EconomicTalk – สัญญาณเตือนถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของสหรัฐ

แชร์บทความนี้

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ส่งผลลบต่อการลงทุนในตลาดเกิดใหม่คือการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ โดยผลกระทบลำดับแรกคือค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตามมาด้วยความต้องการค่าจ้างที่มากขึ้น ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น การปรับราคาสินค้าจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ วัฏจักรดังกล่าวเป็นผลจากพลวัตของเงินเฟ้อ (Inflation Dynamics) ซึ่งธนาคารกลางมีความจำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อบริหารเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectations) ด้วยเหตุนี้ กระแสเงินลงทุนในช่วงแรกของปีนี้จึงไหลออกจากตลาดเกิดใหม่เข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปริมาณมาก ดัชนีตลาดหุ้นของสหรัฐจึงให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นเกิดใหม่ อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องวิเคราะห์ต่อไปคือ“สหรัฐมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อต่ำจริงหรือ?”

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐต่ำเมื่อเทียบกับตลาดเกิดใหม่คือ CPI ของสหรัฐคำนวณโดยใช้สัดส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มากในขณะที่สัดส่วนหลักใน CPI ของตลาดเกิดใหม่เป็นภาคอาหารและการขนส่งที่มีการส่งผ่านราคาอย่างรวดเร็วตามราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้าความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของสหรัฐกลับมีแนวโน้มสูงขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของ Owner’s Equivalent Rent (OER) ที่เป็นสัดส่วนหลักในการคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ถึงความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อที่สำคัญอีกสามประการคือ1).การเพิ่มขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์ล่วงหน้าหนึ่งปีที่คำนวณโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนออกมาสูงถึงร้อยละ 4.6 และสูงที่สุดในรอบเกือบสามปี 2).การเพิ่มขึ้นของจุดคุ้มทุนต่อเงินเฟ้อที่คำนวณจาก Treasury Inflation Protected Securities (TIPS) และ 3).การไหลเข้าของกระแสเงินลงทุนสู่ตราสารที่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อได้อย่างต่อเนื่องเช่น TIPS, ทองคำ และตราสารหนี้ระยะสั้น โดยเฉพาะในส่วนของ TIPS ที่มีกระแสเงินไหลเข้าสุทธิเป็นเวลาสิบสามสัปดาห์ติดต่อกัน

สำหรับผลกระทบต่อตลาดหุ้นจากปัจจัยเสี่ยงนี้สามารถพิจารณาได้จากความอ่อนไหวของดัชนีดาวโจนส์ที่มีต่อเงินเฟ้อคาดการณ์ล่วงหน้าหนึ่งปีกล่าวคือดัชนีดาวโจนส์จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่เงินเฟ้อคาดการณ์ทรงตัวในระดับต่ำหรือลดลงและดัชนีดาวโจนส์จะปรับตัวลดลงเมื่อตัวเลขเงินเฟ้อคาดการณ์เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่จะมีบทบาทสำคัญต่อการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นและพันธบัตรในระยะถัดไปคือปฏิกิริยาของธนาคารกลางสหรัฐที่มีต่อสัญญาณเตือนนี้

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
ฑิฆัมพร วิชัยธรรมธร, CFA สำเร็จ การศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาตรีสาขาบริหารการตลาดจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จากนั้นได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2549 คุณฑิฆัมพรเริ่มต้นการทำงานในสายงานการเงินเมื่อปี พ.ศ. 2549 ที่ฝ่ายบริหารเงิน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการบริหารกลยุทธ์สินทรัพย์และหนี้สิน จากนั้นจึงได้รับโอกาสให้บริหารพอร์ตการลงทุนของธนาคารในตำแหน่งผู้ช่วยผู้ จัดการการลงทุนและผู้จัดการการลงทุนในลำดับถัดมา ต่อมาในพ.ศ. 2552 คุณฑิฆัมพรได้เข้าสู่ธุรกิจจัดการกองทุนที่ บลจ.ทิสโก้ ในตำแหน่งผู้จัดการกองทุน และได้ร่วมงานด้านการบริหารพอร์ตตราสารหนี้ที่บลจ. อยุธยาตั้งแต่พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน คุณฑิฆัมพรมีประสบการณ์บริหารจัดการกองทุนตราสารทุน ตราสารหนี้ และสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งธุรกิจกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล ปัจจุบันคุณฑิฆัมพรใช้เวลาว่างจากการทำงานในการเขียนบทความด้านการลงทุน
Posts created 4

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top