FundTalk – กฏ 7 ทอง เพื่อการเลือกลงทุนในกองทุนรวม

แชร์บทความนี้

กฏ 7 ทอง การเลือกกองทุนรวมเพื่อการลงทุน

(1) ตั้งเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว – หลังจากที่เรามีเป้าหมายการลงทุนที่แน่นอน และรู้แล้วว่าตัวเองรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน และเราก็ได้เลือกผสมระหว่างกองทุนที่มี Active Management Style และ Passive Management Style คราวนี้เราก็ควรนั่งพักผ่อนได้แล้วล่ะครับ ปล่อยให้ผู้จัดการกองทุนทำงานส่วนที่ยากๆต่อไป เพื่อหาผลตอบแทนให้แก่เรา และประเด็นสำคัญก็คือ เราควรจะลงทุนในกองทุนรวมโดยมีเป้าหมายเพื่อหวังผลในระยะยาว เหมือนกับประโยคที่ว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว จะลงทุนในกองทุนรวม ผลตอบแทนมันก็คงไม่ได้วิ่งมาแค่ภายในวันสองวันเช่นกัน

(2) มองหาผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ – เราควรดูผลตอบแทนของกองทุนย้อนหลัง อย่างน้อยก็ 3 ปี 1 ปี และเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนๆกัน และมีเป้าหมายการลงทุนที่เหมือนกัน และที่สำคัญต้องเป็นกองทุนประภาทเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบกองทุนหุ้นกับกองทุนหุ้น เปรียบเทียบกองทุนผสมกับกองทุนผสม ไม่ใช่เปรียบเทียบส้ม กับ องุ่น แล้วบอกว่า องุ่นลูกเล็กกว่า แบบนี้ ก็ไม่ต้องมาคุยกันเลย ถูกไหมครับ เพราะผลไม้ 2 ชนิด ต่างก็เกิดมาจากต้นไม้คนละต้น กองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแตกต่างกัน จะให้มันเหมือนกันได้อย่างไร
*ข้อควรระวัง ผลตอบแทนในอดีตไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันผลตอบแทนในอนาคตเสมอไปนะ

(3) อย่าถือกองทุนหลายกองมากเกินไป – Morningstar Mutual Funds ในสหรัฐฯ ได้มีการศึกษาและพบว่า การถือหน่วยลงทุนของกองทุนมากกว่า 4 กองขึ้นไป ไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุนแต่อย่างใด อาจจะยิ่งทำให้เราไม่มีเวลาติดตามผลงาน และเพิ่มความเสี่ยงขึ้นไปด้วยซ้ำ ถึงแม้ในกรณีกองทุนรวมบ้านเราจะไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้ แต่ก็มีแนวโน้มไม่น่าแตกต่างไปจากสหรัฐฯเท่าไหร่นะครับ ทั้งนี้ การซื้อกองทุนดีๆซัก 2-3 กอง หรือซื้อกองทุน Index Fund ผสมกับกองทุนตราสารหนี้ เอาไว้พักเงินหลบในช่วงตลาดผันผวนบ้าง จัดพอร์ตแบบนี้ น่าจะช่วยกระจายความเสี่ยงได้มากกว่านะ

(4) ตรวจสอบอายุของตราสาร (Duration) ด้วยความระมัดระวัง – หลายปีที่ผ่านมากองทุนตราสารหนี้ระยะยาวมีประวัติทำผลตอบแทนได้สูง แต่นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่แน่นอนเสมอไปนะครับ โดยเฉพาะเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลงมาต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ ณ ตอนนี้ ความเป็นจริงก็คือ ตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือยาวๆ จะมีความผันผวน (ก็คือความเสี่ยงนั้นเอง) ทางด้านราคาสูงมาก ยกตัวอย่างเช่น หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้นแค่ 1% กองทุนประเภทตราสารหนี้ระยะยาว อาจโดนผลกระทบอย่างหนัก ทำให้ผลตอบแทนลดลงเหลือ 10% ก็มีให้เห็นมาแล้วในหลายช่วงของวัฏจักรเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลงซัก 1% กองทุนประเภทตราสารหนี้ระยะยาว อาจเหมือนถูกหวย ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น 10% ก็เป็นไปได้ครับ ถ้าใครรับความเสี่ยงของตราสารหนี้ระยะยาวไม่ไหว แนะนำให้ลงทุนกับกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นๆแทนนะครับ

(5) ต้องระวังเรื่องขนาดของสินทรัพย์  – การลงทุนในกองทุนรวม ขนาดสินทรัพย์เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา เพราะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานของกองทุนโดยตรง แต่การจะฟันธงว่าจำนวนเท่าใดถือเป็นกองทุนที่มีขนาดเล็กหรือใหญ่เกินไปนั้น เป็นเรื่องที่ยากในการพิจารณาพอสมควร
หลักคร่าวๆในการพิจารณา กองทุนที่มีขนาดสินทรัพย์น้อยกว่า 100 ล้านบาท ถือว่ามีขนาดเล็กเกินไป เพราะเมื่อดูตัวเลขค่าใช้จ่ายต่างๆของกองทุนแล้ว เราจะพบว่าไม่เกินการประหยัดในเรื่องขนาดของกองทุน (Economics of Scales) หรือเรียกอีกนัยหนึ่งก็คือ ค่าใช้จ่ายมีจำนวนสูงเมื่อเทียบออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้ากองทุนมีขนาดสินทรัพย์ใหญ่กว่า 15,000 ล้านบาท จะถือว่าใหญ่เกินไปเมื่อเทียบกับขนาดของตลาดการเงินไทย ดังนั้นในมุมนี้ อย่าลืมพิจารณาด้วยนะ ตัวอย่างการลงทุนกองทุนของกองทุนที่มีขนาดกองทุนใหญ่เกินไป ก็อย่างเช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นพวก Money Market Fund บางกอง ที่มีขนาดใหญ่มากๆ ด้วยความที่ต้องหาของเข้าพอร์ตไว้ลงทุนให้หมด ก็บีบให้ ผู้จัดการกองทุนเหล่านี้ ต้องลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำๆ ซึ่งทำให้ผลตอบแทนต่ำตามไปด้วย หรือไม่ก็ ต้องไปลงทุนในตราหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า ทำให้ความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมสูงขึ้นด้วยครับ

