InvestmentTalk – ลงทุนอย่างมีสไตล์ (1)

แชร์บทความนี้

 

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM 

ในโลกการลงทุนมีนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในตลาดหุ้นอยู่มากมาย ซึ่งนักลงทุนทั้งหลายเหล่านี้อาจมีแนวคิด และวิธีปฏิบัติที่อาจเหมือนหรือแตกต่างกันแบบสุดขั้วก็ได้ แท้จริงแล้วการลงทุนในหุ้นนั้นมีรูปแบบการลงทุน (Styles) ที่นำไปสู่ความสำเร็จที่หลากหลาย ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการเงินได้จำแนกรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายนี้ให้เป็นหมวดหมู่ต่างๆเพื่อให้ง่ายแก่ศึกษาและเข้าใจ วันนี้จึงจะขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักกับการลงทุนในหุ้นในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนคำแนะนำ และข้อเสนอแนะ ที่คาดว่าจะเป็นประโยชน์แก่การลงทุนของท่านผู้อ่านในอนาคต

การลงทุนแบบเชิงรับ (Passive)

การลงทุนแบบเชิงรับ หมายถึง การลงทุนที่ตั้งเป้าหมายจะสร้างผลตอบแทนที่เทียบเคียงได้กับผลตอบแทนของตลาด โดยการลงทุนในหุ้นตามน้ำหนักของหุ้นในดัชนีอ้างอิง (เช่น SET Index) ซึ่งในปัจจุบันมีเครื่องมือทางการลงทุนที่เอื้อแก่การลงทุนแบบเชิงรับนี้มากมาย เช่น กองทุนรวมดัชนี (Index Fund) กองทุนรวมดัชนีอีทีเอฟ (Exchange traded fund) หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น

การลงทุนรูปแบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสมมุติฐานตลาดมีประสิทธิภาพ (Efficient market hypothesis) ซึ่งกล่าวว่าราคาหุ้นสามารถปรับตัวสะท้อนกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่มีผลกระทบกับมูลค่าของบริษัททั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ที่สามารถพยากรณ์ได้) ได้อย่างรวดเร็วจนอาจกล่าวได้ว่าราคาหลักทรัพย์ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันเป็นราคาที่สมเหตุสมผลอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของราคาในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นความพยายามที่จะหาหลักทรัพย์ที่มูลค่าต่ำกว่าหรือสูงกว่าราคาที่เหมาะสมนั้นไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการลงทุนได้ในตลาดที่มีประสิทธิภาพ และไม่มีนักลงทุนผู้ใดที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าตลาดได้อย่างสม่ำเสมอในระยะยาว ซึ่งแนวคิดการลงทุนแบบเชิงรับนี้ได้รับการสนับสนุนจากสมมุติฐานทางการเงิน และงานวิจัยมากมาย

ด้วยเหตุนี้การลงทุนแบบเชิงรับจึงไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การคัดสรรหุ้น หรือสรรหากลยุทธ์การลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนที่โดดเด่น หากแต่มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุนไปที่การลดต้นทุนในการบริหารจัดการ เช่น ค่านายหน้า  ภาษี ค่าใช้จ่ายในการทำบทวิเคราะห์ และเวลาที่ใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นจุดเด่นเมื่อเปรียบเทียบกับการบริหารแบบเชิงรุก

นักลงทุนที่เน้นการลงทุนแบบเชิงรับจึงควรใช้เวลา และให้ความสำคัญกับการกระจายการจัดสรรทรัพย์สินลงทุน (Asset allocation) ให้มากที่สุด โดยให้ตั้งเป้าหมายการลงทุนและระยะเวลาลงทุนที่ชัดเจน เช่น ผลตอบแทนที่คาดหวัง ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ ระยะเวลาการลงทุน สภาพคล่องที่ต้องการในแต่ละช่วงเวลา เป็นต้น จากนั้นจึงจัดสรรน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น เงินฝาก ตราสารหนี้ หุ้น อสังหาริมทรัพย์ สินค้าโภคภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อให้เหมาะสมกับเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้ข้างต้น แล้วปล่อยให้การลงทุนในหุ้นเป็นหน้าที่ของกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรับต่างๆ ซึ่งมีข้อได้เปรียบในแง่ค่าธรรมเนียมและต้นทุนการบริหารที่ต่ำกว่าเป็นผู้จัดการแทน

