ไฮไลท์จากงาน FSS – Vietnam Opportunity Day
ตลาดหุ้นเวียดนามเป็นที่นิยมของนักลงทุนไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะแนวโน้มการเติบโตเศรษฐกิจที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคน่าจะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีผลตอบแทนเฉลี่ยสูงกว่าประเทศไทยในระยะยาว ทำให้นักลงทุนไทยทั้ง VI และกองทุนต่างเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามอย่างต่อเนื่อง
บ่อยครั้งที่ผมจะเห็นการจัดทริปเยี่ยมชมกิจการที่นักลงทุนไทยบ้าง กองทุนบ้างจะไปทัวร์เยี่ยมชมบริษัทจดทะเบียนของประเทศเวียดนามกันในรอบ 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ล่าสุดทาง บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) ได้ทำให้การพบปะบริษัทเวียดนามง่ายขึ้น โดยจัดงาน Vietnam Opportunity Day ขึ้นในบ้านเรา วันนี้ผมจะขอมาสรุปเนื้อหาของงานที่น่าสนใจให้ทราบกันครับ
รูปที่ 1 ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนาม VNI Index | ที่มา Bisnews
ไปดูที่ดัชนีหุ้นเวียดนามกันก่อนเลย นิยามสั้น ๆ ว่า High Risk / High Return อย่างแท้จริง นับแต่ปี 2013 ดัชนีได้ปรับขึ้นถึง 3 เท่าตัว ขณะที่ในปีนี้เมื่อตลาดมีการปรับฐานก็ปรับฐานได้แรงถึง 25% ซึ่งนี่เป็นลักษณะของตลาดชายขอบ (Frontier Market) ที่ผันผวนสูงกว่าตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market)
อย่างไรก็ตามความผันผวนที่มากกว่าก็มากับโอกาสรับผลตอบแทนที่มากกว่าเช่นกัน สำหรับท่านที่จะลงทุนในเวียดนามผมมักจะแนะนำให้ลงทุนระยะยาวมาก ๆ 5 – 10 ปีขึ้นไป เพราะระยะเวลาการลงทุนที่ยาวขึ้นนี้เองจะเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงการลงทุนได้ดี และทำให้เรามีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากตลาดที่มีการเติบโตมาก ๆ
รูปที่ 2 ปริมาณการซื้อขายตลาดหุ้นเวียดนามในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา | ที่มา VNDIRECT
พัฒนาการที่เห็นได้ชัดของตลาดหุ้นเวียดนามในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาคือการที่ตลาดหุ้นเวียดนามมีความลึกมากขึ้น จะสะท้อนมูลค่าการซื้อขายของนักลงทุนต่อวันที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 2 ล้านล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 2.8 พันล้านบาท) ซึ่งจัดว่าต่ำมาก เพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ 9 ล้านล้านเวียดนามดอง (ประมาณ 12.8 พันล้านบาท) ในปัจจุบัน การเพิ่มขึ้นของมูลค่าซื้อขายส่วนหนึ่งจะช่วยให้ความผันผวนของตลาดหุ้นลดลง
ทำความรู้จักกับบริษัทที่มา roadshow ในงาน FSS Vietnam Opportunity Day กันบ้าง
1. Hoa Phat Group (HPG)
เป็นกลุ่ม Holding ที่ติดอันดับ TOP 50 บริษัทจดทะเบียนที่ใหญ่ที่สุดในเวียดนามมีธุรกิจหลักคือ การผลิตและแปรรูปเหล็กได้แก่
เหล็กก่อสร้าง กำลังการผลิต 2 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตเป็น 4 ล้านตันต่อปี, ท่อเหล็ก กำลังการผลิต 7 แสนตันต่อปี, และแผ่นเหล็ก กำลังการผลิต 4 แสนตันต่อปี
ทั้งนี้ในภาพรวมที่เวียดนามมีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม และโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตลาดเหล็กแปรรูปเหล่านี้มีการขยายตัวประมาณ 10% ต่อปี ที่สำคัญคือ HPG เป็นเพียงไม่กี่บริษัทในผู้ผลิตเหล็กกล้าของเวียดนามที่สามารถผลิตแร่เหล็กได้เอง ทำให้ได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการผลิตในกรณีที่ราคาเหล็กในตลาดโลกแพง แต่หากราคาเหล็กในตลาดโลกถูกลง HPG การสามารถนำเข้าแร่เหล็กมาผลิตได้เช่นกัน
ด้วยความได้เปรียบจากขนาด (Economy of Scale) รวมถึงการที่ผลิตแร่เหล็กได้ด้วยตัวเอง จึงทำให้ HPG มีแนวโน้มเติบโตทั้งยอดขาย และ Market Share ในตลาดเหล็กเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด HPG มี Market Share เติบโตขึ้นเท่าตัวจาก 12% ปี 2010 ขึ้นมาจนเกือบจะเป็น 25% ในปัจจุบัน
2. VINGROUP Joint Stock Company
VINGROUP เป็นบริษัทค้าปลีกผู้นำของประเทศเวียดนาม เจ้าของคือ ฝ่าม เหญิต เหวื่อง (Pham Nhat Vuong) มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มผลประโยชน์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม และสถานบริการด้านสุขภาพ นอกจากนี้ยังกำลังเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์อีกด้วย (ล่าสุดทาง GM ขายธุรกิจให้กับกลุ่ม VINGROUP เป็นที่เรียบร้อยแล้ว)
ธุรกิจหลักที่สำคัญของ VINGROUP จะมี Business Model คล้าย ๆ กับ CPN บ้านเรา ที่สำคัญคือ VINGROUP เป็นเจ้าของส่วนแบ่งการตลาดในส่วนของห้างสรรพสินค้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของประเทศเวียดนามและตลาดยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก โดยจากปลายปี 2017 Vincom Retail เป็นเจ้าของห้างอยู่ประมาณ 40 ห้าง และบริษัทเองมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนห้างเป็นถึง 200 ห้างในปี 2021 !
