InvestmentTalk – ลงทุนหุ้นแบบ Mosaic

แชร์บทความนี้

เห็นขึ้นชื่อบทความมาอย่างนี้ไม่ใช่การลงทุนโดยใช้ กระเบื้อง Mosaic (โมเสก) นะครับ คำว่า Mosaic ที่นำมาใช้ในที่นี้นั้นหมายถึง Mosaic Theory ซึ่งเป็นแนวทางที่ผมเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนหุ้นแบบ วิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานได้มากทีเดียวครับ

Mosaic Theory (อ่านว่า โม-เซ-อิค) คือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานบริษัท โดยเริ่มจากการ Brain Storm คือการรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงบการเงิน, 56-1, Opportunity Day, Company Visit รวมไปถึงการใช้ Google และการอ่านเวบบอร์ดต่าง ๆ ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่เราสนใจ โดยนำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมและวิเคราะห์/สังเคราะห์หา “คุณค่า” ของบริษัท (จะว่าแนวทางนี้เป็นแนวทางแบบ Value Investor ชนิดหนึ่งผมก็ไม่ปฏิเสธครับ)

ข้อมูลที่เรารวบรวมมาได้นั้นหลัก ๆ มี 4 รูปแบบ คือ

1. Non-Material, Non-Public Information หมายถึงข้อมูลที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญต่อบริษัท และยังไม่ใช่ข้อมูลสาธารณะ ข้อมูลลักษณะนี้แม้จะไม่ได้มีความสำคัญในตัวมันเอง แต่ในหลายกรณีสามารถนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอื่น ๆ หรือนำไปวิเคราะห์จนค้นพบความสำคัญที่แฝงอยู่ภายในได้

2. Non-Material, Pubilc Information หมายถึงข้อมูลที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญต่อบริษัท และเป็นข้อมูลสาธารณะทั่วไป ซึ่งผมคิดว่าเราไม่ควรละเลยข้อมูลชนิดนี้เช่นกันเพราะแม้จะไม่ได้มีสาระสำคัญ แต่หากนำไปวิเคราะห์รวมกับข้อมูลชนิดอื่น ๆ อาจนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการเติบโตของบริษัทอย่างที่เราคาดไม่ถึง

3. Material, Public Information ข้อนี้สำคัญที่สุดในแนวทางลงทุนหุ้นแบบ Mosaic นั่นคือการใช้ข้อมูลสาธารณะที่มีสาระสำคัญต่อบริษัท ข้อมูลลักษณะนี้มีอยู่มากมายในหลาย ๆ แหล่งข้อมูล แต่บ่อยครั้งที่เราละเลยความสำคัญของข้อมูลลักษณะนี้ ทั้งที่นำไปสู่การเติบโตของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ หรือแม้แต่การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นเอง ที่หลายครั้งไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลเหล่านี้ก็มี เห็นได้จากหลายครั้งที่มีข่าวดี หรือข่าวร้ายที่ “Material” ต่อผลกำไรของบริษัท แต่กว่าราคาหุ้นจะกลั่นกรองรับข่าวนั้นบางทีก็ใช้เวลานานก็มี

4. Material, Non-Public Information ข้อสุดท้ายนี้ต้องระมัดระวังครับเพราะข้อมูลที่มีสาระสำคัญ แต่ยังไม่รับทราบกันโดยสาธารณะ นั่นหมายถึง “ข้อมูลภายใน” หรือ “Inside Information” นั่นเอง ซึ่งกฎหมายได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “ห้ามนำข้อมูล” ลักษณะนี้มาใช้ในการเลือกลงทุน หลายกรณีในต่างประเทศถึงกับติดคุกจากการผิดกฎหมายข้อนี้ก็เคยเกิดขึ้นมากมาย ตัวอย่างของข้อมูลชนิดนี้ เช่น การจ่ายเงินปันผลที่ยังไม่เปิดเผย, หรือข่าววงในเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ

