โอกาสลงทุนจากการปรับฐาน หรืออวสานของงานเลี้ยง

แชร์บทความนี้

23 สิงหาคม 2558

หุ้นอเมริกาปรับลง 6% ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวันศุกร์ดาวโจนส์ลงวันเดียวกว่า 500 จุด แรงที่สุดในรอบ 5 ปี ตลาดหุ้น Emerging Market ลงแรงนำมาโดยหุ้นจีนซึ่งดิ่งถึง 12% ในสัปดาห์เดียว และลงมาแล้วถึง 32% นับแต่เดือนมิ.ย. 58 ค่าเงินเอเชียและตลาดเกิดใหม่อ่อนค่าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อหลังจากทางการจีนอ่อนค่าเงินตัวเองไป 4 – 5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา จากตารางจะพบว่านับแต่ต้นปีดัชนีหุ้นเอเชีย และตลาดเกิดใหม่ติดลบไปแล้วเกือบ 15% ขณะที่ผลตอบแทนดัชนีหุ้นอเมริกาลงมายืนในแดนลบประมาณ 1%

 

 

 

 

 

 

 

 

ขณะที่ราคาโภคภัณฑ์ปีนี้ถือว่าลงแรงมากโดยเฉพาะ น้ำมัน เหล็ก ทองแดง ร่วงแรงไปเกือบ 20% ทุกตัว มีทองคำที่ฟื้นตัวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องจากตลาดเริ่มกลัวความเสี่ยงทำให้นับแต่ต้นปีติดลบไปเพียง 2.8%


 

 

 

 

 

 

 

 

ปัจจัยสำคัญต่อตลาดหุ้นโลกในเวลาต่อจากนี้

เศรษฐกิจจีน

โดยล่าสุดตัวเลข Flash PMI ของจีนปรับตัวลงต่ำที่สุดในรอบ 6 ปี สะท้อนภาคการผลิตที่อ่อนแอ เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาโภคภัณฑ์โลก โดยเฉพาะ น้ำมัน เหล็ก และสินค้าเกษตรที่ทำจุดต่ำสุดอย่างต่อเนื่องในรอบเดือนที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจจีนนี้หากไม่มีสัญญาณดีขึ้นน่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ตลาดให้ความสนใจในช่วงเวลาต่อจากนี้ ความอ่อนแอของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับแนวทางใหม่ในการดูแลค่าเงินหยวนของทางการน่าจะส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าได้อีกจากนี้ และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกดดันตลาดโลก

ความปั่นป่วนของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน

ถ้าราคาน้ำมันไม่ฟื้น ความปั่นป่วนของเศรษฐกิจของประเทศรัสเซีย กลุ่มตะวันออกกลาง มาเลเซีย รวมไปถึงบริษัทผู้ผลิตน้ำมัน จะเป็นปัจจัยกดดันตลาดอย่างต่อเนื่อง ถ้าจำกันได้ในช่วงปลายปีที่แล้วช่วงที่ราคาน้ำมันลงมามาก ๆ ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียได้ปรับตัวอ่อนค่าไปเกือบเท่าตัว ณ ตอนนี้มันกลับมาอีกแล้วครับและต้องไม่ลืมว่าราคาน้ำมันวันนี้ต่ำกว่าเมื่อช่วงปลายปีที่แล้วอีกด้วย ไม่น่าแปลกใจนะครับว่าช่วงนี้นักท่องเที่ยวรัสเซียหายกันไปไหน ค่าเงินที่อ่อนมากขนาดนี้ทำให้ต้นทุนการท่องเที่ยวของชาวรัสเซียแพงขึ้นร่วมเท่าตัว


