กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) น่าสนใจหรือไม่?

แชร์บทความนี้

 

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) น่าสนใจหรือไม่?

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนดีและไม่ผันผวนเป็นเรื่องยาก สิ่งที่ผมทำในสถานการณ์เช่นนี้คือ บริหารและแบ่งสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง ซึ่งการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเป็นอีกทางเลือกที่ผมมักจะลงทุนในภาวะผันผวนเช่นนี้ ข้อดีของการลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานคือ ได้ลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์สาธารณะในวงกว้างของประเทศไทย โดยกิจการโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นกิจการที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชน และเป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ อาทิเช่น ระบบโทรคมนาคม ระบบขนส่ง ถนน ทางพิเศษ หรือทางสัมปทาน เป็นต้น อีกทั้งกิจการเหล่านี้ยังจะสามารถสร้างรายได้ให้กับนักลงทุนได้อย่างสม่ำเสมออีกด้วย

 

ยิ่งในระยะหลัง เขตเมืองขยายตัวต่อเนื่อง เม็ดเงินลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชนขยายตัว จำนวนคนและการเดินทางต้องสูงขึ้นเป็นธรรมดา แต่ปัญหาที่จะตามมาคือ ปัญหารถติด ต้องเสียเวลาในการเดินทางมากขึ้น หลายคนรวมถึงผมจึงหันมาเลือกใช้ทางด่วนหรือทางพิเศษในการเดินทางในแต่ละวัน

 

วันนี้ ผมขอพามารู้จักกับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund (TFFIF) ภายใต้การจัดการของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด  (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายหน่วยลงทุนประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

 

โดยกองทุน TFFIF จะเข้าลงทุนครั้งแรกในสิทธิในการรับร้อยละ 45 ของรายได้ค่าผ่านทางรวมสุทธิที่จัดเก็บได้จากทางพิเศษ 2 สายทางของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระยะทางรวม 83.2 กิโลเมตร เป็นเวลา 30 ปีนับจากวันแรกที่กองทุนมีสิทธิในรายได้ที่โอนตามสัญญาโอนและรับโอนสิทธิในรายได้ซึ่ง กทพ. จะยังเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และทำหน้าที่ในการบริหารจัดการตามปกติเช่นเดิม โดยทางพิเศษที่กองทุนเข้าลงทุนในสิทธิในการรับรายได้ ประกอบด้วย

  1. ทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์ และรามอินทรา-วงแหวนรอบนอก) ระยะทาง 28.2 กิโลเมตร เชื่อมต่อพื้นที่ตอนเหนือกับพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ตัดผ่านย่านสำคัญในกรุงเทพฯ เช่น ลาดพร้าว พระราม 9
  2. ทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) ระยะทาง 55.0 กิโลเมตร เส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองด้านตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ กับจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีเส้นทางเชื่อมเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิโดยตรง

นอกจากเรื่องของรายได้ที่สม่ำเสมออันเป็นจุดเด่นของกิจการโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ทางพิเศษทั้งสองสายนี้ยังทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งหากมองภาพรวมทั้งด้านการอยู่อาศัย การท่องเที่ยว คมนาคม รวมถึงอุตสาหกรรมแล้ว พื้นที่เหล่านี้ยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอนาคต ซึ่งดูน่าสนใจใช่ไหมครับ

 

แล้วแนวโน้มการเติบโตเป็นอย่างไร?

ปัจจัยที่จะทำให้รายได้ค่าผ่านทางขยายตัวหลักๆ แล้ว คือปริมาณการจราจรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ

 

ปัจจัยแรกก็เริ่มตั้งแต่ราคาที่ดินและที่พักอาศัยในเขตพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ที่เราๆ ท่านๆ ต่างทราบกันดีว่าราคาสูงลิบลิ่ว จนคนจำนวนมากเลือกย้ายออกไปพักอาศัยย่านชานเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ซึ่งราคาที่พักอาศัยยังไม่แพงจนเกินไป ทำให้ต้องเดินทางไปกลับระหว่างที่พักกับที่ทำงาน

 

รวมถึงการเพิ่มขึ้นของจำนวนยานพาหนะก็น่าสนใจครับ ตั้งแต่ปี 2554-2560 การครอบครองยานพาหนะในกรุงเทพฯ ขยายตัวเฉลี่ย 6.1% ต่อปี (จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก) รวมไปถึงจำนวนประชากรในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นทางของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.7% ต่อปี (จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)

มาดูปัจจัยด้านรายได้กันบ้างครับ พบว่าช่วงปี 2554-2560 ผู้มีงานทำในจังหวัดที่อยู่ในเส้นทางของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีเติบโตเฉลี่ย 5.9% ต่อปี  (จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) และช่วงตั้งแต่ปี 2554-2559 ตัวเลข GPP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัดในเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ในเส้นทางของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีเติบโตเฉลี่ยประมาณ 4.4% ต่อปี มากกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของ GDP ของประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.5% ต่อปี ในช่วงเวลาเดียวกัน (จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) เรื่องความมั่งคั่งในพื้นที่เหล่านี้จึงเรียกได้ว่าหายห่วงครับ

