อาชีพผู้จัดการกองทุน เป็นอาชีพหนึ่งที่หลายๆคนใผ่ฝัน เป็นอาชีพที่มีความกดดันสูง เพราะต้องบริหารจัดการเงินของผู้อื่น วันนี้ผมมีคำแนะนำดีๆจากหนังสือ ลงทุนสวนกระแสอย่าง…แอนโทนี โบลตัน (INVESTING AGAINST THE TIDE) เขียนโดย แอนโทนี โบลตัน ผู้จัดการกองทุน Fidelity Special Situations Fund ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่เขาได้บริหารมีผลตอบแทน 20% ต่อปี โดยหนังสือเล่มนี้นอกจากจะให้คำแนะนำเทคนิคการลงทุนแล้วยังได้ให้คำแนะนำว่าผู้จัดการกองทุนที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร โดยมีทั้งหมด 12 ข้อ ผมเห็นว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในอาชีพผู้จัดการกองทุนหรือนักลงทุนจึงนำมาถ่ายทอดต่อ เพื่อที่ผู้สนใจอาชีพนี้จะได้พัฒนาตัวเองเพื่อที่จะได้เป็นผู้จัดการกองทุนที่เก่งตามอย่างของ แอนโทนี โบลตัน
1. การมีสายตาทะลุทะลวง
ผู้จัดการกองทุนต้องมีการวิเคราะห์ที่มากกว่านักลงทุนท่านอื่นสองถึงสามก้าว เช่น หากมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบทางด้านลบหรือบวกกับหุ้นบางตัว นอกจากจะต้องทราบว่าผลกระทบนั้นมากน้อยเท่าใดจะต้องคิดต่อว่าผลกระทบนั้นมีจุดเชื่อมโยงกับหุ้นตัวอื่นด้วยหรือไม่และมากน้อยเท่าใดด้วย อีกทั้งถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเศรษฐกิจหรือพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป เราต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าบริษัทใดจะได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์ ซึ่งนักลงทุนท่านอื่นยังไม่ได้คิดถึง นอกจากนี้ผู้จัดการกองทุนต้องสามารถหาหุ้นที่มีแนวโน้มสดใสในอนาคตที่ทุกคนมองข้าม และต้องมีราคาไม่แพงด้วย
2. การมีภาวะอารมณ์อันเหมาะสม
นอกจากการมี IQ ที่ดีแล้วสิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือ การมีภาวะทางอารมณ์ที่เหมาะสม เพราะผู้จัดการกองทุนจะพบกับความกดดันอย่างสูงทั้งหุ้นขาขึ้นและขาลง เพราะไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไรผู้จัดการกองทุนต้องมีผลตอบแทนที่ดีกว่าเกณฑ์วัดมาตราฐาน (Benchmark) ซึ่งผู้จักการกองทุนต้องมีการปรับสมดุลของอารมณ์ไม่ให้หดหู่จนเกินไปในภาวะหุ้นขาลง และไม่หลงระเริงจนเกินไปในภาวะหุ้นขาขึ้น และเป็นคนที่ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นและพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งนั้น
3. การมีระบบระเบียบ
ผู้จัดการกองทุนจะได้รับข้อมูลข่าวสารในแต่ละวันอย่างมากและไม่มีรูปแบบ เพราะฉะนั้นผู้จัดการกองทุนต้องมีระบบในการย่อยข้อมูลที่ดี มีการวางแผนทำงานในแต่ละวัน เพราะหากไม่เช่นนั้นเหตุการณ์ต่างๆจะเข้ามาเป็นตัวกำหนดการทำงานของคุณ
4. การหลงใหลการวิเคราะห์
ต้องเป็นคนช่างสงสัย อยากรู้อยากเห็น ในเรื่องของการลงทุน การวิเคราะห์ที่ดีไม่ได้หวังผลเพียงแค่ผลลัพธ์ที่ถูกต้องเท่านั้น แต่กระบวนการทางความคิดและวิธีคิดก็มีความสำคัญไม่แพ้เช่นกัน นอกจากนี้ต้องรู้จักการตั้งคำถามที่ดีที่สามารถจะวิเคราะห์ได้อย่างถูกต้องและเห็นทิศทางของบริษัทอย่างชัดเจน
5. การรู้กว้างแต่รู้ละเอียด
ผู้จัดการกองทุนต้องรู้ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและอุตสาหกรรมหลากหลาย จะต้องรู้กว้างและลึกพอสมควร เพราะผู้จัดการกองทุนปกติจะมีหุ้นที่มีธุรกิจที่แตกต่างกันในพอร์ตฟอริโอ แต่อาจไม่จำป็นที่ต้องรู้ลึกเหมือนกับนักวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญในหุ้นกลุ่มนั้นๆ เพราะว่าผู้จัดการกองทุนสามารถที่จะพูดคุยกับคนเหล่านั้นได้ตลอดเวลา เพราะส่วนใหญ่แล้วโบรกเกอร์จะมีผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิเคราะห์ในหุ้นตัวนั้นได้ให้ข้อมูลกับผู้จัดการกองทุนอยู่แล้ว