ความซึมเซาของภาคการผลิตโลก

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน ปิโตรเคมี และเหมืองแร่ คิดเป็นถึงประมาณ 1 ใน 3 ของการลงทุนในสินค้าทุน (Capex) ของโลก ล่าสุด S&P ได้ทำการประเมินว่าการลงทุนในสินค้าทุนของโลกจะปรับลดลงถึง 10% ในปีนี้ และจะลงต่อเนื่องในปีหน้า
ตัวอย่างเช่นบริษัท BP, Chevron, Statoil, Royal Dutch Shell ผู้ผลิตปิโตรเลียมรายใหญ่ของโลก ล้วนแล้วแต่ตัดสินใจลดการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้ ผลกระทบสืบเนื่องก็คือบริษัทรับเหมาก่อสร้างย่อมได้รับผลกระทบไปด้วยเนื่องจากโปรเจกต์การก่อสร้างที่น้อยลง อย่างไรก็ตามราคาโภคภัณฑ์ที่ลดลงก็ทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมอย่างรถยนต์ หรือ IT ลดลงเช่นกัน
แต่สุทธิ ๆ แล้วในช่วงนี้ผลลบกระทบแรงกว่าผลบวกครับ

เม็ดเงินไหลออกจากเอเชีย และตลาดเกิดใหม่

ในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากเอเชียไปแล้วประมาณ 6 พันล้านเหรียญ โดยนับแต่ต้นปีภูมิภาค Asean มีเงินไหลออกมากถึงกว่า 5 พันล้านเหรียญ

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยประเด็นที่น่าเป็นห่วงที่สุดสำหรับตลาดหุ้นในเอเชียคือการปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทในเอเชียที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งของปีนี้และปีหน้า ถ้ากำไรลดนั่นก็เท่ากับว่า P/E ของตลาดแพงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ราคาจะอยู่เฉย ๆ

อย่างประเทศไทยล่าสุด Goldman Sachs ปรับลดเป้าหมาย SET เหลือ 1350 ไปแล้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

แล้วข่าวดีมีบ้างไหม ?

เป็นประจำเลยครับที่ตลาดลงมักจะมากับข่าวร้าย สิ่งสำคัญคือเราต้องพยายามหาให้เจอว่าข่าวดีอะไรที่จะวนกลับเข้ามาทำให้ตลาดฟื้นตัว ประเด็นแรกเลยคือเรื่อง Valuation ซึ่ง ณ เวลานี้เริ่มถูกลงมาบ้าง แต่ขอย้ำนะครับว่าแค่ถูกลงมาบ้าง ยังไม่ได้เข้าสู่ช่วง Cheap Zone แต่อย่างใด ดูจากแผนภูมิด้านล่างจะเห็นว่าหลาย ๆ ประเทศอย่าง ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงค์โปร์ ไต้หวัน ระดับ P/E เริ่มต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมาแล้ว ขณะที่ อินเดีย ออสเตรเลีย ไทย เกาหลี ยังเทรดในระดับที่แพงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่เลย ณ จุดนี้


 

 

 

 

 

 

 

ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการที่ราคาน้ำมันถูก

ในหลาย ๆ รอบของการปรับลดลงรุนแรงของราคาน้ำมันโลกที่ผ่านมา ในช่วงแรกมักจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกก่อน และมักจะตามมาด้วยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ได้รับประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงในระยะเวลาถัดไป ผลสุทธิแล้วในระยะยาวทุก ๆ 10% ที่ราคาน้ำมันปรับลดลงจะทำให้เศรษฐกิจโลกโตขึ้นประมาณ 0.2%
รูปข้างล่างแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนครับว่า ซาอุดิอาระเบีย, อิหร่าน, รัสเซีย, เวเนซูเอล่า เป็นประเทศที่เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นอย่างมาก ขณะที่ ญี่ปุ่น อินเดีย ยุโรป และจีนล้วนแล้วแต่ได้รับประโยชน์จากการที่ราคาน้ำมันถูกลง อย่างไรก็ตาม ผลบวกในประเด็นนี้มักจะใช้เวลานานพอสมควรจึงจะเห็นผล

 

กลับมาดูภายในประเทศกันบ้าง ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/58 เมื่อเปิดดูไส้ในที่ว่าโตได้ 2.8% เห็นได้ชัดว่าความต้องการในประเทศไม่เติบโตเลยในช่วงนี้ อาศัยแต่การใช้จ่ายภาครัฐเป็นตัวพยุงให้เกิดการเติบโตได้ ยิ่งถ้าเศรษฐกิจโลกมีปัญหา เครื่องยนต์ภาคส่งออกก็อาจติดขัดด้วยเช่นกัน สุดท้ายคือผลของระเบิดยิ่งกระทบต่อภาคท่องเที่ยวที่ดูเหมือนเป็นเครื่องยนต์ตัวสุดท้ายซึ่งต้องทำให้เกิดผลกระทบ ไม่มากก็น้อย อย่างแน่นอน

