InvestmentTalk – ลงทุนอย่างมีสไตล์ (2)

แชร์บทความนี้

ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM

ในครั้งก่อนได้แนะนำแนวทางการลงทุนแบบเชิงรุกและเชิงรับในภาพกว้างให้นักลงทุนได้รู้จักแล้ว ในครั้งนี้จะขอนำเสนอการลงทุนเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ แต่พอสังเขป เพื่อขยายขอบเขตความเข้าในในการลงทุนเชิงรุกให้มากขึ้น

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing)

การลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้มีพื้นฐานมาจากแนวคิดการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของเบนจามิน แกรแฮม และเดวิด ดอจจ์ แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานซึ่งอ้างอิงจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น อัตราส่วนกำไรต่อสินทรัพย์สุทธิ (P/E) อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี (P/B) อัตราเงินปันผลตอบแทนที่ (Dividend yield) เป็นต้น โดยเชื่อว่าในระยะยาวราคาหุ้นจะปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐาน (Fundamental Value) การลงทุนในหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานจึงมีโอกาสกำไรมากกว่าขาดทุน แนวคิดของการลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้ได้สร้างชื่อเสียงให้กับนักลงทุนระดับโลก อาทิ วอร์เรน บัพเฟต จอห์น เทมเพิลตัน จอห์น เนฟฟ์ เป็นต้น และการลงทุนแบบเน้นคุณค่านี้ยังได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยเชิงวิชาการมากมาย

การลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท เพื่อค้นหามูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวมากกว่าการวิเคราะห์ทิศทางของตลาดหุ้น นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะแสวงหาหุ้นที่มีราคาต่ำจนน่าสนใจ ซึ่งอาจถูกระบุด้วยอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น หุ้นที่มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่ำกว่าตลาด หรืออัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่ำกว่าตลาด เป็นต้น หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นที่ไม่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนทั่วไป เช่น หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่อิ่มตัว หุ้นที่มีผลการดำเนินขึ้นอยู่กับวัฎจักรทางเศรษฐกิจ หรือหุ้นที่กำลังประสบปัญหา ฯลฯ แล้วรอจนตลาดเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อหุ้นเหล่านั้น ผลักดันให้ราคาหุ้นปรับตัวเข้าสู่มูลค่าพื้นฐานดังกล่าวจึงขายทำกำไร

นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะศึกษาบริษัทจดทะเบียนต่างๆโดยละเอียด และประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของหุ้นแต่ละตัวด้วยวิธีต่างๆ เช่น วิธีคิดลดกระแสสด (Discount cash flow) วิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิกับตลาด เป็นต้น จากนั้นรอจนกระทั่งระดับราคาของหุ้นเหล่านี้ปรับตัวลดลงสู่ระดับราคาที่เหมาะสมจึงเข้าลงทุนเพื่อให้ได้ผลอตอบแทนที่ต้องการ นักลงทุนแบบเน้นคุณค่าจะขายหุ้นออกไปเมื่อราคาปรับตัวสูงเกินกว่ามูลค่าที่เหมาะสม หรือเมื่อปัจจัยพื้นฐานของบริษัทมีการเปลี่ยนแปลงจนทำให้มูลค่าที่เหมาะสมของบริษัทปรับตัวลดลงจนอยู่ในระดับไม่น่าดึงดูดใจ เพื่อเตรียมเงินเอาไว้สำหรับการลงทุนในครั้งต่อไป

การลงทุนแบบเน้นการเติบโต (Growth Investing)

การลงทุนแบบเน้นการเติบโตเป็นการลงทุนที่ให้ความสำคัญกับหุ้นที่มีเรื่องราวของการขยายกิจการ การควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ หรือการเข้าประมูลโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งบริษัทในกลุ่มดังกล่าวจะมีอัตราการเติบโตของยอดขาย หรือกำไรสุทธิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แม้ว่าหุ้นดังกล่าวอาจมีราคาแพงเมื่อพิจารณาในแง่ของอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ หรืออัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชีก็ตาม