มากไปกว่านั้น โครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ “ไทยแลนด์ 4.0” ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ Eastern Seaboard ซึ่งจะดึงดูดนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศเข้ามาลงทุน ทำให้เกิดโรงงานใหม่จำนวนมากในจังหวัดภาคตะวันออก โดยเฉพาะชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ทำให้มีคนทำงานเดินทางเข้าสู่พื้นที่มากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนส่วนต่อขยายสนามบินสุวรรณภูมิที่จะรองรับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวมากขึ้น และส่งผลให้ปริมาณการเดินทางในบริเวณรอบๆ เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

จากปัจจัยทั้งหมดที่ได้กล่าวมา ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และภาคตะวันออก ทั้งด้านจำนวนประชากร ความมั่งคั่ง และกิจกรรมด้านอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ที่เดินทางส่วนใหญ่มีโอกาสเลือกใช้ทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัดบนท้องถนนและลดเวลาเดินทาง แม้จะต้องเสียค่าผ่านทางก็ตาม

 

โครงการขยายเส้นทางในอนาคตยังมีอย่างต่อเนื่อง

เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม กทพ. จึงมีโครงการขยายทางพิเศษ โดยจะใช้เงินทุนที่ได้จากการโอนสิทธิในรายได้ดังที่กล่าวไปข้างต้นไปพัฒนาทางพิเศษ 2 สายทาง ได้แก่ โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก และโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออกและส่วนต่อขยายทดแทน ตอน N1 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565 และ 2566 ตามลำดับ โดยหากแล้วเสร็จคาดว่าจะเป็นผลดีต่อปริมาณการจราจรบนทางพิเศษบูรพาวิถีและทางพิเศษฉลองรัช นอกจากนั้น ยังมีอีก 2 โครงการที่อยู่ในขั้นตอนรอการอนุมัติซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อปริมาณการจราจรของทางพิเศษฉลองรัชและทางพิเศษบูรพาวิถีโดยตรง นั่นคือ โครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษสายบางนา – อาจณรงค์ (S1) – ท่าเรือกรุงเทพ และโครงการทางเชื่อมต่อทางพิเศษบูรพาวิถี-ถนนเลี่ยงเมืองชลบุรี

 

การเสนอขายครั้งแรกใกล้เข้ามาแล้ว รายละเอียดเป็นอย่างไร

สำหรับนักลงทุนทั่วไป TFFIF ใช้วิธีการจองซื้อแบบ Small Lot First โดยจะมีกระทรวงการคลังถือหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 10% ของจำนวนหน่วยลงทุนหลังการเพิ่มทุนทั้งหมด เป็นระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่เริ่มซื้อขายครั้งแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

ส่วนเรื่องการบริหารจัดการผลประโยชน์ก็มีการควบคุมเป็นอย่างดี โดยหากกองทุนมีการลงทุนหรือการได้มาซึ่งทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานใดๆ ด้วยมูลค่ามากกว่า 100 ล้านบาท หรือตั้งแต่ 30% ขึ้นไปของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุน ต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนด เช่น ข้อกำหนดการสอบทานธุรกิจ (Due Diligence) และต้องได้รับมติอนุมัติของผู้ถือหน่วยลงทุนอีกด้วย

 

สำหรับผลตอบแทนที่นักลงทุนจะได้รับจากการลงทุนใน TFFIF หลักๆ คือเงินปันผล โดยกองทุนมีนโยบายจะจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่า 90% ของกำไรสุทธิที่ปรับปรุงแล้ว ซึ่งมาจากส่วนแบ่งรายได้จากทางพิเศษทั้ง 2 สายทางนั่นเอง ส่วนในระยะยาว นักลงทุนยังมีโอกาสได้รับกำไร (Capital Gain) คล้ายกับการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

 

หากท่านเป็นนักลงทุนที่ชอบการลงทุนที่มั่นคง เน้นกระจายความเสี่ยง และลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน มีโอกาสได้รับเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ และยังได้ประโยชน์จากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ต้องไม่พลาดการลงทุนใน Thailand Future Fund (TFFIF) ด้วยประการทั้งปวงครับ

 

Facebook Comments

แชร์บทความนี้
เจษฎา สุขทิศ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FINNOMENA & นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย คุณเจษฎา เคยปฏิบัติงานในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และเคยร่วมงานเป็นผู้จัดการกองทุนกับกลุ่ม เจพี มอร์แกน, ไทยพาณิชย์ และยูโอบี นอกจากนี้ ในปัจจุบัน คุณเจษฎา รับหน้าที่เป็นวิทยากรด้านการเงิน และฟินเทค ให้กับภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ คุณเจษฎา เคยได้รับรางวัลนักเศรษฐศาสตร์ดาวรุ่งจากสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์, รางวัล Most Astute Investor จากนิตยสาร The Asset และรางวัล Morningstar Fund Award
Posts created 106

Related Posts

Begin typing your search term above and press enter to search. Press ESC to cancel.

Back To Top