(6) สไตล์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนด้วย – นักลงทุนส่วนใหญ่พอได้ศึกษาข้อมูลต่างๆเพื่อตัดสินใจลงทุนในกองทุนรวม จะพบว่าหน้าตาของกองทุนก็ดูเหมือนๆกันไปหมด คือ ต่างบริหารภายใต้กฏระเบียบที่คล้ายกันไปหมด มีพอร์ตการลงทุนเหมือนๆกัน แต่ไม่ว่าภายนอกจะสามารถหลอกสายตาเราได้อย่างไร แต่ก็ยังไม่บางจุดที่เรายังมองไม่เห็น คือ สไตล์การลงทุนของผู้จัดการกองทุน
บาง คนเก่งในเรื่องประเมิณมูลค่า บางคนเก่งในเรื่องตัวเลขการทำกำไรมาก ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะช่วยวิเคราะห์สไตล์การลงทุนของผู้จัดการก็คือ ดูที่เครื่องมือวัดความเสี่ยงต่างๆตามนี้ครับ

BETA เป็นเครื่องมือวัดความเสี่ยงตัวหนึ่งที่จะบอกว่ามูลค่ากองทุนได้เคลื่อนไหว ไปในทิศทางเดียวกันหรือตรงกันข้ามกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) โดยดัชนี้ตลาดหลักทรัพย์จะมีค่า BETA เท่ากับ 1
ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) จะบอกถึงการแกว่งตัวหรือความผันผวนด้านผลตอบแทนของกองทุนเมื่อเทียบกับ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้
ถ้ามีค่ามาก แสดงว่ากองทุนนี้มีความผันผวนสูง โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนผิดไปจากที่ตั้งเป้าหมายไว้ก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
Sharpe Ratio อัตราส่วนผลตอบแทนการลงทุนเมื่อเปรียบเทียบความเสี่ยง ยิ่งกองทุนไหนให้ค่า Sharpe Ratio มากกว่ากองทุนอีกกองที่มีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน ก็แสดงว่า บริหารกองทุนได้มีประสิทธิภาพมากกว่า

เครื่องมือวัดความเสี่ยงทั้ง 3 แบบนี้ ท่านสามารถสอบถามได้จากเจ้าหน้าที่ของ บลจ. นั้นๆได้เลยครับ

(7) ใครดูแลเงินคุณ คุณต้องรู้ – สิ่งสำคัญของหัวข้อนี้ก็คือ เราจะมอบความไว้วางใจให้กับใครคนหนึ่งมาบริหารเงินที่เราหามาได้ด้วยความยากลำบากได้อย่างไร ยังไงซะเราก็ควรต้องทราบพื้นเพของผู้จัดการกองทุนกันซักหน่อย ไม่ว่าจะเป็นบุรุษ หรือ สตรี แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทจัดการจำนวนมากก็ใช้ระบบตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการการเงินของท่าน แทนที่จะใช้ระบบ One man Show

แต่ ถึงจะบริหารด้วยวิธีใด ผู้จัดการกองทุนทุกคนต้องได้ใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนจาก ก.ล.ต. และต้องมีระบุชัดเจนว่าใครเป็นผู้จัดการกองทุนไหนด้วยครับ ข้อพิจารณาอีกข้อหนึ่งนอกจากประวัติการทำงานย้อนหลังแล้วก็คือ ใบอนุญาต CFA หรือ นักวิเคราะห์ทางการเงินระดับสูง ซึ่งผู้จัดการกองทุนที่มีใบอนุญาตนี้จะมีความรู้ความชำนาญที่มีการยอมรับ มากกว่าผู้ที่ไม่มีอนุญาต

หากพิจารณาครบทั้ง 7 มุมแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับสภาวะการลงทุนแล้วครับ ว่าเอื้อต่อการงอกเงยของเงินในบัญชีเรารึเปล่า แต่ผมเชื่อว่า นักลงทุนในกองทุนรวมที่รักษาวินัยการลงทุนได้อย่างเคร่งครัด ยังไงเสีย ก็ต้องบรรลุเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน

โชคดีในการลงทุนครับ

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
คุณ ชยนนท์ รักกาญจนันท์ รู้จักกันในนามแฝงในเว็บบอร์ดพันทิพย์ ห้องสินธร ว่า “Mr.Messenger” ได้แลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการลงทุนทั้งในหุ้น และกองทุนรวมมาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันเป็น Strategy and Portfolio Performance Section Head ของฝ่ายธนบดี ธนาคารกรุงศรี
Posts created 16

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top