศและบริษัทขนาดใหญ่ของโลกหลายบริษัทก็ใช้ model ธุรกิจนี้กัน

แฟรนไชส์แบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 กลุ่มคือ ผู้ขายแฟรนไชส์ และผู้ซื้อแฟรนไชส์ แต่ละกลุ่มจะมีหน้าที่ดังนี้ครับ

ผู้ขายแฟรนไชส์ – คือเจ้าของธุรกิจ มีหน้าที่บริหารแบรนด์ ดูแลกลยุทธ์ธุรกิจและการตลาด ออกโปรโมชั่น พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมาตรฐาน และควบคุมคุณภาพของผู้ซื้อแฟรนไชส์ และบางแห่ง เจ้าของธุรกิจยังขยายสาขาเองด้วย

ผู้ซื้อแฟรนไชส์ – มีหน้าที่หลักในการขยายสาขาและรับผิดชอบการบริการต่าง ๆ ในร้านอาหาร

ซึ่งหลัก ๆ คือการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบระหว่างผู้ขายและผู้ผลิตนั่นเอง

รีแฟรนไชส์ (Refranchising) คืออะไร

“รีแฟรนไชส์” เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

ซึ่งก็คือการหาพันธมิตรดีดีมาร่วมธุรกิจเพื่อมาดูแลหรือรับผิดชอบงานด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ

เช่น การขยายสาขา การผลิตบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง หรือการจัดหาวัตถุดิบ เป็นต้น

เรียกได้ว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำโดยทั้งหมดจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของธุรกิจร่วมกัน

 

ตัวอย่างของการทำรีแฟรนไชส์ที่สำเร็จมีตัวอย่างมากมาย เช่น

โคคาโคล่ากำลังเร่งทำรีแฟรนไชส์ทั้งหมดในอเมริกาเหนือในปี 2017 เพื่อหาพันธมิตรด้านการบรรจุขวด เพื่อที่ทางบริษัทโคคาโคล่าจะได้มุ่งเน้นการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกมาสู่ตลาด หลังจากที่โคคาโคล่าในยุโรปตะวันตกเพิ่งรีแฟรนไชส์หาพันธมิตรด้านการบรรจุขวดไปเมื่อปีที่แล้ว ส่วนโคคาโคล่าแอฟริกาก็ได้ประกาศเพิ่มพันธมิตรด้านการบรรจุขวดเหมือนกันเมื่อปี 2014

กลยุทธ์รีแฟรนไชส์กำลังจะทำให้ KFC ทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด

สิ่งที่ KFC ในประเทศไทยกำลังจะทำนั้นคือรีแฟรนไชส์ครับ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับ KFC ทั่วโลก

ถ้าใครได้อ่านข่าวเมื่อตอนต้นปีบางฉบับลงข่าวว่า KFC กำลังจะขายธุรกิจในประเทศไทย… ข่าวนั้นไม่จริงเลยครับ

KFC นั้นประกาศหาพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อทำรีแฟรนไชส์ต่างหาก

ถ้าผมเป็นเจ้าของ KFC ผมก็คงไม่ขายหรอกนะ เพราะบริษัทยังคงเติบโตได้ดี ตอนนี้ KFC ได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่อย่างมาก มีรางวัลระดับประเทศการันตี อย่างรางวัลแบรนด์ยอดนิยม (No.1 Brand Thailand) สาขา Fast Food โดยนิตยสารมาร์เก็ตเธียร์

จริง ๆ แล้ว KFC ได้เริ่มใช้กลยุทธ์แฟรนไชส์ตั้งแต่ช่วงที่มีการเปิด KFC สาขาแรกในประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2527 – เมื่อ 33 ปีที่แล้ว บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรรายแรกของ KFC ในประเทศไทย

ในปี พ.ศ. 2559 – บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (RD) ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรอีกรายที่สำคัญ

ในปี พ.ศ. 2560 – กำลังเปิดรับพันธมิตรรายใหม่… มาลุ้นกันนะครับว่าใครจะผ่านการคัดเลือก…

 

พันธมิตรในโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ของ KFC มีหน้าที่ทำอะไร?

หน้าที่หลักของพันธมิตรคือ “การบริหารจัดการร้านสาขาต่างๆ” ให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับมาตรฐานของ KFC

และยังมีหน้าที่ในการขยายสาขาของ KFC ให้มีจำนวนมากขึ้น

ซึ่งพันธมิตรนี่แหละครับที่จะทำให้ KFC เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ในอนาคต

และจะเป็นผู้ที่ช่วยผลักดันให้ KFC ไปได้ถึง 800 สาขาภายในปี 2563 ได้ตามที่ตั้งใจไว้

 

แล้วตัว KFC เองทำอะไร?

หลายคนเริ่มสงสัยว่าถ้าปล่อยให้คนอื่นทำหน้าที่ขยายสาขาแล้ว ยัมฯ ที่เป็นเจ้าของธุรกิจในไทยทำอะไร หน้าที่หลักของยัมฯ จะไม่ใช่การขยายสาขาอีกต่อไป แต่จะเป็นการ “พัฒนา” หรือเป็นผู้สร้าง

พัฒนาทั้งการผลิต การคิดค้นสินค้าใหม่ๆ และการบริหาร brand KFC ให้เป็นที่นิยมมากขึ้น รวมถึงการทำกลยุทธ์การตลาด โปรโมชั่นที่เป็นแนวทางให้ทุกๆ สาขาปฏิบัติตาม KFC สำนักงานใหญ่จึงยังมีเหมือนเดิมเพื่อให้เป็นเซ็นเตอร์สำหรับการบริหารแบรนด์และแฟรนไชส์ ซึ่งตรงนี้ผมว่าน่าสนใจ เพราะขนาดตอนที่ ยัมฯ ยังทำทุกอย่างควบคู่ไปพร้อมกับการขยายสาขาของตัวเอง ก็ยังมีสินค้าเจ๋งๆ มีแคมเปญโดนๆ มาให้ผู้บริโภคตื่นเต้นอยู่ตลอด แล้วถ้าได้ลงมาลุยอย่างเต็มตัวแล้ว ต้องรอดูว่าจะจัดเต็มแค่ไหน

วันนี้ KFC ได้แบ่งหน้าที่ของ “ผู้ผลิต” และ “ผู้ขาย” อย่างชัดเจน

และผันตัวเองเป็นผู้ที่ควบคุมและกำหนดกลยุทธ์ของ KFC

 

สรุป…

และนี่แหละครับคือเคล็ดลับการเติบโตของบริษัทระดับโลกอย่าง KFC ที่กำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย และ KFC ทั่วโลก

“เพิ่มสาขาโดยไม่ใช่เงิน แต่ได้เงิน” คือเคล็ดลับของการทำรีแฟรนไชส์ แต่ก็ไม่ได้เป็นการเอาเปรียบพันธมิตรนะครับ เพราะเงินส่วนที่เดิมเคยใช้เป็นเงินลงทุนในการขยายสาขาก็จะเอามาพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ แบรนด์ก็จะแข็งแกร่งขึ้น และพันธมิตรทั้งหลายยังคงได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งของยอดขาย เพราะฉะนั้นเรียกได้ว่าเป็น Win-Win Situation หรือได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่ายนั่นเองครับ

 

FundTalk รายงาน

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top