แนวทางลงทุนหุ้นแบบ Mosaic คือ การนำเอาข้อมูลในข้อ 1. – 3. มากวิเคราะห์ร่วมกัน บางครั้งอาจใช้เทคนิคแบบ Mind Mapping และต้องใช้หลักตรรกะความคิดเข้าร่วมด้วย (รูปข้างบนเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการวาด Mind Mapping ครับ) ซึ่งตรงจุดนี้ประสบการณ์ของผู้วิเคราะห์จะมีบทบาทค่อนข้างมาก ส่วนตัวผมจะให้ความสำคัญกับปัจจัย Qualitative (การวิเคราะห์เชิงคุณภาพ) มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวิสัยทัศน์ และแผนธุรกิจของทีมงาน ว่าจะนำพาบริษัทไปในทิศทางใด รวมไปถึงTrack Record ของทีมผู้บริหารว่าที่ผ่านมาสามารถทำได้อย่างที่พูดไว้หรือไม่มีหลายบริษัท ที่ผู้บริหารเก่ง เคยนำพาบริษัทมาไกลมาก แต่เริ่มหมด passion ในการลุยต่อก็มีซึ่งอาจเป็นด้วยอายุ หรือรู้สึกหมดความท้าทายไปแล้ว อันนี้ต้องระวังเพราะจะทำให้บริษัทเข้าสู่ Maturing Stage คือโตเรื่อย ๆ ในอัตราช้า ๆ

นอกจากนี้คือการทำ ความเข้าใจโครงสร้างของการประกอบธุรกิจแต่ละประเภท ว่ามีอัตรากำไรอย่างไร ต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเยอะหรือไม่ ยิ่งใช้ทุนเยอะย่อมหมายถึง ROE ที่น้อยลง วิเคราะห์ธรรมชาติของธุรกิจว่ามีความเสี่ยงต่อการขาดทุนอย่างไร โดยเมื่อเราเข้าใจโครงสร้างของธุรกิจแล้วชอบ ค้นพบว่ามีทีมงานบริหารที่เก่ง และมีไฟที่จะนำพาองค์กรไปข้างหน้า สุดท้่ายก็เข้าไปดูปัจจัยเชิงปริมาณต่อ ซึ่งผมชอบบริษัทที่มีหนี้สินต่อทุนไม่มากนัก เผื่อว่าจะกู้มาขยายธุรกิจได้ในอนาคตโดยไม่ต้องเพิ่มทุน ถ้าได้เป็นบริษัท Net Cash Company ได้ยิ่งดี และต้องเป็นบริษัทที่เราวิเคราะห์แล้วเชื่อว่าจะมีการเติบโตของกำไรที่ดี อย่างต่อเนื่องใน 2-3 ปีข้างหน้า รวมถึงการเข้าใจ “จุดเป็น/จุดตาย” ของบริษัทว่าปัจจัยอะไรที่จะมีผลบวกและลบอย่างมีนัยสำคัญในอนาคต การมีเจ้าภาพหรือผู้ถือหุ้นใหญ่บางครั้งก็สำคัญเช่นกัน เพราะในบางกรณีมีแต่ผู้ถือหุ้นรายย่อย ๆ การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นก็จะไม่เห็นมากนัก

เมื่อ เจอบริษัทที่ใช่จากการใช้ทั้ง Mosaic Theory ประกอบกับการวิเคราะห์เชิงปริมาณและคุณภาพแล้ว สุดท้ายก็มาดู Valuation ครับ ถ้า Discount ได้ยิ่งมากก็ยิ่งดีครับ เพราะนั่นหมายถึง ​Upside Potential ในการลงทุนของคุณ ถ้าหากถามว่ายังมีอยู่อีกเหรอ บริษัทดี ๆ ที่ยังมีส่วนลดจากตลาด ผมเชื่อว่าแม้จำนวนจะลดลงเรื่อย ๆ แต่ก็ยังมีอีกมากครับ

“ยิ่งทำการบ้านเยอะ ก็ยิ่งรู้มากกว่า และยิ่งได้เปรียบแน่นอนครับ…”

เจษฎา สุขทิศ, CFA

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top