6. ความต้องการชัยชนะ
งานบริหารกองทุนมีการแข่งขันสูงมาก ผลตอบแทนที่ผู้จัดการกองทุนทำได้นอกจากจะถูกเปรียบเทียบกับเกณฑ์วัดมาตราฐาน (Benchmark) แล้วยังต้องเปรียบเทียบกับผู้จัดการกองทุนท่านอื่นที่มีนโยบายการบริหารกองทุนที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งในสภาพการแข่งขันที่สูงแบบนี้ ผู้จัดการกองทุนต้องมีความปรารณนาในการที่จะชนะเกณฑ์วัดมาตราฐานและผู้จัดการกองทุนท่านอื่น
7. การมีความเชื่อมั่นอันยืดหยุ่น
ผู้บริหารกองทุนต้องหลีกเลี่ยงการมีความเชื่อมั่นตัวเองจนเกินไปและการดื้นด้านแบบโง่ๆ ความเชื่อมันต้องมีความยืดหยุ่นพร้อมที่จะเปลี่ยนความคิดหากมีข้อมูลใหม่ของบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ หากสิ่งที่คุณคิดมันผิดคุณต้องยอมรับความผิดพลาดและก้าวเดินต่อไป
8. การยินดีที่จะสวนกระแสฝูงชน
ผู้จัดการกองทุนควรเป็นตัวของตัวเอง มีความคิดเป็นอิสระ ไม่ถูกความคิดของตลาดเข้ามามีอิทธิพลมากเกินไป มีความกล้าที่จะสวนกระแสฝูงชนเพราะมนุษย์ส่วนใหญ่จะรู้สึกสบายใจเมื่ออยู่ในฝูงชน ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ผิด
9. การรู้จักตัวเอง
ผู้จัดการกองทุนต้องรู้จักตัวเอง รู้จุดแข็ง จุดอ่อน ต้องรู้สไตร์หรือวิธีการบริหารกองทุนให้เหมาะสมกับภาวะอารมณ์ของตัวเอง การตัดสินใจขั้นสุดท้ายเป็นการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนคนนั้น เพราะฉะนั้นการมีหัวใจประชาธิปไตยไม่ใช่คุณสมบัติของผู้จัดการกองทุนที่ดี
10. ประสบการณ์
การเข้าใจถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นมีความจำเป็น ถึงแม้ว่ามันไม่สามารถที่จะพยากรณ์ในอนาคตว่าเหตุการณ์จะเหมือนเดิมหรือไม่ แต่มันจะมีบางสิ่งบางอย่างที่คล้ายกัน หากผู้จัดการกองทุนคนใดยังไม่เคยมีประสบการณ์กับภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นครบรอบวัฐจักรที่เคยเกิดขึ้นควรศึกษาให้เข้าใจว่าในอดีตเคยเกิดอะไรขึ้น เพราะความสามารถในการนำเหตุการณ์ในปัจจุบันไปเทียบเคียงกับอดีตเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างมาก
11. การมีคุณธรรมและความซื่อสัตย์
การมีคุณธรรมและความซื่อสัตยเป็นสิ่งจำเป็น ผู้จัดการกองทุนต้องซื่อสัตย์กับบริษัท เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือแม้กระทั่งตัวเอง
12. การมีสามัญสำนึก
ผู้จัดการกองทุนต้องมีสามัญสำนึกที่ดี เช่น หากบริษัทมีการนำเสนอสิ่งใหม่ๆ หรือสิ่งที่แปลกไปจากภาวะปกติ ผู้จัดการกองทุนควรตั้งคำถามกับตัวเองว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่ หากคิดว่ามันเป็นสิ่งยากที่จะเข้าใจก็ควรหลีกเลี่ยง
จากข้อเสนอแนะนำทั้ง 12 ข้อที่ได้กล่าวมาข้างต้น ผมคิดว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่สนใจในอาชีพผู้จัดการกองทุน หรือผู้ที่สนใจด้านการลงทุน น่าจะได้เรียนรู้และนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับตัวเอง การเรียนรู้นั้นนักลงทุนต้องปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะสะสมประสบการณ์ในการวิเคราะห์ที่มีเหตุผลและสามารถแยกแยะสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง อย่าคิดว่าข้อเสนอแนะนี้อยากเกินความสามารถ ถ้าเราคิดว่าเราทำได้ และลงมือทำอย่างสม่ำเสมอ ความสำเร็จคงไม่ไกลเกินเอื้อม