สถานการณ์ของตลาดหุ้นทั่วโลกในระยะ 1 – 2 ปีที่ผ่านมาเรียกได้ว่าอยู่ในช่วงเสพย์ติดเม็ดเงินจากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่ามาตรการ QE การที่ระบบเศรษฐกิจมีสภาพคล่องในระดับสูง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยของประเทศใหญ่ ๆ อย่างอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น อยู่ในระดับต่ำใกล้ 0% ทำให้มีการนำเม็ดเงินต้นทุนต่ำเหล่านี้ไปแสวงหารผลตอบแทนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ทั้งการลงทุนในตราสารทุน พันธบัตร รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว FED จึงส่งสัญญาณว่ามาตรการกระตุ้นใกล้จะหมดลง ซึ่งคาดว่าจะหยุดกระตุ้นประมาณกลางปี 2557 จึงทำให้ตลาดเกิดความคาดหวังต่ออนาคตในเชิงลบ และวิตกกังวลอย่างหนัก อาการคล้ายกับนักกีฬาที่ติดสารกระตุ้นได้รู้ตัวว่าจะต้องแข่งกีฬาต่อไปโดยไม่มียากระตุ้นที่ได้รับอยู่เป็นประจำ
Abenomics
อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงก็คือวันนี้ เวลานี้การอัดฉีดสภาพคล่องยังมีอยู่ต่อไป ทั้งจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป โดยเฉพาะทางฝั่งญี่ปุ่นที่รัฐบาลของนายชินโซ อาเบะ เพิ่งเข้ารับต่ำแหน่งในช่วงปลายปี 2555 ที่ผ่านมา ได้เริ่มมีการใช้มาตรการ QE ออกมาโดยมีแผนที่จะฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจถึงประมาณ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งจะทำให้ปริมาณฐานเงินในระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในปีหน้าซึ่งถือว่าเป็นการใช้ยาแรงที่สุดอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเลยทีเดียว จากวันนี้ไปจนถึง 12 เดือนข้างหน้า “ความจริง” คือขนาดสินทรัพย์ของธนาคารกลางทั่วโลกจะเพิ่มขื้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20%
สภาพคล่องยังมีเต็มระบบ
สิ่งสำคัญคือการปรับตัวลดลงรุนแรงของตลาดในระยะที่ผ่านมาไม่นับเป็นวิกฤตสภาพคล่องอย่างวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤตในกรีซที่ผ่านมา โดยสภาพคล่องในระบบการเงินของโลกถือว่ายังมีล้นระบบอยู่มาก การเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมาอยู่ในรูปเงินสดที่พร้อมจะกลับไปลงทุนได้ ไม่ได้ถูกดูดกลับไปยังสถาบันการเงินแต่อย่างใด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีว่าหากพื้นฐานของเศรษฐกิจยังคงดี กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังคงเติบโตได้ดี เม็ดเงินก็จะสามารถกลับมาลงทุนได้อีกครั้ง
พื้นฐานของไทยยังแข็งแกร่ง
เศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2556 – 57 มีแนวโน้มเติบโตได้ดี 4 – 5% เช่นเดียวกับกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่มีแนวโน้มเติบโตปีละประมาณ 15% ดัชนีตลาดหลักทรัพย์มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับการเติบโตของกำไร โดยดัชนีหุ้นมักจะปรับตัวไปกับการคาดการณ์กำไรใน 1 ปีข้างหน้า แนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนรวมของประเทศไทยน่าจะทำ new high ในปีนี้และต่อเนื่องในปีหน้าน่าจะส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยสามารถทำ new high ได้เช่นกัน
ไม่ใช่ Party ขาขึ้นตลอดทางอีกแล้ว
ประมาณสองปีที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรงอย่างต่อเนื่องและให้ผลตอบแทนสูงกว่าค่าเฉลี่ย ทั้งนี้มาจากหลายปัจจัยบวกที่เข้ามาพร้อมกัน ทั้งการกระตุ้นของ FED ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องหลายปี, Valuation ที่อยู่ในระดับต่ำ, มาตรการรัฐที่มีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เรื่องการปรับลดภาษี, รถคันแรก, ฯลฯ ขณะที่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นต่างออกไปมาก มาตรการ QE แม้จะมีอยู่ในวันนี้แต่ก็มีความคาดหวังว่าจะหมดในอีก 1 ปีข้างหน้า, Valuation ก็อยู่ในระดับปานกลางที่ P/E 12 – 14 เท่า, มาตรการรัฐโดยเฉพาะ Mega Project ต่าง ๆ ก็ดูจะมีโอกาสขับเคลื่อนได้ช้าลงในช่วงนี้ ทำให้ผมมองว่าตลาดหุ้นไทยในระยะ 1 – 2 ปีข้างหน้าจะกลับมาให้ผลตอบแทนปานกลางคือ 10 – 15% ต่อปี และมีความผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นในระยะนี้ ครึ่งปีหลังจึงเป็นลักษณะของปีงูจงอางที่มีพิษ และเราต้องระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น
หุ้น กองอสังหาฯ และตราสารหนี้ระยะกลาง
สำหรับการลงทุนที่แนะนำในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2556 นี้ผมยังคงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นไทย ซึ่งน่าจะยังคงให้ผลตอบแทนที่ดี แม้จะความผันผวนที่เพิ่มขึ้นมาบ้าง โดยการลงทุนอาจเน้นหุ้นปันผลสูงซึ่งจะมีความผันผวนที่น้อยกว่าตลาดโดยรวม รวมไปถึงหุ้นที่มี Valuations ไม่แพงมาก และมีพื้นฐานการเติบหลักทรัพย์ชนิดที่ 2 คือกองทุนอสังหาฯ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีอัตราเงินปันผลที่สูง และมีโครงสร้างรายได้ที่ค่อนข้างแน่นอน โดยหลักทรัพย์กลุ่มนี้น่าจะได้รับความสนใจเนื่องจากภาวะดอกเบี้ยทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ เม็ดเงินที่มีอยู่เต็มระบบย่อมจะไหลไปหากลุ่มหลักทรัพย์ที่มี Yield สูง ๆ สุดท้ายคือตราสารหนี้ระยะกลาง ซึ่งเหมาะจะใช้เป็นพอร์ตหลักของนักลงทุนโดยลงทุนโดยลงทุนได้มากถึง 40 – 60% ของเงินลงทุนรวมที่มี โดยจากการศึกษาในรอบ 6 – 7 ปีที่ผ่านมาพบว่านักลงทุนไทยเน้นนำเงินส่วนใหญ่ไปเก็บไว้ในกองทุนตลาดเงิน (Money Market) และกองทุนตราสารหนี้ 3 – 12 เดือน (Term Fund) ซึ่งมีผลตอบแทนสะสมน้อยกว่าเงินเฟ้อ กล่าวคือไม่สามารถรักษามูลค่าของเงินไว้ได้ ขณะที่การลงทุนในตราสารหนี้ระยะกลาง 2 – 3 ปีมีผลตอบแทนสะสมที่ชนะเงินเฟ้ออยู่พอสมควร และเหมาะสมในการลงทุนในภาวะดอกเบี้ยทรงตัว หรือปรับลดลงได้อีกเล็กน้อยในระยะ 1 ปีข้างหน้า
เจษฎา สุขทิศ, CFA