โอกาสรับกระแสเงินสดในยุคดิจิทัล

แชร์บทความนี้

โอกาสลงทุนรับกระแสเงินสดในยุคดิจิทัล

ในยุคที่การลงทุนหุ้นมีความผันผวน ลงทุนในตราสารหนี้ก็อาจมีผลตอบแทนไม่มาก ยังมีกองทุนอีกประเภทที่อยู่กึ่งกลางระหว่างหุ้นและตราสารหนี้ เรียกได้ว่า ความเสี่ยงน้อยกว่าหุ้น แต่ได้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากกว่าตราสารหนี้ กองทุนที่มีลักษณะดังกล่าวได้แก่ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งกองทุนที่จะมารีวิวในวันนี้อยู่ในหมวดกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานครับ

มารู้จักกองทุน DIF

กองทุน DIF ย่อมาจาก  DIGITAL TELECOMMUNICATIONS INFRASTRUCTURE FUND หรือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และเริ่มทำการซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุน DIF ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 นับเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมกองแรกและใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดภาระการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของภาครัฐและเอกชน เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าค่อนข้างสูงและยังช่วยลดปัญหาการลงทุนซ้ำซ้อนของภาคเอกชน เนื่องจากสามารถนำทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของกองทุนให้ผู้ประกอบการรายต่าง ๆ เช่าได้ และยังเป็นช่องทางการลงทุนใหม่แก่นักลงทุนด้วย โดยกองทุน DIF มีทรัพย์สินหลักๆ คือ เสาโทรคมนาคม สายใยแก้วนำแสงและระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้สามารถรองรับการใช้งานด้านโทรคมนาคม อาทิเช่น การติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารเพื่อรับและส่งสัญญาณ เป็นสื่อสัญญาณและทำการเชื่อมต่อการสื่อสารที่รองรับการรับส่งข้อมูล เป็นต้น

ทำไมลงทุนใน DIF จึงเสี่ยงน้อยกว่าลงทุนในหุ้น และมีโอกาสรับผลตอบแทนสม่ำเสมอ

การวิเคราะห์ความเสี่ยงของทรัพย์สินที่ลงทุน ย่อมต้องวิเคราะห์โครงสร้างและที่มาของผลประกอบการเป็นหลัก กล่าวคือ ผลประกอบการของหุ้นโดยทั่วไปนั้น รายได้มักอิงกับปัจจัยภายนอก เช่น สภาพเศรษฐกิจ ค่าเงิน และการแข่งขันในอุตสาหกรรมค่อนข้างมาก

ในขณะที่โครงสร้างรายได้ของ DIF นั้น มาจากการ “ให้เช่า” ทรัพย์สินในกองทุน เช่น เสาโทรคมนาคม และสายใยแก้วนำแสง ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการโทรคมนาคมในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต

ผู้เช่าหลักของกองทุน DIF ปัจจุบัน คือ กลุ่มทรู ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ

ในปัจจุบัน ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้บริการประเภท Non-voice หรือการใช้งานดาต้า

และการสื่อสารออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งการดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมออนไลน์และอื่น ๆ จนสามารถกล่าวได้ว่า สังคมไทยในปัจจุบันได้เข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง ดังนั้น ผู้บริโภคก็ย่อมพิจารณา “ความเร็ว” “ความเสถียร” และ “สัญญาณที่ครอบคลุมพื้นที่” ของผู้ให้บริการเป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมต้องลงทุนพัฒนาเครือข่าย ทั้งด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่และระบบบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคและชิงส่วนแบ่งตลาดมานั่นเอง ผู้ถือหน่วยลงทุนของกองทุนนี้จึงมั่นใจได้ว่า ในอนาคตผู้เช่าเหล่านี้ก็จะยังคงต้องเช่าเสาโทรคมนาคมและใยแก้วนำแสงอยู่ ดังนั้น จึงมั่นใจได้พอสมควรว่า รายได้จากกองทุน DIF ส่วนใหญ่จะมีความสม่ำเสมอตามสัญญาการเช่าทรัพย์สินที่กล่าวมาข้างต้น และรองรับโอกาสการให้เช่าทรัพย์สินโทรคมนาคมแก่ผู้ประกอบการรายอื่นที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นในอนาคต

เงินปันผลในอดีตเป็นอย่างไร

เมื่อไปดูนโยบายการจ่ายปันผลของกองทุนพบว่า จะจ่ายปันผลอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี (หากมีกำไรเพียงพอ) โดยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว และการจ่ายเงินปันผลที่ผ่านมาเป็นไปตามรูป ดังนี้

(บาทต่อหน่วย)

เมื่อดูจากตารางจะเห็นว่า ที่ผ่านมามีการจ่ายปันผลทุกไตรมาสค่อนข้างสม่ำเสมอ และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น ใครที่ถือกองทุนนี้ตั้งแต่จัดตั้งในปี 2556 นอกจากจะได้ผลตอบแทนในส่วนเงินปันผลอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังจะได้กำไรจาก capital gain ไม่น้อยทีเดียว

อีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วยนะ

เงินปันผลที่ได้จากการลงทุนในกองทุนนี้ ผู้ถือหน่วยลงทุนประเภทบุคคลธรรมดายังได้รับการยกเว้นภาษีถึง 10 ปีเต็ม ๆ นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ทำให้ได้รับยกเว้นภาษีถึงปี พ.ศ. 2566 ทำให้นักลงทุนได้รับปันผลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากการลงทุนในกองทุน หรือตราสารอื่น ๆ ทั้งหมด ที่ส่วนใหญ่จะต้องเสียภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินปันผลร้อยละ 10

กองทุน DIF จะเข้าลงทุนในทรัพย์สินของกลุ่มทรูเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 3 ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้

โดยเป็นการลงทุนในเสาโทรคมนาคมและสายใยแก้วนำแสง ดังนี้

  • เสาโทรคมนาคม โดยลงทุนเพิ่ม 2,589 เสา จากที่มีอยู่แล้ว 12,682 เสา รวมเป็น 15,271 เสา
  • สายใยแก้วนำแสง โดยลงทุนเพิ่มประมาณ 1.21 ล้าน core km. จากที่มีอยู่แล้ว 1.56 ล้าน core km. รวมเป็น 2.77 ล้าน core km.

นับว่าเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ของกองทุน ดังนั้น กองทุนจึงต้องใช้เงินลงทุนจาก 2 แหล่งคือ แหล่งเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งจะไม่เกิน 2,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่จะมาจากการเพิ่มทุน โดยทรัพย์สินที่เข้าลงทุนทำให้เกิดโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติม เพื่อนำมาปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนมากขึ้นในอนาคตนั่นเอง โดยตามข้อมูล Proforma จากหนังสือชี้ชวน เงินปันผลต่อหน่วย 12 เดือนหลังจากเข้าลงทุนจะไม่ต่ำกว่า 1.04 บาทต่อหน่วยทีเดียว

ศึกษาข้อมูลให้ดีและกระจายการลงทุน

การหวังพึ่งผลตอบแทนจากสินทรัพย์เพียงไม่กี่ชนิดนับว่าเป็นความเสี่ยงหนึ่งของการลงทุน ดังนั้น เราจึงควรกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุน การพิจารณาลงทุนกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปิดโอกาสรับกระแสเงินสดอย่างสม่ำเสมอนั้น ถือว่ามีความน่าสนใจอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ท่านใดที่มีความสนใจในการลงทุน ควรศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงจากการลงทุนก่อนการตัดสินในการลงทุนทุกครั้ง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล

http://www.digital-tif.com/

 

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top