การลงทุนแบบเชิงรุก (Active)

การลงทุนแบบเชิงรุกหมายถึงการลงทุนที่ตั้งเป้าหมายจะสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าผลตอบแทนของตลาด หรือในอีกแง่หนึ่งการลงทุนแบบเชิงรุกอาจมีเป้าหมายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงให้ต่ำกว่าตลาด การลงทุนในเชิงรุกนสามารถแตกแขนงย่อยไปเป็นรูปแบบการลงทุนย่อยๆได้อีกมากมาย เช่น การลงทุนแบบเน้นคุณค่า การลงทุนแบบเน้นการเติบโต ฯลฯ ซึ่งมีความแตกต่างกันในรายละเอียดค่อนข้างมาก

การลงทุนในรูปแบบเชิงรุกตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าตลาดไม่ได้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลา (Inefficient market) นักลงทุนสามารถหาหุ้นที่มีตลาดประเมินมูลค่าที่แท้จริงผิดพลาดไปได้ (Mispricing) และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดในระยะยาวได้ด้วยวิธีต่างๆ เช่น การซื้อหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสม และขายหุ้นที่มีราคาสูงกว่ามูลค่าที่เหมาะสม ซึ่งวิธีการระบุมูลค่าที่เหมาะสมนี้อาจแตกต่างกันไปสำหรับนักลงทุนเชิงรุกที่มีรูปแบบต่างๆกัน เช่น นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าอาจระบุมูลค่าที่เหมาะสมโดยให้ความสำคัญกับ P/E ratio ในขณะที่นักลงทุนเชิงรุกที่เน้นการเติบโตอาจกำหนดมูลค่าที่เหมาะสมโดยเน้นที่อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ เป็นต้น การลงทุนแบบเชิงรุกนี้ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนที่ประสบความเร็จในการลงทุนในตลาดหุ้นมากมาย อาจกล่าวได้ว่านักลงทุนที่มีชื่อเสียงทุกรายล้วนมากจากแนวทางการลงทุนแบบเชิงรุกทั้งสิ้น ด้วยเหตุที่การลงทุนแบบเชิงรุกมีรูปแบบและรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย นักลงทุนที่เชื่อมั่นในการบริหารแบบเชิงรุกจึงควรทำความเข้าใจกับการลงทุนเชิงรุกในแบบต่างๆ และเลือกรูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมกับลักษณะของนักลงทุนแต่ละบุคคล

ในครั้งต่อไปจะพาทุกท่านไปรู้จักกับรูปแบบการลงทุนแบบเชิงรุกแบบเน้นคุณค่า (Value) และ การลงทุนที่เน้นการเติบโต (Growth) รวมถึงคำแนะนำต่างๆที่อาจเป็นประโยชน์กับนักลงทุน

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM ผู้ก่อตั้งเพจ Indy Investor Forum จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท จากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณชาตรีเริ่มต้นการทำงานในสายการเงินในตำแหน่ง Management Trainee บมจ.ธนาคารกรุงไทย เมื่อปี 2546 ก่อนจะเริ่มต้นการทำงานในด้านการบริหารกองทุนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ฝ่ายกองทุนผสม บลจ. กสิกรไทย ในปี 2548 ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายตราสารทุน บลจ.เอ็มเอฟซี เมื่อปี 2551 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ. ไทยพาณิชย์ คุณชาตรีมีประสบการณ์บริหารจัดการกองทุนตราสารทุน ทั้งในรูปแบบกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีความสนใจการลงทุนในตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ นอกจากนี้คุณชาตรียังมีประสบการณ์เป็นอาจารย์พิเศษให้กับ ม.วลัยลักษณ์ ม.หอการค้าไทย และ ABAC อีกด้วย
Posts created 15

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top