InvestmentTalk – ปรับกลยุทธ์ลงทุนกับ @FundTalk ตอน “ระวังเงินร้อนลวก”

แชร์บทความนี้

เจษฎา สุขทิศ, CFA | 2 พ.ค. 54

เข้าสู่เดือนพฤษภาคม ของปีกระต่ายทองแล้วนะครับ อากาศช่วงนี้เริ่มจะร้อนสมกับเป็นหน้าร้อนเมืองไทย หลังจากที่เราเกิดปรากฎการณ์แฟชั่นเสื้อหนาวกลางฤดูร้อนไปเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าสมดุลธรรมชาติของโลกเรานั้นกำลังสั่นคลอนหนักทีเดียว และระยะหลายปีหลังมามีภัยธรรมชาติต่าง ๆ เกิดถี่ขึ้น และรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

สำหรับการปรับกลยุทธ์การลงทุนครั้งนี้ผมให้ชื่อว่าตอน “ระวังเงินร้อนลวก” ไม่ใช่น้ำร้อนนะครับ แต่เป็นเงินร้อน ซึ่งหมายถึงเงินทุนเคลื่อนย้ายจากต่างชาติซึ่งมาเร็วและไปเร็ว ต้นตอของเงินร้อนที่ว่านี้มาจากทิศทางการอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องของค่าเงินดอลลาร์ในปีนี้ภายหลังจากผู้ว่าแบงค์ชาติสหรัฐฯ ได้ออกมาย้ำกับนักลงทุนว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไป ทำให้สภาพคล่องของเงินดอลลาร์ยังคงท่วมระบบอย่างต่อเนื่อง เมื่อดูจากค่าเงินดอลลาร์เทียบกับยูโรล่าสุดอ่อนไปที่ 1.48 อ่อนค่าไปกว่า 10% แล้วในปีนี้ ด้วยการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์นี้เองเป็นปัจจัยหลักอันหนึ่งทำให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นทำ new high อย่างต่อเนื่อง โดยขณะที่กำลังเขียนบทความอยู่นี้ได้ปรับขึ้นทะลุ 1,556 เหรียญต่อออนซ์ไปแล้ว ขณะที่ตลาดหุ้นหลักอย่างอเมริกาก็ทำจุดสูงสุดนับแต่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ไปเช่นเดียวกัน

เมื่อมองกลับไปที่ปัจจัยพื้นฐาน ผมยังคงมองว่าปี 2011 – 2012 ยังคงเป็นปีที่ดีของสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น, ทองคำ หรือโภคภัณฑ์ จากแรงหนุนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการเติบโตต่อเนื่องของเอเชีย และลาตินอเมริกา [อ่านบทความปรับกลยุทธ์ฉบับที่ผ่าน ๆ มาได้ที่ http://fundmanagertalk.com/tag/fundtalk/]  สำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของประเทศไทยในปีนี้น่าจะอยู่ใกล้เคียงกันคือระดับ 4% บวกลบเล็กน้อย ซึ่งถือว่ายังคงเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น โดยเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยปีกระต่ายผมยังคงเอาไว้ที่ 1,200 จุด บนการเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่ระดับ 20% นำไปสู่ EPS ตลาดที่ 89 บาท และ P/E ตลาดเป้าหมายที่ 13.5 เท่า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยผมมองเป้าหมายที่ 3. 5 – 4.0% ในปี 2011 ค่อนข้างสูงกว่านักวิเคราะห์โดยส่วนใหญ่