บนจำนวนประชากรประมาณเกือบ 100 ล้านคนของเวียดนาม และการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้หุ้นค้าปลีกของเวียดนามเป็นอีกกลุ่มหลักทรัพย์หนึ่งที่นักลงทุนให้ความสนใจกันมาก ๆสะท้อนมาที่ผลประกอบการของบริษัทที่มีรายได้เติบโตเฉลี่ยถึงกว่า 44% ต่อปี ซึ่งอยู่ในระดับสูงมาก ซึ่งถ้ามาเทียบกับตลาดหุ้นบ้านเราแล้วหาได้ยากสำหรับหุ้นขนาดใหญ่ที่จะมีรายได้เติบโตได้ขนาดนี้
3. Century Land Joint Stock Company (“CENLAND”)
CENLAND เป็นอีกบริษัทที่มีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ โดยธุรกิจหลักคือเป็นนายหน้าซื้อขายอสังหาฯ ในเวียดนาม โดยมีจำนวนนายหน้ามากถึง 2,745 คน ผ่านระบบแบบดั้งเดิมคือ Real Estate Supermarket system และล่าสุดมีการพัฒนาระบบการซื้อขายอสังหาฯ ออนไลน์อีกด้วย
บริษัทนี้จัดเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจ โดย CENLAND เป็นเหมือนตัวกลางระหว่าง Developer กับลูกค้าที่ทำการซื้อขายอสังหาฯ นั่นเองคล้าย ๆ กับ CBRE ของบ้านเรา แต่ที่สำคัญคือการใช้แนวคิด Real Estate Supermarket ของ CENLAND ได้สร้างให้เกิดพฤติกรรมที่คนเวียดนามจำนวนมากเวลาจะซื้อขายอสังหาฯ จะทำการซื้อขายผ่านตัวกลาง เพราะสามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ของหลาย ๆ แห่งได้ ต่างกับบ้านเราที่ผู้บริโภคมักจะซื้อขายอสังหาฯ โดยตรงจาก Developer
ด้วยโมเดลธุรกิจที่ดี และการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องทำให้ CENLAND เป็นอีกบริษัททีทั้งรายได้และกำไรเติบโตสูงมากใน 3 – 4 ปีที่ผ่านมาโดยมีรายได้เติบโตเฉลี่ยถึง 172% ต่อปี และมีกำไรที่เติบโตเฉลี่ย 179% ต่อปี โดยบริษัทเป็นเจ้าของส่วนแบ่งตลาด > 40% ของตลาดนายหน้าซื้อขายอสังหาฯ ในเวียดนาม
ทั้งหมดก็เป็นการสรุปไฮไลท์ที่น่าสนใจจากงาน FSS – Vietnam Opportunity Day ที่นำมาฝากกันในวันนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามเหมาะที่จะกระจายเงินลงทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนระยะยาวถึงยาวมาก ด้วยความน่าสนใจคือ Growth หรือการเติบโตของทั้งเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน อีกทั้งตลาดทุนที่มีแนวโน้มพัฒนาขึ้น มีผู้เล่นมากขึ้น มีปริมาณการซื้อขายมากขึ้นน่าจะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามเติบโตจากตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) ไปสู่การเป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ได้ในอนาคต
อย่างไรก็ตามก็ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่าตลาดหุ้นเวียดนามเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูง และสูงกว่า SET บ้านเราพอสมควร ท่านนักลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้ดี และหาที่ปรึกษาการลงทุนที่ดี จึงจะทำให้ท่านประสบความสำเร็จจากการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามครับ
แหล่งที่มา : YouTube : FSSGLOBAL
https://www.youtube.com/channel/UCn5iZC3ounLjlWjKtF6f_iw/videos?view_as=subscriber
สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ 02-625-2479 ถึง 82
หรือ Email: fm@fnsyrus.com
Website: https://www.fnsyrus.com/th/services/overseas-investment/
FundTalk รายงาน