กลยุทธ์การลงทุน : ลดความเสี่ยง รักษาเงินลงทุน

แม้ตลาดจะปรับตัวลดลงมาค่อนข้างมาก แต่สำคัญคือยังไม่มีปัจจัยบวกที่จะกลับมาทำให้ตลาดฟื้นตัว ด้านในประเทศ กำไรของบริษัทจดทะเบียนยังมีแนวโน้มถูก revise down อีกต่อเนื่อง เช่นเดียวกับค่าเงินบาทที่ยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่า
ขณะที่ SET Index หลุด Uptrend Channel ไปแล้ว (ตามรูป) ผมจึงมองว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะเข้าไปรับ “หุ้นไทย” ในตอนนี้


ในส่วนของพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศ ผมแนะนำให้ลดความเสี่ยงรักษาเงินลงทุนเช่นกันครับ แม้ตลาดจะปรับฐานมาพอสมควรแล้ว แต่ผมมองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจขนาดอันดับสองของโลกอย่างจีนยังไม่จบ ราคาน้ำมันที่ทำจุดต่ำสุดในรอบ 6 ปียังไม่น่าจะปรับเพิ่มขึ้นมาง่าย ๆ และเราไม่สามารถรู้ได้ว่ามันจะลงไปถึงขนาดไหน

ในส่วนของหุ้นญี่ปุ่นผมแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากในภาวะปั่นป่วนมักจะมาคู่กับการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งมักส่งผลกระทบเชิงลบกับดัชนีหุ้นญี่ปุ่น เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นยุโรป ผมแนะนำให้ลดการลงทุนในหุ้นประเทศเยอรมันลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากประเด็นการอ่อนค่าของเศรษฐกิจจีนชัดเจน นอกจากนี้ การลงทุนใน Oil related อย่าง US High Yield Bond หรือ World Energy Securites แนะนำให้ลดพอร์ตเนื่องจากราคาน้ำมันหลุดแนวรับสำคัญทำ New low ไปเป็นที่เรียบร้อย


ขณะที่ทองคำน่าจะทำผลตอบแทนได้ดีในระยะสั้น ๆ จากความปั่นป่วนของตลาดหุ้นโลกในรอบนี้ ซึ่งผมมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ทองคำจะปรับตัวขึ้นใน Trend Channel ขาลงระยะยาว โดยมีแนวต้านที่ประมาณ 1300 เหรียญ หรือมี upside ประมาณ 10 – 12% จากจุดนี้


โดยสรุปผมมองว่าเรายังอยู่ในช่วงเวลาของการปรับฐาน ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในช่วงนี้กระทบต่อพื้นฐานโดยตรงคือการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน แต่เรายังไม่ไปถึงจุดนั้นที่งานเลี้ยงเลิกรา ผมมองว่าเศรษฐกิจโลกไม่ได้ถึงขนาดจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนั้นเมื่อราคาสินทรัพย์เสี่ยงปรับลดลงมาจนถึงจุดที่น่าสนใจ หรือปัจจัยพื้นฐานมีพัฒนาการที่ดีขึ้นน่าจะเป็นโอกาสในการเข้าลงทุน ซึ่งถ้าผมมองเห็นเมื่อไรจะทำการ Update ให้อีกครั้ง ในช่วงเวลาแบบนี้การ “จัดพอร์ต” เพื่อรักษาเงินลงทุนจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่งคั่งของพอร์ตในระยะยาว การ “ขาดทุนให้น้อยในช่วงขาลง” มีความสำคัญมากกว่า “การกำไรให้เยอะในช่วงขาขึ้น” ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการ “รักษา” เงินลงทุนของท่านในช่วงเวลาแห่งความผันผวนครั้งนี้ครับ

 

เจษฎา สุขทิศ, CFA

INFINITI Global Investors
The Ultimate Investment Solution

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top