ปัจจัยการลงทุนที่ต้องติดตามจากนี้ไปมีหลายประเด็น ซึ่งชั่วโมงนี้ผมให้น้ำหนักเรื่องนโยบายการเงินของสหรัฐฯ มากที่สุดครับ เป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามาตรการ QE2 จะจบลงในเดือนมิถุนายน 2011 นี้ ขั้นตอนถัดไปหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มจะฟื้นตัวได้ก็คือการลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางที่เข้าซื้อสินทรัพย์ซึ่งล่าสุดเพิ่มสูงถึง 2.7 ล้านล้านเหรียญ  และการขึ้นดอกเบี้ย Fed Fund Rate ในที่สุด เงินหลายล้าน ๆ เหรียญของแบงค์ชาติสหรัฐฯ นี่แหละครับที่เป็นหนึ่งในตัวการของการทำให้ราคาของสินทรัพย์หลาย Asset Class นับแต่หุ้น, ทองคำ, น้ำมัน, สินค้าเกษตร หรือแม้กระทั่งพันธบัตรรัฐบาลเองได้รับแรงซื้อหนุนจนราคาปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นของผมคือ ผมมองเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงมากขึ้น จะนำไปสู่การลดขนาดงบดุลของ FED ลง หรือสภาพคล่องที่ตึงตัวมากขึ้น ซึ่งแน่นอนจะนำไปสู่การแข็งค่าของเงินดอลลาร์และการขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยงต่าง ๆ ออกมา สิ้นเดือนมิถุนายนนี้จับตาดู reaction แรกของตลาดภายหลัง FED หยุดเพิ่มขนาดของงบดุลหลังจากเพิ่มขึ้นมาตลอดนับจากมี Hamburger Crisis โดยเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัวจากระดับ 9 แสนล้านเหรียญมาเป็น 2.6 ล้านล้านเหรียญในปัจจุบัน การหยุดมาตรการ QE มองอีกนัยก็คือหยุดฉีดสภาพคล่องเข้ามาในระบบการเงิน และในระยะถัดไปการลดขนาดของงบดุลของ FED ย่อมหมายถึงการดึงเงินร้อนออกจากระบบการเงิน

นอกจากปัจจัยเรื่องนโยบายการเงินสหรัฐฯ แล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ  อีกหลายตัวที่จะมีผลต่อราคาสินทรัพย์ ได้แก่ เรื่องปัญหาหนี้สาธารณะของกรีซ ซึ่งใกล้จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมากแล้ว, อัตราเงินเฟ้อของไทยที่เร่งตัวแรงขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดเงินเฟ้อเดือนเมษาเพิ่มขึ้นถึง 4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ค่อนข้างมาก, เรื่องการเมืองภายในประเทศที่คาดว่าจะมีการยุบสภาเร็ว ๆ นี้, ปัญหาของญี่ปุ่น ซึ่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์ดูจากมากกว่าที่ได้เคยคาดการณ์กันเอาไว้ เรียกได้ว่าหลายปัจจัยทีเดียวครับที่ต้องจับตามอง ณ เวลานี้ และแน่นอนว่าปัจจัยลบหลาย ๆ ตัวเช่น ปัญหาเงินเฟ้อ ย่อมนำไปสู่การ De-rating ของ P/E ตลาดโดยนักลงทุนแน่นอนครับ อยากให้มอง downside ไว้ที่ P/E ประมาณ 11.5 เท่า หรือ 1,025 จุด

โดยสรุปผมมองว่าราคาสินทรัพย์เสี่ยงจะยังให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุน โดยยังแนะนำทยอยลงทุนเพิ่มสำหรับการลงทุนในระยะยาว สำหรับท่านที่เป็นนักลงทุนระยะสั้นและได้กำไรมาพอสมควรแล้ว แนะนำให้ทยอยทำกำไรเช่นกัน โดยปัจจัยเรื่อง Fund Flow และนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญ หากเรามองปัจจัยการลงทุนอย่างรอบด้าน ลงทุนอย่างมีสติ และพอเพียง รับรองว่าจะไม่โดน “เงินร้อน” ลวกเอาแน่นอนครับ

ท่านสามารถรับชมทาง Clip YouTube ได้ที่นี่ครับ

httpvh://www.youtube.com/watch?v=FNsoBNJv08I

 

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top