นักลงทุนที่เน้นการเติบโตจะมุ่งแสวงหาหุ้นที่มีประวัติการเติบโตของกำไรสุทธิที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังมีโอกาสรักษาอัตราการเติบโตให้อยู่ในระดับสูงได้ต่อไปในอนาคต หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่มักอยู่ในอุตสาหกรรมที่เกิดใหม่ อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต หรืออุตสาหกรรมที่เพิ่งฟื้นตัวจากปัญหา (Turn around) เมื่อบริษัทประกาศผลประกอบการที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด จะส่งผลให้อัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ดีขึ้น เช่น อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิของหุ้นลดลง (เนื่องจากกำไรสุทธิมากขึ้น ทำให้อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิลดลง) และจะดึงดูดนักลงทุนรายใหม่เข้ามาให้ความสนใจกับหุ้นเหล่านี้มากขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นโตเร็วเหล่านี้สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นไปได้อีก ถ้าบริษัทดังกล่าวสามารถรักษาการเติบโตของกำไรสุทธิให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนาน กำไรและราคาหุ้นก็จะยิ่งเพิ่มพูนเป็นเท่าทวี อย่างไรก็ดีหากบริษัทไม่สามารถสร้างการเติบโตของผลกำไรได้ตามที่ตลาดคาดการณ์หรือประสบกับข่าวร้ายที่มีนัยสำคัญ จนทำให้นักลงทุนหมดศรัทธาในความสามารถการเติบโตของบริษัท ราคาของหุ้นโตเร็วเหล่านี้ก็อาจปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว และสร้างผลขาดทุนมหาศาลให้กับนักลงทุนได้

ด้วยเหตุนี้การลงทุนแบบเน้นการเติบโตนี้จึงควรพิจารณาความเหมาะสมของราคาควบคู่ไปด้วย เพื่อให้แน่ใจว่านักลงทุนกำลังยอมจ่าย “แพง” เพื่อให้ได้รับอัตราการเติบโตที่สมเหตุสมผล โดยนักลงทุนอาจใช้อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อการเติบโต (PEG – Price to earning to growth) ซึ่งหาได้จากการนำเอาอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิไปหารด้วยอัตราการเติบโตของบริษัท แล้วนำอัตราส่วนดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับตลาดหรือค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน

ในครั้งต่อไปจะพาทุกท่านไปรู้จักกับรูปแบบการลงทุนแบบตามกระแส (Momentum) และ การลงทุนแบบสวนกระแส (Reversal) รวมถึงคำแนะนำต่างๆที่อาจเป็นประโยชน์กับนักลงทุน

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
ชาตรี โรจนอาภา, CFA, FRM ผู้ก่อตั้งเพจ Indy Investor Forum จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท จากคณะพาณิชย์ศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คุณชาตรีเริ่มต้นการทำงานในสายการเงินในตำแหน่ง Management Trainee บมจ.ธนาคารกรุงไทย เมื่อปี 2546 ก่อนจะเริ่มต้นการทำงานในด้านการบริหารกองทุนในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ฝ่ายกองทุนผสม บลจ. กสิกรไทย ในปี 2548 ก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการกองทุน ฝ่ายตราสารทุน บลจ.เอ็มเอฟซี เมื่อปี 2551 และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ. ไทยพาณิชย์ คุณชาตรีมีประสบการณ์บริหารจัดการกองทุนตราสารทุน ทั้งในรูปแบบกองทุนรวม กองทุนส่วนบุคคลและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีความสนใจการลงทุนในตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ และตราสารอนุพันธ์ต่างๆ นอกจากนี้คุณชาตรียังมีประสบการณ์เป็นอาจารย์พิเศษให้กับ ม.วลัยลักษณ์ ม.หอการค้าไทย และ ABAC อีกด้วย
Posts created 15

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top